โรคเอ็มเอส หรือโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

โรคเอ็มเอส หรือโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

เกิดได้กับทุกแห่งของระบบประสาท ทั้งการทำงานของกล้ามเนื้อ ระบบรับรู้ประสาทสัมผัส การควบคุมอุจจาระ ปัสสาวะและความจำบางครั้งเกิดขึ้นแบบฉับพลัน

 

หากวันหนึ่งตื่นขึ้นมา แล้วรู้สึกว่าตามองไม่เห็น เดินไม่ได้ พูดไม่ชัด หรือปัสสาวะราด ทำให้จู่ๆ ต้องลาหยุดงานแบบกะทันหัน อาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการของ “โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง” หรือ โรคเอ็มเอส (Multiple Sclerosis) นับเป็นอีกหนึ่งโรคที่พบยาก เกิดได้กับทุกแห่งของระบบประสาท ทั้งการทำงานของกล้ามเนื้อ ระบบรับรู้ประสาทสัมผัส การควบคุมอุจจาระ ปัสสาวะ และความจำ บางครั้งเกิดขึ้นแบบฉับพลัน ซ้ำร้ายผู้คนส่วนใหญ่ก็ไม่รู้จักโรคนี้ ทำให้สังคมรอบข้างไม่เข้าใจ นึกว่าเสแสร้งแกล้งป่วย ดังนั้นเนื่องด้วยทุกวันที่ 30 พฤษภาคมของทุกปี จะตรงกับวัน MS โลก (World MS Day) ชมรมเอ็มเอสไทย จึงรณรงค์สร้างความตระหนักรู้เพื่อให้สังคมรอบข้างทำความเข้าใจกับอาการของโรคและเข้าใจผู้ป่วยเอ็มเอส

 

ผศ.นพ. สุพจน์ ตุลยาเดชานนท์ อายุรแพทย์ประสาทวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า “โรคเอ็มเอส เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวในระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ไปทำลายปลอกหุ้มประสาทอักเสบในระบบประสาทส่วนกลางของตนเอง ได้แก่ สมอง ไขสันหลัง และเส้นประสาทตา จนก่อให้เกิดอาการผิดปกติทางเส้นประสาทที่ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติของส่วนต่างๆ ทำให้เกิดอาการได้หลายๆ อาการในเวลาเดียวกัน อาทิ ผู้ป่วยของโรคเอ็มเอส ร้อยละ 37% จะมีอาการชาตามร่างกายแบบครึ่งตัว, 36% ตามองไม่เห็น, 35% อ่อนแรงหรือเกร็ง, 15% มองเห็นภาพซ้อน และ 4% ปัสสาวะลำบากหรือกลั้นปัสสาวะยาก เป็นต้น โดยโรคนี้มักเกิดขึ้นในวัยทำงาน อายุ 20-40 ปี มากที่สุดถึงร้อยละ 70 ในขณะที่วัยเด็กต่ำกว่า 10 ปี พบน้อยกว่าร้อยละ 1”

 

ที่สำคัญ หากป่วยเป็นโรคเอ็มเอสและไม่ได้รับการรักษาอาการทางระบบประสาทจะทรุดลงเรื่อยๆ ภายใน 10 ปีหลังจากวินิจฉัย และประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยมักต้องใช้ไม้เท้าช่วยเวลาเดิน และ 15% ของผู้ป่วยต้องนั่งรถเข็น เนื่องจากโรคนี้จะมีการกำเนิดโรคหลายแบบ อาการที่พบได้บ่อยๆ ได้แก่ ความผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็น การเสียสมดุลในการทรงตัว จึงพบปัญหาในการเดิน มีอาการอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ เหนื่อย หมดแรง การควบคุมกระเพาะปัสสาวะผิดปกติ กล้ามเนื้อเกร็ง มีอาการสั่น มีความผิดปกติในการพูด การกลืน มีความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร (เช่น ท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง) และในระบบสืบพันธุ์ (เช่น มีบุตรยาก ความรู้สึกทางเพศลดลง) ทำให้ยากต่อการวินิจฉัยโรค

 

ศ.พญ. สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ ประธานชมรม(ผู้ป่วย)เอ็มเอสไทย กล่าวว่า “เนื่องในโอกาสวัน MS โลก ของทุกปี โดยในวันที่ 20 พฤษภาคม 2561 นี้ ชมรมเอ็มเอสไทย จึงได้จัดประชุม “MS & NMO 4.0” ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการประชุมให้ความรู้แก่ผู้ป่วย และญาติผู้ป่วย ที่มาร่วมงาน 64 คน ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เกิดความรู้ความเข้าใจโรค และเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคให้ได้ ที่สำคัญเกิดการรวมกลุ่มในชุมชนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีการรวมตัวของกลุ่มสมาชิกในชมรมเพิ่มมากขึ้น และจากงานครั้งนี้ ทำให้มีสมาชิกในไลน์กลุ่มเพิ่ม รวมกว่า 250 คน ทั้งนี้เพื่อให้การสื่อสารเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยในไลน์จะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำปรึกษา ให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง รวมถึงผู้ป่วยได้แนะนำสิ่งดีๆ ต่อกัน ให้กำลังใจกันเพื่อต่อสู้กับโรคไปด้วยกัน” 

