เลขาธิการ ACT พ้อ ผู้สมัครผู้ว่า กทม. ขายฝัน มองข้ามคอร์รัปชันที่คนกรุงเผชิญ
เลขาธิการ ACT บ่นเหนื่อยใจ นโยบาย ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. ส่วนใหญ่หาเสียงเน้นการขายฝัน มองข้ามคอร์รัปชัน 4 ประเภท ที่คนกรุงต้องเผชิญ
18 เม.ย.2565 ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT โพสต์เฟซบุ๊ก Mana Nimitmongkol หัวข้อเรื่อง กทม. ไม่ปราบคอร์รัปชันแล้วจะพัฒนาได้อย่างไร? โดยมีเนื้อหา ดังนี้
เหนื่อยใจที่เห็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร พูดแต่เรื่องความสุขสบายอยู่ดีกินดี ถึงวันนี้มีผู้สมัครฯ เพียงสองท่านที่เข้าใจปัญหา กล้าประกาศนโยบายว่า หากตนได้เป็นผู้ว่าฯ แล้วจะแก้ปัญหาคอร์รัปชันของมหานครแห่งนี้อย่างไร
คอร์รัปชันใน กทม. ไม่ต่างจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วไป แต่หนักและซับซ้อนกว่าเพราะที่นี่มีงบประมาณมากถึง 8 หมื่นล้านบาทต่อปี มีผลประโยชน์จากการให้เอกชนเช่าที่ดิน - ทรัพย์สิน และให้สัมปทานจำนวนมาก ที่สำคัญยังมีอำนาจในการออกใบอนุญาตอนุมัติหลายร้อยเรื่อง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดคอร์รัปชันทั้งในส่วนกลางและสำนักงานเขต จากฝีมือของนักการเมืองและข้าราชการจำนวนมากตั้งแต่ระดับบริหารไล่ลงไปจนระดับปฏิบัติการ
สิ่งที่คน กทม. ต้องการ
ACT ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนพบว่า วันนี้ กทม. จำเป็นต้องได้รับการบริหารจัดการที่ดีโดยมืออาชีพ เพื่อให้เกิดการบริการ การดูแลและการพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้อง มีคุณภาพ กล่าวคือ
ความปลอดภัย คือ ทางเท้าปลอดภัย สัญญาณไฟเพื่อข้ามถนนปลอดภัย มั่นใจเมื่อใช้บริการสถานที่สาธารณะจากอัคคีภัย โจรกรรม ปลอดภัยจากป้ายโฆษณาเถื่อนที่เกะกะ น่าอันตราย
คุณภาพชีวิต คือ การเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนที่ดี สวนสาธารณะ โรงพยาบาลและการดูแลด้านอนามัยชุมชนและแหล่งบริการ ไฟแสงสว่างตามทางสาธารณะ แก้ปัญหาน้ำเน่า - น้ำท่วม
ความถูกต้อง สะดวกสบาย
คือเมื่อประชาชนไปใช้บริการ ต้องได้รับบริการโดยเท่าเทียมกัน สะดวกรวดเร็ว ไม่เรียกร้องสินบนเงินใต้โต๊ะ ไม่สร้างภาระ จนประชาชนเสียโอกาสทำมาหาเลี้ยงชีพ
แต่ในชีวิตจริง ชาว กทม. ยังต้องอดทนกับสภาพรถติด รถเมล์แย่ ทางเท้าพังและถูกรุกล้ำ ปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ รถไฟฟ้าค่าโดยสารแพงและมีจำนวนน้อยในช่วงเร่งด่วน ประชาชนคนค้าขายถูกรีดไถ การพัฒนา กทม. ไปต่อไม่ได้ คุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของประชาชนแย่ลง เพราะงบประมาณถูกใช้อย่างไม่คุ้มค่าและสูญเสียไปจำนวนมากจากคอร์รัปชัน เจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมากใช้เวลาและศักยภาพของหน่วยงานไปกับการหาผลประโยชน์เพื่อตัวเองและส่งส่วยให้เจ้านาย
