เที่ยวชุมชนช่วยจ้างแรงงานท้องถิ่นโตพุ่ง 62%
มั่นใจใช้ท่องเที่ยวชุมชนสร้างรายได้มาถูกทาง วางเป้าหมายปี 61 ลุยพัฒนาชุมชนเพิ่มอีก 38 จังหวัด
อพท. เผยผลสำเร็จการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนช่วยกระจายรายได้ เปิดตัวเลขการจ้างแรงงานท้องถิ่นในพื้นที่พิเศษกลุ่มภาคีเครือข่าย โตลิ่วร้อยละ 62.46 มั่นใจใช้ท่องเที่ยวชุมชนสร้างรายได้มาถูกทาง วางเป้าหมายปี 61 ลุยพัฒนาชุมชนเพิ่มอีก 38 จังหวัดใน 9 คลัสเตอร์ท่องเที่ยว นำชุมชนไทยก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 สร้างกระแส "ไทยนิยม" และการมีส่วนร่วม "ประชารัฐ" สู่ความยั่งยืนด้านการท่องเที่ยว
พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเทียวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า อพท. ได้ร่วมมือกับคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำการศึกษาวิจัยการจ้างแรงงานในพื้นที่พิเศษ เปรียบเทียบระหว่างธุรกิจท่องเที่ยวที่เป็นภาคีเครือข่ายและที่ไม่ได้เป็นภาคีเครือข่าย ในปีงบประมาณ 2560
ภาคี อพท. จ้างแรงงานท้องถิ่นสูงลิ่ว
ผลการวิจัยพบอัตราการจ้างแรงงานท้องถิ่นในพื้นที่พิเศษ มีการจ้างแรงงานในท้องถิ่นร้อยละ 34.25 ขณะที่ธุรกิจท่องเที่ยวที่เป็นภาคีเครือข่ายของ อพท. มีการจ้างแรงงานท้องถิ่นในอัตราสูงถึงร้อยละ 62.46 โดยอัตราการเติบโตของการจ้างแรงงานเปรียบเทียบ ระหว่างปี 2559 กับปี 2560 พบว่า ธุรกิจท่องเที่ยวภาพรวมในพื้นที่พิเศษมีการจ้างแรงงานท้องถิ่นลดลงร้อยละ 29.73 ขณะที่ธุรกิจท่องเที่ยวที่เป็นภาคีเครือข่ายของ อพท. มีการจ้างแรงงานท้องถิ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.96
เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกอันจะนำไปสู่การพัฒนาในระยะต่อไป ตามที่ อพท. นำมาตรฐานเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria: GSTC) ที่ให้ความสำคัญกับการจ้างงานในผู้สูงวัย และผู้พิการ เพื่อสร้างความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ และลดความเหลือล้ำทางสังคม มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่พิเศษแล้ว อพท. ยังศึกษาเจาะลึกลงไปโดยจำแนกตามประเภทแรงงาน โดยในปี 2560 พบว่า ภาพรวมการจ้างแรงงานในพื้นที่พิเศษ ทุกๆ 100 คน มีการจ้างแรงงานท้องถิ่น 34 คน ผู้พิการ 1 คน และ ผู้สูงอายุ 6 คน ขณะที่ธุรกิจท่องเที่ยวที่เป็นภาคีเครือข่ายของ อพท. ในพื้นที่พิเศษ มีการจ้างแรงงานท้องถิ่น 62 คน ผู้พิการ 1 คน และผู้สูงอายุ 5 คน
"จากตัวเลขดังกล่าวเห็นได้ว่า ผลจากการดำเนินงานพัฒนาชุมชนและภาคีเครือข่ายของ อพท. ในพื้นที่พิเศษสามารถช่วยกระจายรายได้ในภาคท่องเที่ยวให้กลับคืนสู่ชุมชนเจ้าของพื้นที่ได้เพิ่มขึ้น จากตัวเลขอัตราการจ้างแรงงานท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มที่เป็นภาคีเครือข่ายของ อพท. อันจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ก่อเกิดการกระจายรายได้อย่างแท้จริง ช่วยสร้างประโยชน์ให้ชุมชน มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน"
ใช้ท่องเที่ยวแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ
ผู้อำนวยการ อพท. ยังกล่าวถึงแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2561 จะยังคงดำเนินการในกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี เน้นย้ำการทำงานด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวเพิ่มศักยภาพให้ชุมชน และใช้กลไกทางการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือ "แก้ไขปัญหาความยากจน" และ "ยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ" นำมาซึ่งการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมตามนโยบายของ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแล อพท.
