ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทลื้อเมืองมาง เมืองหย่วน

ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทลื้อเมืองมาง เมืองหย่วน

“กะละแมบ้านธาตุสบแวน แดนผ้าทอบ้านธาตุ ขนมปาดบ้านหย่วน ชวนชิมข้าวแคบบ้านมาง”

ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทลื้อเมืองมาง เมืองหย่วน

ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา

กะละแมบ้านธาตุสบแวน แดนผ้าทอบ้านธาตุ ขนมปาดบ้านหย่วน ชวนชิมข้าวแคบบ้านมาง”

เสน่ห์ของไทลื้อมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนใคร

ว่ากันว่า หากจะไปชมว่าไทลื้อมีความน่าสนใจ ต้องไปที่เมืองมาง เมืองหย่วน

ชุดเสื้อผ้าของชาวไทลื้อนี่สวยโดดเด่นไม่เหมือนใคร จนอยากจะลองใส่สักครั้ง

มาทำความรู้จักกับไทลื้อกันดีกว่า

ไทลื้อคือ กลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลไท มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ในแคว้นสิบสอง-ปันนาทางตอนใต้ของมณฑลยูนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเราคุ้นเคยในกับเมืองสิบสองปันนาประกอบด้วยเมืองต่าง ๆ รวม 44 เมืองโดยมีเมืองสำคัญ 28 เมือง ได้แก่ เมืองเชียงรุ่ง เมืองลวง เมืองแจ้ เมืองฮาย เมืองสูง เชียงเจิง เมืองฮุน เมืองปาน เชียงลอ เมืองวัง เมืองงาด เมืองออง เมืองยาง เมืองฮิง เมืองลา เมืองฮำ เชียงตอง เมืองขอน เมืองนุน เมืองแวน เมืองเฮม เมืองล้า(เมืองล่า) เมืองบ่อแฮ่ เมืองพง เมืองหย่วน เมืองอูเหนือ และเมืองอูใต้ โดยมีเมืองเชียงรุ่ง เป็นเมืองหลวง

ชุมชนไทลื้อเมืองมาง เมืองหย่วน อยู่ที่ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เป็นชาวไทลื้อกลุ่มหนึ่ง มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแถบสิบสองปันนาของจีนมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือ การใช้และยังมีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์อื่นๆ เช่น การแต่งกาย ศิลปะ และประเพณีต่างๆ

ไทลื้อเชียงคำ อพยพมาจากเมืองพง เมืองหย่วน เมืองมาง เมืองยั้ง เมืองเงิน เมืองเชียงคาน โดยตั้งหมู่บ้านเป็นหมู่บ้าน ๆ ใช้ชื่อเมืองที่อยู่เดิมตั้งเป็นชื่อหมู่บ้าน เช่นบ้านหยวน บ้านมาง บ้านเชียงคาน บ้านล้า เป็นต้น

เดิมทีไทลื้อได้อพยพมาอยู่ที่ อ.เชียงม่วน แต่ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2431 ชาวไทลื้อส่วนหนึ่ง ได้อพยพจากอำเภอเชียงม่วนที่อยู่นาน 15 ปี ไปตั้งถิ่นฐานที่อำเภอเชียงคำ ได้แก่ บ้านหย่วน บ้านธาตุสบแวน บ้านมาง และอยู่มาจนบัดนี้

ชุมชนชาวไทลื้อ มีเสน่ห์วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่โดดเด่น มีการรวบรวมประวัติความเป็นมาของชาวไทลื้อเชียงคำที่ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อ อันเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ศูนย์ทอผ้า อาหาร และบ้านดั้งเดิม (เฮินลื้อ) ของชาวไทลื้อ ..........พวกเขาช่างน่ารักมากๆ......

คำกล่าวของชุมชนแสนจะไพเราะ “วัฒนธรรมที่สร้างมา ที่สร้างไว้ นอกจากหวังที่จะให้ลูกหลานได้สืบทอด ได้มีความมั่นคงทางวัฒนธรรม ส่งต่อความรู้ ความเชื่อ ผ่านเรื่องเล่า ผ่านตำนาน โดยการส่งต่อผ่านจิตวิญญาณ บรรพบุรุษก็คงหวังให้ลูกหลานใช้เอกลักษณ์ที่มี ทำมาหากิน เพื่อให้ได้อยู่อย่างมั่นคง ไม่ต้องย้ายถิ่นฐานไปทำมาหากินที่อื่น”

ชาวไทลื้อมีอุปนิสัยรักสงบ ขยัน อดทน เป็นผู้ที่อนุรักษ์วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมไว้อย่างดี เช่น วัฒนธรรมการแต่งกาย รูปทรงบ้านเรือน อาหารการกิน เป็นต้น ศูนย์นี้จัดตั้งเพื่อแสดงผลงานทางศิลปวัฒนธรรม และฝึกอาชีพของชาวไทลื้อ โดยเฉพาะผ้าของชาวไทลื้อที่มีลวดลายและสีสันสดใส เช่น ลายดอกขอเครือ ลายดอกขอ ลายม้า และลายดอกตั้ง เป็นต้น