คอร์รัปชัน 4 ประเภท ที่คน กทม. ต้องเผชิญ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรได้
1. รีดไถประชาชน พ่อค้าแม่ค้า นักธุรกิจ เช่น รีดไถค่าออกใบอนุญาตอนุมัติในการสร้างและต่อเติมบ้าน - อาคาร – ร้านค้า - อาคารพาณิชย์ - หมู่บ้านจัดสรร - คอนโด
2. เรียกรับส่วยสินบนจากผู้ประกอบการแลกกับการทำผิดหรือจ่ายภาษีเข้ารัฐน้อยลง เช่น เรียกเงินใต้โต๊ะจากคนค้าขายแลกกับการจ่ายภาษีป้าย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่ำกว่าเป็นจริง
3. โกงเงินหลวงในการจัดซื้อจัดจ้างและการให้สิทธิ์ สัมปทานแก่เอกชน เช่น คดีรถและเรือดับเพลิง กรณีอุโมงค์ไฟลานคนเมือง 39 ล้านบาท กรณีอื้อฉาว เช่น สัมปทานรถไฟฟ้า ค่าดูแลสวนสาธารณะ การจัดอีเว้นท์โดยส่วนกลางหรือสำนักงานเขต
4. ใช้อำนาจในทางมิชอบ เช่น กรณีปล่อยให้มีตลาดนัดเถื่อน เช่น กรณีป้าทุบรถที่เขตสวนหลวง คดีลักลอบทิ้งขยะที่ศูนย์กำจัดขยะหนองแขม กรณีปล่อยให้เอกชนสร้างคอนโดหรูแต่เปิดใช้ไม่ได้ ที่ซอยอโศกและซอยร่วมฤดี
ตัวอย่างการใช้งบประมาณที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดคอร์รัปชันของ กทม. ในช่วงปี พ.ศ. 2558 – 2564
1.หน่วยงานที่มีการจัดซื้อฯ มากที่สุด 3 อันดับ คือ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการระบายน้ำ และสำนักการโยธา สำนักงานเขตที่จัดซื้อฯ มากที่สุด 3 อันดับคือ เขตคลองสามวา เขตหนองจอก และเขตมีนบุรี
2.มีการจัดซื้ออาหารเสริม นม อาหารเด็กนักเรียน 444 โครงการ 1.7 หมื่นล้านบาท ตัวเลขนี้ไม่รวมการจัดซื้อเองของโรงเรียนในสังกัดทั้ง 437 แห่ง
3.มีการลงทุนสร้างตลาดน้ำ 14 แห่งตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมา ไม่รู้ว่าหมดเงินไปเท่าไหร่ แต่ทุกวันนี้เห็นเพียงที่คลองโอ่งอ่างและคลองผดุงกรุงเกษมที่เปิดดำเนินการอยู่
4.โครงการปรับปรุงคลองช่องนนทรี ที่ประกาศจะทำให้ทำให้น้ำคลองสะอาดและภูมิทัศน์สวยงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนเหมือนในเกาหลี แต่ทำจริงกลับมีแค่การใช้งบจำนวนมากเพื่อปรับปรุงทางเท้าโดยรอบ ไม่ปรากฏว่าได้ทำอะไรให้น้ำคลองหายเหม็น
5.การปรับปรุงสวนลุมพินี พื้นที่ 360 ไร่ ใช้งบประมาณ 1.7 พันล้านบาท งบราวครึ่งหนึ่งถูกใช้เป็นค่าสิ่งก่อสร้าง เช่น อาคารจอดรถขนาดใหญ่ อีกครึ่งเป็นค่าต้นไม้และสวน