 

รศ.พญ. นาราพร ประยูรวิวัฒน์ ประธานชมรม(แพทย์)เอ็มเอสไทย ภาควิชาอายุรศาสตร์ ระบบโรคประสาท คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยถึงสถานการณ์ของโรคว่า “ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคเอ็มเอสกว่า 2.5 ล้านคนทั่วโลก ในขณะที่ประเทศไทยมีผู้ป่วยประมาณ 1,500 คนทั่วประเทศ แต่พบในเวชระเบียนของโรงพยาบาลประมาณ 500 คน เข้าใจว่าหลายคนยังไม่ทราบว่าตนป่วยเป็นโรคเอ็มเอส เนื่องจากเป็นโรคที่วินิจฉัยค่อนข้างยาก ต้องอาศัยแพทย์ที่มีประสบการณ์ หรือจบด้านประสาทวิทยา หรือด้านจักษุแพทย์ รวมถึงการตรวจ MRI สมองและไขสันหลังเข้าร่วมด้วย เนื่องจากอาการของโรคแตกต่างกันมาก ขึ้นกับระบบประสาทที่ผิดปกติว่าเป็นส่วนใดและระบบประสาทส่วนนั้นเกี่ยวข้องกับอวัยวะใด เนื่องจากระบบประสาทเปรียบเหมือนศูนย์บัญชาการใหญ่ให้ร่างกายสามารถทำงานประสานกันได้ตั้งแต่ระบบกล้ามเนื้อ ความรู้สึกต่างๆ การเจ็บปวด ร้อนหนาว ความคิด ความจำ การมองเห็น การได้ยิน ดังนั้นเมื่อเกิดโรคเอ็มเอสจึงเกิดความผิดปกติได้ทุกระบบของร่างกาย”

 

ทั้งนี้ ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุของการป่วยเป็นโรคเอ็มเอสได้ แต่เชื่อว่ามี 2 ปัจจัยหลัก คือ 1) ด้านพันธุกรรม อาทิ พบในเครือญาติหรือครอบครัวประมาณร้อยละ 1-3 แต่หากเป็นญาติสายตรง เช่น พ่อ แม่ พี่น้องท้องเดียวกัน หรือลูก จะมีโอกาสพบร้อยละ 20 ในขณะที่คนที่เป็นฝาแฝดไข่ใบเดียวกัน หากพบในคนใดคนหนึ่งเป็นโรค อีกคนหนึ่งจะมีโอกาสเป็นร้อยละ 30  และ 2) สิ่งแวดล้อม เนื่องด้วยพบอุบัติการณ์และความชุกของโรคเอ็มเอสในประเทศที่ห่างไกลเส้นศูนย์สูตรหรือประเทศที่มีแสงแดดอ่อนมากกว่า จึงเชื่อว่าวิตามินดีมีบทบาทต่อสมดุลของระบบคุ้มกันของร่างกาย

 

ปัจจุบันโรคเอ็มเอสยังไม่มีการรักษาให้หายขาด แต่สามารถรักษาอาการได้ด้วยยาฉีดหรือยากิน สำหรับปีนี้ ได้มีการพัฒนาทั้งยากินและยาฉีดชนิดใหม่ๆ เข้ามาเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับแพทย์และผู้ป่วยมากขึ้น โดยแพทย์จะให้ยาปรับภูมิคุ้มกัน เพื่อลดความถี่ในการเกิดอาการ ลดการเป็นซ้ำ และอาจช่วยลดความพิการในระยะยาวได้ นอกจากนี้ยังรักษาตามอาการเพื่อชะลออาการต่างๆ ให้ทุเลาลง ให้ทำกายภาพบำบัด ปรับโภชนาการ จิตบำบัด เป็นต้น เนื่องด้วยคนที่ไม่มีอาการแล้ว ก็อาจกลับมาเป็นซ้ำได้ เพื่อป้องกันการเป็นซ้ำและลดความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยโรคเอ็มเอสควรมาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะครบ 5 หมู่ ออกกำลังกาย สัมผัสแดดอ่อนๆ บ้าง และทำตามคำแนะนำของแพทย์  

 

สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคเอ็มเอส ได้ที่ชมรมเอ็มเอสไทย Facebook: MSthai2016 โทร. 0-22012799 (ในวันเวลาราชการ) หรืออีเมล [email protected]

กรณีต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ

คุณกุนธิรา ณัฐวัฒนานนทน์

ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์

Tel: 094 154-5698

E-mail: [email protected]