เราไปดูที่เที่ยวในชุมชนกันดีกว่า ที่นี่มีพระธาตุดอยคำ มีตำนานว่า เมืองเชียงคำมีชื่อเดิมว่าเชียงชะราว ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านคุ้มหมู่ 6 ตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ พระยาผู้ปกครองเมืองได้สร้างพระธาตุไว้บนดอยนอกเมืองเพื่อล้างบาป ต่อมามีผู้พบแหล่งทองคำขนาดใหญ่ ในลำธารหลังดอย ดอยนั้นได้ชื่อว่า “ดอยคำ” พระธาตุบนดอยก็ชื่อว่า”พระธาตุดอยคำ” เมืองเชียงชะราวก็เปลี่ยนชื่อเป็น “เมืองเชียงคำ”

พระธาตุสบแวน ตั้งอยู่ หมู่ที่ 1 ต.หย่วน อ.เชียงคำ จ.พะเยา ตามตำนานกล่าวว่าเมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว และได้ทรงจำพรรษาอยู่ในพระเชตวนาราม เมืองสาวัตถี ในราตรีหนึ่งพระองค์ทรงรำพึงว่าขณะนี้อายุเราได้ 60 ปี เมื่ออายุได้ 80 ปี เราก็จะปรินิพพาน เราควรเสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์ทั้งหลาย และตั้งพระศาสนาไว้ในมัชฌิมประเทศและปัจจันตประเทศ ดังนั้น เมื่อออกพรรษา พระองค์ก็เสด็จมาเมืองลื้อแห่งนี้

หากอยากไปชมเรื่องราวของไทลื้อต้องไปที่ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อ ตั้งอยู่ที่วัดหย่วน ศูนย์แห่งนี้เป็นศูนย์แสดงผลงานทางศิลปวัฒนธรรม และฝึกอาชีพของชาวไทยลื้อ โดยเฉพาะผ้าของชาวไทยลื้อที่มีลวดลายและสีสันสดใส เช่น ลายดอกขอเครือ ลายดอกขอ ลายม้า ลายดอกตั้ง เป็นต้น ศูนย์แห่งนี้เป็นศูนย์แสดงผลงานทางศิลปวัฒนธรรม และฝึกอาชีพของชาวไทลื้อ โดยเฉพาะผ้าของชาวไทลื้อที่มีลวดลาย และสีสันสดใส เช่น ลายดอกขอเครือ ลายดอกขอ ลายม้า ลายดอกตั้ง เป็นต้น

วัฒนธรรมชาวไทลื้อที่มีเอกลักษณ์ในตัวเองไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมการแต่งกาย สถาปัตยกรรมบ้านเรือน รวมทั้งอาหารการกินที่ไม่เพียงสะท้อนถึงความเป็นชนเผ่ารักสงบ ขยัน และมีมานะอดทนแล้ว ชาวไทลื้อยังคงรักษาขนบประเพณีดั้งเดิมของพวกเขาไว้ได้เป็นอย่างดี โดยภายในศูนย์แห่งนี้จะทำให้คุณได้เรียนรู้ และสัมผัสผลงานทางศิลปวัฒนธรรมของชาวไทลื้อในมิติที่หลากหลาย โดยเฉพาะการชมผ้าทอไทลื้อที่มีลวดลายสวยงามพร้อมสีสันสดใส เช่น ผ้าลายดอกขอเครือ ลายดอกขอ ลายม้า และลายดอกตั้ง จะทำให้คุณได้เข้าใจความเป็นไทลื้อที่น่าทึ่ง

จากนั้นเราไปเดินเที่ยวที่วัดแสนเมืองมา มาจากชื่อหมู่บ้านมางในสิบสองปันนา ประเทศจีน วัดสร้างตามแบบศิลปะไทลื้อ ป้ายต่างๆในบริเวณวัดมีทั้งภาษาไทยและภาษาจีน เนื่องจากมีชาวไทลื้อเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างไทยกับสิบสองปันนา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ หลังคามุงแป้นเกล็ดไม้งดงามมาก เป็นศิลปะไทลื้อ หน้าบันเป็นไม้แกะสลักรูปเทพนม บนพื้นสลักลายสวยงาม บันไดทางเข้าเป็นรูปพญานาค ประตูด้านข้างทางเข้ามีรูปปั้นสิงห์คู่เฝ้าประตู ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารเป็นฝีมือของช่างพื้นบ้าน บอกเล่าถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทลื้อ การบวชพระ การทำบุญ การเล่นน้ำสงกรานต์ วิถีชีวิตในชนบทและประเพณีต่างๆ นอกจากนี้ยังมีธง (ตุง) แขวนไว้ ตามความเชื่อว่าเป็นการอุทิศให้กับผู้ล่วงลับเพื่อเป็นบันไดขึ้นสู่สรวงสวรรค์

