สังคมเอาใจช่วย “เด็กท้องต้องไปต่อ”

สังคมเอาใจช่วย “เด็กท้องต้องไปต่อ”

 

นอกจากการที่เรากำลังเผชิญปัญหาเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนอย่างยากจะหลีกเลี่ยง ผ่านการเก็บข้อมูลที่พบว่า กลุ่มเด็กมัธยมต้น 2 ใน 5 คนมีเพศสัมพันธ์แล้ว ขณะที่นักศึกษาระดับปวช.ทั้งหญิงและชาย ในจำนวน 40 คน มีเพศสัมพันธ์แล้ว 10 คน และมีสถิติผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์มากกว่าผู้ชาย

แน่นอนว่า ความเสี่ยงดังกล่าวยังเป็นโอกาสที่ลูกหลานของเราจะ “พลาดพลั้งเลยเถิด” ถึงขั้น “ท้องในวัยเรียน” ด้วยเช่นกัน

เมื่อโลกกำลังเปลี่ยนไปไว วันนี้สังคมไทยอาจต้องทำใจและยอมรับข้อเท็จจริงเสียแล้วว่า “ท้องในวัยเรียน”  เป็นเรื่องที่สังคมไทยยากปฏิเสธอีกต่อไป

 

ท้องแล้วทำไง?

มีข้อเท็จจริงว่า เด็กส่วนใหญ่หลังตั้งครรภ์และคลอดลูกแล้ว อาจต้องประสบปัญหาเรื่องการไม่ได้เรียนต่อ ทั้งด้วยสาเหตุที่พ่อแม่ให้ออกจากโรงเรียนเพราะความอับอาย หรือจากการโดนโรงเรียนและสังคมรอบข้างตีตรา หรือผลักเด็กออกจากโรงเรียน

อีกหนึ่งข้อมูลเกี่ยวกับสถานภาพการศึกษาขณะตั้งครรภ์ของวัยรุ่น พบว่าเด็กส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะหยุดเรียนต่อมากที่สุดถึง 53.5% (ปี 2559) และมีเพียง 13.7% เท่านั้นที่ยังอยู่ต่อในสถานศึกษา ถึงแม้ในปี 2560-2561 แนวโน้มเด็กที่อยู่ในโรงเรียนต่อเพิ่มมากขึ้นเป็น 24.3% และ 23.3% ตามลำดับ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ตัวเลข “เด็กท้อง” ที่มีโอกาสจะอยู่ต่อในสถานศึกษายังคงน้อยมาก หรือหากเด็กเลือกกลับมาศึกษาต่อ ส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะเข้าสู่ระบบการศึกษานอกโรงเรียนมากกว่าในระบบ

สะท้อนให้เห็นว่าวันนี้สังคมไทยกำลังทำให้เด็กต้องทิ้งอนาคตตัวเองเพียงเพราะความพลาดพลั้งแค่ครั้งหนึ่งในวัยเยาว์ แต่หากมองลึกถึงภาระบทบาทของการดูแลลูกนั้น ทุกคนต่างตระหนักในใจดีว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่แม่วัยใสเหล่านี้จะต้องมีวิชาความรู้เพื่อที่จะเป็นทุนสำคัญในการหาเลี้ยงลูกน้อยต่อไป

ประเด็น “เด็กท้องต้องได้เรียน” จึงเป็นอีกหนึ่งความพยายามที่ผู้ใหญ่ทั้งหลายอยากให้เกิดเป็นรูปธรรมได้จริง แม้ที่ผ่านมาการจะแก้ปัญหาท้องต้องได้เรียนในทางปฏิบัตินั้น นับว่ายังมีอุปสรรค์ไม่น้อย

แม้ประเทศไทยจะพยายามกำหนดให้สิทธิให้วัยรุ่นเข้าถึงบริการคุมกำเนิดและการคลอดที่ปลอดภัย มีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการตัดสินใจ มีสิทธิในการได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค และสิทธิการได้รับโอกาสด้านการศึกษาและอาชีพ ภายใต้การออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ปี 2559 ที่เป็นกลไกช่วยปกป้องและคุ้มครองเด็กตั้งครรภ์ในวัยเรียน แต่สังคมส่วนใหญ่ยังมองว่าเรื่องนี้ยังไม่ปกติ เด็กต้องปรับตัวพอสมควรในสภาพแวดล้อม ต้องอาศัยเวลาและความเข้าใจ

