เสวนา “TPP VS ASEAN : จุดยืนไทย จุดยืนอาเซียน”
ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระดมความคิดเห็นของภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบต่อไทย
ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต : ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จัดการเสวนา “TPP VS ASEAN : จุดยืนไทย จุดยืนอาเซียน” เพื่อระดมความคิดเห็นของภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบต่อไทย จากกรณีการบรรลุความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจทรานส-แปซิฟิก หรือทีพีพี ของ 12 ประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิก
นางสาวเก็จพิรุณ เกาะสุวรรณ์ ผอ.สำนักอเมริกา แปซิฟิกและองค์การระหว่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันไทยทำมีข้อตกลงทางการค้าเสรี (FTA) กับประเทศสมาชิก TPP แล้ว 9 ประเทศ ยกเว้น สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์เบื้องต้นของกระทรวงฯ ผลกระทบที่สำคัญของ TPP ต่อไทยคือ ด้านการลงทุนที่อาจเกิดการย้ายฐานผลิตสินค้าปลายน้ำไปยังประเทศสมาชิกด้วย เช่น มาเลเซีย และเวียดนาม เนื่องจากการลดภาษีและกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (rules of origin) ที่เอื้อต่อประเทศสมาชิก TPP และอาจจะทำให้การส่งออกสินค้าต้นน้ำและกลางน้ำของไทยลดลง
ด้านการลงทุนอาจมีผลกระทบด้านจิตวิทยา และการย้ายฐานการผลิต เพราะนักลงทุนอาจต้องการย้ายไปในประเทศสมาชิก TPP เพื่อใช้ประโยชน์ด้านภาษีและแหล่งกำเนิดสินค้า แต่เชื่อว่าใน 1-2 ปีนี้ไทยจะยังได้รับผลกระทบไม่มากนัก ขณะเดียวกันในระหว่างนี้เราต้องขยาย FTA กับตลาดอื่นเพิ่มเติม และภาคธุรกิจเองก็ต้องมีการเตรียมตัววางแผนทั้งในแง่ที่ไทยจะเจรจาหรือไม่เจรจาเข้าร่วมกลุ่ม TPP ในอนาคต
ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โทรศัพท์ : 02-564-4444 ต่อ 1552 – 4
นส.เก็จพิรุณ กล่าวด้วยว่า จากที่ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาคเกษตร อาทิ กรมปศุสัตว์ พบว่ามีข้อกังวลหากไทยจะเข้าร่วมกลุ่ม TPP เพราะเกษตรกรไทยจะได้รับผลกระทบจากการเปิดตลาดสินค้าเกษตรอย่างเสรีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะประเทศสมาชิกต่างพยายามผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรของตนเองไปทำตลาดกับประเทศในกลุ่ม เช่น สหรัฐอเมริกาที่เป็นผู้นำด้านการผลิตทั้งหมูและไก่ ขณะที่สินค้าประเภทนมและผลิตภัณฑ์จากนมที่แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นเจ้าตลาดอยู่ ก็มีความพยายามทำตลาดสินค้าในประเทศต่างๆ
ด้าน รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ผอ.ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การตัดสินใจเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก เนื่องจากจะมีทั้งผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบที่ต้องไตร่ตรองให้ดี และมองว่าเรื่องนี้เป็นหนึ่งในเป้าหมายของสหรัฐฯที่จะรุกอาเซียน และเป็นวาระซ่อนเร้นของสหรัฐฯ เพราะที่ผ่านมาการร่วมกลุ่มของประเทศเอเชียตะวันออกอย่างเข้มแข็ง เป็นการท้ายทายอำนาจและการครองความเป็นเจ้าเศรษฐกิจของสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลกระทบในทางลบต่อผลประโยชน์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคงของสหรัฐฯในภูมิภาค จากการรวมตัวกันโดยไม่มีสหรัฐฯทำให้อิทธิพลลดลง จึงกลายเป็นยุทธศาสตร์ของสหรัฐ ในการฟื้นฟูเอเปคด้วยการผลักดันการจัดตั้งประชาคมเอเปค ซึ่งมีหัวใจคือ FTAAP และ TPP โดยเฉพาะ TPP ที่จะเป็นเขตการค้าเสรีหรือข้อตกลงทางการค้าเสรี (FTA) ที่มีมาตรฐานสูงและมีความก้าวหนามากที่สุด โดยขยายจำนวนสมาชิก TPP จนครอบคลุมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทั้งหมด ที่คิดเป็น 40% ของการค้าโลก เรียกว่า TPP เป็นคำตอบสุดท้ายที่จะทำสหรัฐฯกลับมาผงาดอีกครั้ง
“สิ่งที่อยากเน้นย้ำคือ TPP ไม่ใช่แค่เรื่อง FTA ไม่ใช่แค่เรื่องการค้า แต่เป็นเกมส์การเมืองรูปแบบใหม่ จริงอยู่ที่ TPP อาจส่งผลดีตามหลักรัฐศาสตร์ คือจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐดีขึ้น แต่ต้องไม่ลืมดูผลเสียทางเศรษฐศาสตร์ที่จะเกิดขึ้น จาก TPP ที่มีมาตรฐานสูงซึ่งจะกระทบต่อทั้ง สาขาเกษตร การค้าภาคบริการ มาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม ทรัพย์สินทางปัญญา และนโยบายการแข่งขัน เพราะจริงๆเราเคยมีประสบการณ์จากเรื่องการเจรจา FTA กับสหรัฐแล้ว ที่เขาตั้งมาตรฐานไว้สูงจนไม่มีใครทำตามได้ ดังนั้นไทยต้องตามเกมอเมริกาให้ทัน การชั่งน้ำหนักอย่าดูเพียงเศรษฐกิจ ต้องนำปัจจัยการเมือง ภูมิรัฐศาสตร์มาชั่งด้วยจึงจะเห็นภาพชัด” รศ.ดร.ประภัสสร์ กล่าว
ส่วน นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA WATCH) กล่าวว่า FTA WATCH มีความเห็นว่า ประเทศไทยไม่ควรเข้าร่วมในความตกลงนี้ หรืออย่างน้อยที่สุดต้องไม่รีบเร่งเข้าเป็นภาคี เนื่องจากเล็งเห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น TPP อาทิ การยอมรับความตกลงทรัพย์สินทางปัญญา ที่ให้การคุ้มครองผู้ประกอบการมากไปกว่าความตกลงทางการค้าโลก เช่น การขยายอายุสิทธิบัตรยา และการคุ้มครองข้อมูลยาจะส่งผลให้ยามีราคาแพงคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 100,000 ล้านบาท/ปี ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชน ค่าใช้จ่ายของรัฐเกี่ยวกับบริการด้านสาธารณสุขจะสูงขึ้นอย่างมหาศาล และทำลายระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศในที่สุด ส่วนการขยายสิทธิบัตรพืชและการผลักดันให้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV1991 จะทำให้เกษตรกรต้องจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์แพงขึ้น 2-6 เท่า และเปิดช่องให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรชีวภาพคิดเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจรวมกันอย่างต่ำ 100,000 ล้านบาท/ปี
“เรากังวลว่าสหรัฐฯจะใช้ความตกลงนี้ ในการผลักดันให้ประเทศต่างๆต้องยอมรับพืชและผลิตภัณฑ์ดัดแปลงพันธุกรรม หรือ GMOs ของตนเอง ส่วนผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการเข้าร่วมใน TPP ในกรณีการเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าเพราะการลดภาษีเหลือ 0% นั้น ไม่คุ้มค่ากับผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากประเทศไทยได้ทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศในกลุ่ม TPP แล้วถึง 9 ประเทศ เหลือเพียง 3 ประเทศ ที่ไทยยังไม่มีความตกลงทางการค้าด้วย คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกไปยัง 3 ประเทศนี้เพียง 9% และมีสัดส่วนการลงทุนจากกลุ่มประเทศดังกล่าวเพียง 9.9% เท่านั้น” นส.กรรณิการ์ กล่าว.