”การทูตวิทยาศาสตร์”

”การทูตวิทยาศาสตร์”

สวทน. ส่งปฏิบัติการเชื่อมโลกด้วย ”การทูตวิทยาศาสตร์” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เร่งขับเคลื่อนแผนปฏิรูปวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) นำ“การทูตวิทยาศาสตร์” (Science Diplomacy) เชื่อมความสัมพันธ์กับต่างชาติ นำร่องประเทศอังกฤษ และเยอรมนี เน้นการแลกเปลี่ยนนวัตกรรมจากวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี โดย 2 ชาติยักษ์ใหญ่เตรียมงบลงทุน วทน.ในไทย



“การทูตวิทยาศาสตร์” (Science Diplomacy) มีความหมายครอบคลุมในหลายมิติของการมีปฏิสัมพันธ์กับต่างประเทศในด้าน วทน. เช่นการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือส่งเสริมความสัมพันธ์กับต่างประเทศ การสร้างความเข้าใจทางการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมผ่านความสัมพันธ์ทางการทูตวิทยาศาสตร์ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ วทน.ยังถือเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านกลไกความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์เพื่อให้ไทยสามารถนำเอาวิทยาศาสตร์ของต่างประเทศ มาประยุกต์ใช้ ทั้งในเชิงนโยบายและการนำไปปฏิบัติใช้


เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยได้เปิดตัวความร่วมมือระหว่างประเทศไทย และ สหราชอาณาจักร ภายใต้ “Newton UK – Thailand Research and Innovation Partnership Fund” เพื่อสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร โดยโครงการ Newton มีงบประมาณสนับสนุนราว 1000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปี กับประเทศในภูมิภาคต่างๆทั่วโลกรวม 15 ประเทศ ในด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและชีวภาพ (Health and life sciences), สิ่งแวดล้อมและพลังงาน (environment and energy), เมืองในอนาคต (Future cities), อุตสาหกรรมเกษตร (Agritech) และ นวัตกรรมด้านดิจิทัล (Digital)

โดยเน้นการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านการวิจัย การดำเนินโครงการวิจัยร่วม และการแปลงผลงานวิจัยสู่การสร้างนวัตกรรม โดยสหราชอาณาจักรและประเทศไทยเห็นชอบให้ริเริ่มสาขาความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและชีวภาพเป็นสาขาแรก โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรม

สวทน.ยังได้ขับเคลื่อน”การทูตวิทยาศาสตร์”ร่วมกับสหพันธ์สาธารรัฐเยอรมนี ได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ Thailand – Germany Science Diplomacy Program: Fostering Innovation in SMEs in Germany and Thailand กับสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการใช้วิทยาศศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยจัดการระดมความคิดเห็นร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ทั้งภาครัฐและเอกชนของทั้ง 2 ประเทศ

โดยเฉพาะการนำองค์ความรู้ในการพัฒนา SMEs ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงจากเยอรมนีมาแลกเปลี่ยนและประยุกต์ใช้ เช่นการสนับสนุนเงินงบประมาณจากรัฐบาลเยอรมนีเพื่อส่งเสริมงานวิจัยแก่บริษัทเปิดใหม่ การจัดการฝึกอบรมบุคลากรด้าน วทน. เป็นต้น 

การพัฒนา SMEs ถือเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมไม่ว่าจะเป็นระดับบุคคลหรือชุมชน เช่นการสร้างรายได้ การจ้างงาน การแก้ปัญหาความยากจน จนถึงระดับประเทศ เช่นการเพิ่มมูลค่า GDP หรือ มูลค่าการส่งออก เป็นต้น การพัฒนาและการประยุกต์ใช้นวัตกรรมจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นแนวทางในการพัฒนาการสร้างมูลค่าโดยตรงต่อธุรกิจ SME “การทูตวิทยาศาสตร์” จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการนำความรู้ งานวิจัยพัฒนา นวัตกรรมจนถึงทุนจากต่างประเทศ และยังเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่สำคัญเพื่อการพัฒนา SMEsไทย สู่ตลาดโลก

สวทน. อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การทูตวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของไทยร่วมกับต่างประเทศ เพื่อใช้ประโยชน์การทูตวิทยาศาสตร์ อย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การเชื่อมความสัมพันธ์กับนานาประเทศ ภายในปีนี้จะมีการขับเคลื่อนการทูตวิทยาศาสตร์ร่วมกับประเทศเบลเยี่ยม จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใด้ เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องแนวทางการปฏิรูปวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้จัดทำขึ้นในการนำประเทศไทยออกจากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ไปสู่ประเทศรายได้สูง และเพื่อเตรียมการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อีกด้วย