ดังนั้น ในการประชุมระดับชาติ สุขภาวะทางเพศครั้งที่ 3 ภายใต้แนวคิด “การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จากยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติที่ยั่งยืน” โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับหน่วยงานและองค์กรภาคีต่างๆ รวม 19 องค์กร ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อเพิ่มฐานพลังในการขับเคลื่อนการทำงานตามยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560-2569 ให้มีโอกาสบรรลุเป้าหมาย ยังได้มีการหยิบยกประเด็นปัญหาดังกล่าว ผ่านเวทีเสวนา “เด็กท้องต้องได้เรียน” เพื่อมาคลี่คลายปัญหาร่วมกัน

เด็กท้องต้องได้เรียนต่อ

เริ่มที่ข้อสังเกตจาก นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาอิสระคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาท้องวัยรุ่น กล่าวว่าที่ผ่านมาพบข้อมูลวัยรุ่นผู้หญิงที่อายุไม่ถึง 20 ปี มาคลอดที่โรงพยาบาลเป็นหลักแสน แต่พบว่าหลังจากคลอดลูกกลับเข้ามาเรียนในระดับปริญญาตรีเพียง 700 กว่าคน ซึ่งไม่ทราบว่ากลุ่มคนเหล่านี้ไปประกอบอาชีพอะไร

 “เรื่องเด็กท้องต้องได้เรียนเป็นเรื่องสำคัญ  การเรียนเป็นการสร้างอนาคตของคนทุกคน ซึ่งล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2561ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้ออกกฎหมายลูก ตาม พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ปี 2559 โดยหนึ่งในข้อกำหนดสำคัญคือการประกาศให้ทุกสถาบันการศึกษาใดๆ ก็แล้วแต่ เมื่อพบว่าเด็กตั้งครรภ์จะต้องไม่ให้เด็กออกจากโรงเรียน ยกเว้นจะมีการย้ายตามความประสงค์ของนักเรียน” นพ.วิวัฒน์กล่าว และเอ่ยต่อว่า การให้เด็กกลับสู่ระบบการเรียนยังมีประโยชน์ เพราะเคยมีผลการศึกษาจากต่างประเทศพบว่าเด็กที่อุ้มท้องมาเรียนจะช่วยสร้างความตระหนักให้กับเพื่อนให้เข้าใจและระมัดระวังป้องกันไม่ให้ท้องก่อนวัยอันควรได้

อย่างไรก็ดี อีกสิ่งสำคัญคือครูต้องปรับทัศนคติเด็กว่าเป็นคนที่ต้องได้รับความช่วยเหลือมากกว่าเป็นคนที่ถูกกำจัดออกจากสังคม

“โรงเรียนต้องมองว่าเด็กไม่ใช่ตัวสร้างปัญหา แต่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบนั้นและให้ความช่วยเหลือ” ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีเอ่ย

อย่าแยกปัญหา โดยการแยกเด็ก

ด้าน ภิญโญ ภูศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสังเวช ผู้ผ่านงานบริหารโรงเรียนมัธยมมา 8 แห่ง ดูแลนักเรียนมาแล้วกว่า 4 พันคน เล่าถึงกรณีเด็กมัธยมโรงเรียนแห่งหนึ่งตั้งครรภ์เมื่อกลับจากซัมเมอร์ที่ประเทศเกาหลีใต้ ว่า โรงเรียนต้องการให้เด็กลาออกจากโรงเรียน เพราะกลัวเสียชื่อเสียง ทำให้ผู้ปกครองต้องฟ้องร้องกับโรงเรียน อย่างไรก็ตามถือว่าเรื่องน่ายินดีว่า การแก้ไข พ.ร.บ. แก้ปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งจะผลบังคับใช้ในเดือนเมษายนจะช่วยให้เด็กท้องได้เรียนต่อ

