จับตามองประเทศไทยหลังโควิด-19
จับตามองประเทศไทยหลังโควิด-19 ใครจะช่วยฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ-สถาบันการเงินและผู้บริโภคให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง? บทความโดย Pham Quang Minh ผู้จัดการทั่วไปของ Mambu ประเทศไทย
โควิด-19 ที่อุบัติขึ้นอีกระลอกหนึ่งได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยและผู้บริโภคทั้งในระดับมหภาคและจุลภาคอีกครั้ง และยังไม่มีผู้ใดยืนยันได้ว่าจะเป็นระลอกสุดท้ายหรือไม่ นับตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม จนถึงช่วงเวลาที่พี่น้องชาวไทยเดินทางกลับภูมิลำเนา รวมทั้งเดินทางท่องเที่ยวนอกประเทศ อันเนื่องมาจากการเริ่มผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศไทยของรัฐบาล และหลังเทศกาลสงกรานต์เพียงไม่นาน ประเทศไทยมียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 กว่า 30,000 ราย ส่งผลให้จำนวนยอดผู้ติดเชื้อรวมทั้งหมดนับตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด 19 สูงถึง 4.22 ล้านราย โดยมีผู้เสียชีวิตกว่า 28,800 ราย
จับตาเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โรคระบาดในประเทศไทย
จากสถิติโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงถึงร้อยละ 6 ในปี พ.ศ. 2563 และปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในปี พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นการช่วยฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศรวมทั้งสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายลง จากผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีมติให้คงนโยบายด้านการเงินในการช่วยเหลือประชาชนให้รับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจและผลกระทบที่ตามมา ด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี ถือเป็นอัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุดที่เคยมีในประวัติศาสตร์
ในปี พ.ศ. 2563 เมื่อครั้งที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดเป็นครั้งแรก ขณะนั้นประเทศมีการพึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในอัตราที่ค่อนข้างสูง โดยอยู่ที่ร้อยละ 12 ของจีดีพี โดยคิดเป็นอัตราการจ้างงานสูงถึงร้อยละ 20 ของการจ้างงานในทุกอุตสาหกรรม โดยคาดการณ์ว่าหลังสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายลง แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศบังคับใช้มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2563 ในการช่วยเหลือเยียวยาธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดในช่วง 2-3 ปีแรกแล้วก็ตาม ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ก็ยังคงต้องการความช่วยเหลือด้านสินเชื่ออย่างต่อเนื่องในการฟื้นตัวทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูเพิ่มเติม อันประกอบด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การวางแผนการฟื้นฟูหนี้ และการขยายระยะเวลาในการปล่อยวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ไม่เกิน 500 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
อีกหนึ่งนโยบายที่ภาครัฐตั้งเป้าในปี พ.ศ. 2565 คือ การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ข้อมูลล่าสุดจากกองยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาคเผยให้เห็นว่า หนี้ครัวเรือน ณ สิ้นปี 2564 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้นสูงถึง 9.644 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 59.6 ของ GDP แม้ว่าภาครัฐจะทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือประชากรในประเทศ ความช่วยเหลือเหล่านั้นอาจไม่เพียงพอ และประชากรบางส่วนอาจยังไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือเหล่านั้นได้ ในขณะที่ภาครัฐต้องรับมือกับปัญหาหนี้เสียที่เกิดขึ้นจำนวนมาก หลังสถานการณ์โรคระบาดจบลง ความต้องการในการใช้บริการสินเชื่อของประชาชนเองจะยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด โดยมีเทรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งการซื้อของออนไลน์ การทำงานจากที่บ้าน รวมถึงการใช้จ่ายออนไลน์ โดยรายงาน Digital 2021 Global Overview Report ระบุว่าในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยมีปริมาณการทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านโมบายแบงค์กิ้งมากที่สุดในโลก โดยเป็นปริมาณที่สูงขึ้นกว่าปี พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่โควิด-19 อุบัติขึ้นถึงร้อยละ 70 จากสัญญาณดังกล่าว ธุรกิจต่างๆ จึงจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ด้วยการให้บริการรูปแบบต่างๆ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ อาทิ บริการการเงินที่จุดขาย (Point of Sale Financing: POS) บริการซื้อก่อน จ่ายทีหลัง (Buy Now, Pay Later – BNPL) บริการให้กู้เงินด่วน และบริการเบิกเงินเดือนล่วงหน้า (Salary Advance)
การปรับพฤติกรรมและกลยุทธ์การให้บริการอาจเป็นทางรอดเพียงทางเดียวของคนไทยทั้งในฐานะผู้บริโภครวมไปถึงภาคธุรกิจ นี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ภาครัฐให้ความสำคัญกับการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) อันประกอบด้วยโครงสร้างพื้นฐานและบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการผลักดันให้ Digital Payment กลายเป็นทางเลือกหลักในการชำระเงินของประเทศ สถาบันทางการเงินและฟินเทคจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในระบบนิเวศนี้ โดยเฉพาะการช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending) และสร้างความหลากหลายของผู้ให้บริการสินเชื่อดิจิทัลให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
ปัจจุบันมีประชากรไทยจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อทางการเงินได้ เนื่องจากไม่มีแหล่งรายได้ที่แน่นอนหรือตรวจสอบได้ นอกจากนั้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาหลายคนถูกเลิกจ้าง จึงทำให้บางส่วนต้องหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด สถานการณ์เหล่านี้ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อระบบเศรษฐกิจทั้งประเทศ
ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนและลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน ถึงเวลาแล้วที่สถาบันทางการเงิน ฟินเทค รวมไปถึงผู้ค้าปลีกและองค์ต่างๆ ต้องพิจารณาการนำแพลตฟอร์มโมเดล Software-as-a-Service (SaaS) ระบบ Cloud สำหรับโซลูชันคลาวด์ที่มีความยืดหยุ่น ในการให้บริการด้านสินเชื่อที่หลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละราย ด้วยโมเดล Software-as-a-Service (SaaS) นี้ ผู้ให้บริการสินเชื่อจะสามารถให้บริการด้านสินเชื่อให้กับลูกค้าโดยไม่ต้องลงทุนสร้างระบบปฏิบัติการรวมถึงพัฒนาแพลตฟอร์มทั้งหมดด้วยตนเอง และอนุมัติสินเชื่อได้เพียงไม่กี่นาที นอกจากนั้น ยังสามารถเลือกใช้บริการแบบ "Pay as You Grow" หรือการชำระค่าบริการตามการเติบโตของธุรกิจได้อีกด้วย