6.สำนักการโยธาฯ ซื้อยางมะตอยเพื่อซ่อมผิวถนนราวปีละ 170 – 190 ล้านบาท ข้อมูลจากระบบ ACT ai ชี้ว่าคู่สัญญาบางรายน่าจะเป็นเพียงนายหน้า เพราะขาดคุณสมบัติเป็นผู้ผลิตหรือให้บริการด้านนี้ได้ เช่น ไม่มีโรงงาน ไม่มีสายการผลิตหรือแปรรูป โกดัง เครื่องจักรหนัก ฯลฯ
7.การจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ของโรงพยาบาล 11 แห่งและศูนย์บริการสาธารณะสุข 69 แห่ง ของ กทม. มักจัดซื้อเป็นรายการย่อยที่มูลค่ารวมต่อครั้งไม่สูงมาก จึงน่าแปลกใจว่าทำไมไม่ซื้อคราวละหลายรายการเพื่อให้ได้ราคาถูก
8.มีการเช่ารถขนขยะแบบผูกขาดต่อเนื่องนับสิบปี จากเอกชนที่เป็นนักการเมืองใหญ่
9.มีการจัดซื้อเครื่องดนตรีราคาแพงมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท แจกจ่ายไปตามโรงเรียนแต่ขาดครูดนตรีเฉพาะทาง หลังจากนั้นก็ขายออกเป็นของใช้แล้วในราคาถูกมาก เช่น เปียโน
10.สองเมกกะโปรเจคอื้อฉาว จากความไม่โปร่งใส ปิดกั้นการตรวจสอบจากภาคประชาชนตาม พ.ร.บ. จัดซื้อฯ คือ โครงการลงทุนโรงกำจัดขยะและผลิตไฟฟ้าที่อ่อนนุช มูลค่า 1,046 ล้านบาท และที่หนองแขม มูลค่า 6,712 ล้านบาท (ยังไม่รวมรายได้จากค่ากระแสไฟฟ้าที่เกิดจากการเผาขยะ) เพราะจงใจถอนตัวจากข้อตกลงคุณธรรม ตาม พ.ร.บ. จัดซื้อฯ ในเดือนตุลาคม 2563
11.งบประมาณหลายพันล้านบาทในแต่ละปี ถูกใช้เป็นค่าทำความสะอาดลอกท่อระบายน้ำและสร้างโครงข่ายระบบระบายน้ำนับพันรายการ แต่คน กทม. ต้องทนอยู่กับน้ำเน่า น้ำท่วมตลอดมา แม้ช่วงการระบาดโควิด งบด้านนี้ก็ยังคงมีการใช้จ่ายจำนวนมากเช่นเดิม อนึ่ง การขุดลอกท่อระบายน้ำปัจจุบันเลิกจ้างกรมราชทัณฑ์และองค์การทหารผ่านศึกหันมาจ้างเอกชนทำแทน
12.โครงการอีกมากที่ตรวจสอบข้อมูลได้ยาก เช่น การจัดอีเว้นท์ในโอกาสต่างๆ, การจัดทำ/บูรณะ/ปรับปรุงป้ายรถเมล์, การจัดทำสัญญาณไฟเพื่อคนข้ามถนน มากกว่า 550 จุด แต่ปัจจุบันเหลือใช้งาน 266 จุด, โครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดใช้งบมากกว่า 2,500 ล้านบาทใน 106 โครงการ, การซ่อมบำรุงรถและเรือดับเพลิง, การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงราว 200 ล้านลิตรต่อปี, โครงการกำจัดฝุ่นละอองขนาดเล็กที่แถลงในปี 2562 ว่ามีการลงทุน 120 ล้านบาทเพื่อสร้างหอฟอกอากาศและจัดซื้อรถพ่นละอองน้ำ 6 คันๆ ละ 8 - 9 ล้านบาท นอกนั้นไม่ปรากฏเป็นข่าว
13. ปัญหาธรรมาภิบาลของ “กรุงเทพธนาคม” บริษัทลูกของ กทม. เช่น รถโดยสารด่วนพิเศษ บีอาร์ที ที่ขาดทุนสะสมราว 1.4 พันล้านบาทหรือกว่า 200 ล้านบาทต่อปี (2553 ถึง 2560), สัมปทานขุดท่อร้อยสายสัญญาณโทรคมนาคมลงใต้ดิน, การแต่งตั้งผู้บริหาร คณะกรรมการ เป็นต้น