"ปีงบประมาณ 2561 อพท. ยังคงใช้แผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ CBT Thailand ที่มีเครื่องมือเกณฑ์มาตรฐานการท่องเที่ยวของสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก เป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน โดยจะขยายไปยังชุมชนอื่นๆ ในพื้นที่พิเศษ และชุมชนในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวทั้ง 9 คลัสเตอร์ ครอบคลุม 38 จังหวัด"
นอกจากนี้ อพท. ยังใช้กลไกการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับชุมชนซึ่งเป็นฐานรากสำคัญของเศรษฐกิจประเทศไทย ตามวิสัยทัศน์ อพท. "เป็นองค์กรแห่งความเป็นเลิศด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างชุมชนแห่งความสุข"
สำหรับเป้าหมายการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในปี2561 อพท. คาดว่าจะสามารถพัฒนาการท่องเที่ยวภายใต้การบริหารจัดการตามเกณฑ์ GSTC มาสนับสนุนและส่งเสริมให้ชุมชนในแหล่งพื้นที่ท่องเที่ยวมีความเข้มแข็งบนพื้นฐานของชุมชนเอง เพื่อเป็นเครื่องมือในการกระจายรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมอาทิเช่น ประชาชนในพื้นที่พิเศษ ผ่านเกณฑ์ประเมินระดับความอยู่ดีมีสุข ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในพื้นที่มีความสุข ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ดัชนีความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ (Gini Coefficient) ของประชาชนในพื้นที่พิเศษต่ำกว่า 0.41 ระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 มีจำนวนพื้นที่/ต้นแบบการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน อย่างน้อย 40 พื้นที่/ต้นแบบ ตลอดจนการบรรลุตามกิจกรรมที่ดำเนินการผ่านการขับเคลื่อนของภาคีเครือข่ายสร้างความภูมิใจในวิถีชีวิตและอัตลักษณ์แบบ "ไทยนิยม" และการมีส่วนร่วม"ประชารัฐ" สู่ความยั่งยืนร้อยละ 100
ทั้งนี้ อพท. ในฐานะองค์กรเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Organization: SDO) ยังคงยึดมั่นในปรัชญาการทำงานแบบ Co-creation เพื่อให้ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่ศรัทธาในการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ได้เข้ามามีส่วนในการ"ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับผลประโยชน์" ซึ่งการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายตามที่กล่าวมา อพท. จะดำเนินงานภายใต้โครงการสำคัญกว่า 50 โครงการ ภายใต้กรอบงบพัฒนา ที่ อพท. ได้รับจัดสรรเพียง 266 ล้านบาท ผลการดำเนินงานของ อพท. จะสะท้อน และตอกย้ำในบทบาทภารกิจที่ต้องดำเนินการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนครอบคลุม 3 มิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการจ้างงาน ยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ในท้องถิ่นให้ดีขึ้น ซึ่งภายใต้งบประมาณที่มีจำกัด กับพื้นที่การทำงานที่เพิ่มขึ้น อพท. จะเร่งสร้างการทำงานผ่านเครือข่ายพันธมิตร (Networking) ทั้งกับพันธมิตรเดิมที่เข้มข้นขึ้น ควบคู่ไปกับการแสวงหาพันธมิตรใหม่เปิดโอกาสให้พันธมิตรเหล่านี้ใช้ประสบการณ์ ความรู้ รวมทั้งอาศัยปัจจัยเกื้อหนุนในการเติบโตของระบบเศรษฐกิจแห่งการให้ (Gift Economy) เข้ามาร่วมแบ่งปันทรัพยากรในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่เป้าหมายให้เกิดประโยชน์สูงสุด การนำความรู้ด้านนวัตกรรมมาต่อยอดให้ชุมชนมีรายได้เพิ่ม เข้าสู่ยุค "ทำน้อยแต่ได้มาก" เพื่อสอดคล้องกับนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลต่อไป