แล้วแวะที่วัดท่าฟ้าใต้ ถือเป็นหนึ่งสถาปัตยกรรมสร้างเมื่อปี พ.ศ.2311 โดยกลุ่มผู้นำชาวไทลื้อซึ่งอพยพมาจากสิบสองปันนา สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นมีอายุราวกว่า 200 ปีพระวิหารเป็นสถาปัตยกรรมไทลื้อที่งดงาม

กิจกรรมและเส้นทางการท่องเที่ยว

อาจเริ่มที่การชมกิจกรรมของบ้านธาตุสบแวน ไหว้พระในวิหารวัดพระธาตุสบแวน ไหว้พระธาตุสบแวน สรงน้ำพระธาตุสบแวน ก่อนไปชมประวัติไทลื้อในศาลา 13 ห้อง ชมผ้าทอไทลื้อและผลิตภัณฑ์ของชุมชน สัมผัสบรรยากาศของกาดไทลื้อบ้านธาตุสบแวน และบ้านธาตุ พิธีบายศรีสู่ขวัญคณะกรรมการ แล้วต่อด้วยการรับประทานอาหารเย็น (ขันโตก) ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทลื้อ 4 หมู่บ้าน ประกอบด้วยการแสดงฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง ฟ้อนซ้าตีบ สืบเชื้อเครือไตลื้อเชียงคำ ฟ้อนแอ่วเมืองพะเยาม่วนใจ๋ ฟ้อนก๋ายลาย ฟ้อนเล็บ และดนตรีพื้นเมือง

อีกวันตื่นเช้าใส่บาตรพระภิกษุสามเณรตามถนนสายบ้านธาตุ – บ้านหย่วน เยี่ยมชมวิถีชีวิตการค้าขาย ณ ตลาดสดยามเช้าเทศบาลตำบลเชียงคำ ชมกิจกรรมของบ้านมาง หมู่ 4 กิจกรรมเรียนรู้การทำข้าวแคบ กะละแม ข้าวแต๋น และการทำสวยดอกไม้ถวายพระ ไหว้พระในวิหารไทลื้อ เยี่ยมชมศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดแสนเมืองมา เยี่ยมชมบ้านไทลื้อ (เฮินลื้อไตมาง) ชมกิจกรรมบ้านหย่วนหมู่ที่ 3 ไหว้พระใหญ่วัดหย่วน เยี่ยมชมศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อ กิจกรรมเรียนรู้จากดอกฝ้ายสู่เส้นใยกลายเป็นผืนผ้า กิจกรรมทำของจื่อจำ (สื่อรักหมากกอน) ชมกิจกรรมของบ้านธาตุหมู่ 2 เฮือนไทลื้อบ้านแม่แสงดา การสาธิตการทำแอ่งแถะ ศูนย์ย้อมสีผ้าธรรมชาติ บ้านป้ามาลี

แนะให้ไปเที่ยวที่กาดไทลื้อ บ้านธาตุสบแวน อ.เชียงคำ เป็นสถานที่จัดการแสดงและงานกิจกรรม

การเดินทาง ออกเดินทางจากศาลากลางจังหวัดพะเยา มุ่งหน้าไปทางอำเภอเชียงคำ โดยใฃ้ถนนทางหลวงหมายเลข 1202 ไปจนถึงทางสามแยกเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 1298 ราว 4 กิโลเมตร จะเจอทางสามแยกให้เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 1021จนถึงสามแยกแช่แห้งให้เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 1148 จะถึงจุดหมายปลายศูนย์วัฒนธรรมไทยลื้อ (วัดหย่วน) รวมระยะทางประมาณ 81.5 กิโลเมตร

รถโดยสารประจำทาง

-สาย 671 เชียงใหม่-เชียงของ (เชียงใหม่-แม่ขะจาน-วังเหนือ-พะเยา-ดอกคำใต้-จุน-เชียงคำ-เทิง-เชียงของ) บริษัท ไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด

-สาย 962 กรุงเทพ-เชียงของ บริษัทผู้เดินรถได้แก่ บริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส 999,99) สมบัติทัวร์ โชครุ่งทวีทัวร์ สยามเฟิร์สทัวร์ บุษราคัมทัวร์ เชิดชัยทัวร์

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทลื้อเมืองมาง เมืองหย่วน

ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา

ติดต่อชุมชน : นางนงลักษณ์ จินะราช โทรศัพท์ 082-694-9599

#กรมส่งเสริมวัฒนธรรม #ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมประจำปี2561 #ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม #BloggerCulture #BloggerXDCP