“นักเรียนที่ตั้งครรภ์ในโรงเรียนเดียวกันไม่ควรแยกออกจากกัน เมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้วถ้าจับแยกทำให้การแก้ปัญหายากขึ้นอีก ต้องหาทางให้เด็กได้รับการศึกษาทั้งคู่ เป็นการดูแลด้วยกันได้ ซึ่งการแยกออกจากกันกลายเป็นซ้ำเติม เพราะฝ่ายหญิงจะเครียดวิตกเรื่องแฟนที่ต้องออกไปจากโรงเรียน” 

อย่างไรก็ตาม  ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสังเวชระบุว่า การป้องกันท้องในวัยรุ่น ปัจจุบันทุกโรงเรียนดำเนินการ เน้นสร้างสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย โดยปลอดภัยจากสื่อลามก สารเสพติด หรือพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ขณะเดียวกันต้องเน้นย้ำจรรยาบรรณของครูเรื่องของความมีเมตตา

โรงเรียนต้องรักษาความลับ

“วัยรุ่นจะบอกเราเมื่อมีปัญหา ก็ต่อเมื่อเราได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ” เสียงบอกเล่าจาก ดร.เศรษฐวิทย์ ภูฉายา ผู้ช่วยอธิการบดีด้านศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ปี ที่มีประสบการณ์การทำงานการดูแลสุขภาวะของนักศึกษา รวมถึงการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียนต่อเนื่อง

โดยจากการเก็บข้อมูลเด็กปี 1 ต้องปรับตัวการที่มาใช้ชีวิตอยู่ภายในหอพักของมหาวิทยาลัยทั้งหอนอกและหอใน แต่ด้วยบทบาทการดูแลทั้งกายและใจของนักศึกษาในสถาบันจำนวนมากทำให้ต้องมีการทำงานเชิงรุกเพื่อที่จะปรับการทำงานให้เท่าทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

“ที่มหาวิทยาลัยเรามีเด็ก 7,900 กว่าคนที่อยู่ในหอพักในมหาวิทยาลัย และยังมีอีก 5,100 คนที่อยู่ข้างนอก ดังนั้นมหาวิทยาลัยได้จัดตั้งทีมงานตาสัปปะรด คอยสังเกตพฤติกรรมของนศ.ที่อยู่ทั้งหอนอกและหอใน เช่นเดียวกันมีทีมแพทย์จากโรงพยาบาลมาดูแลในคลีนิควัยรุ่น ซึ่งระบบการปรึกษาจะใช้ช่องทางโซเชียล มีแพทย์เป็นแอดมินตอบปัญหาสุขภาวะทางเพศ โดยทุกอย่างเป็นความลับ”

ดร.เศรษฐวิทย์เอ่ยว่า ส่วนใหญ่พบว่าเด็กที่ท้องมักจะอยู่หอนอก ซึ่งคลีนิควัยรุ่นจะให้คำปรึกษาระหว่างตั้งครรภ์ พบว่าบางคนประสบปัญหาภาวะเครียดระหว่างตั้งครรภ์ และบางคนไม่ได้ตั้งครรภ์แต่พบว่าป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น คลีนิควัยรุ่นช่วยดูแลตรงนี้ด้วย สำหรับการแก้ปัญหาท้องในในมหาวิทยาลัยจะให้เด็กเข้าเรียน โดยจะช่วยปกปิดความลับให้ เมื่อใกล้คลอดจะให้ดร๊อปเรียนไว้ก่อน แล้วจึงกลับมาเรียนใหม่

คลินิควัยรุ่นเน้นสร้างช่องทางให้เด็กเข้ามาหาเราและใช้ทีมแพทย์เข้ามาเยียวยาปัญหาให้” ผู้ช่วยอธิการบดีด้านศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี บอกถึงวิธีการทำงาน

ขณะที่ จิตโสมนัส ชัยวงศ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา ในฐานะที่ทำงานอยู่ในสถานศึกษาอาชีวมาถึง 15 ปี  กล่าวถึงภาพรวมของเด็กอาชีวศึกษาว่า ส่วนใหญ่มาจากสภาพครอบอ่อนแอ พ่อแม่ลำบาก ดังนั้นก่อนเข้าเรียนจึงประชุมทำความเข้าใจกับผู้ปกครองให้ใส่ใจกับลูก จัดกิจกรรมค่ายคุณธรรมเพศศึกษา

สำหรับกรณีเด็กท้องในวัยเรียนสถานศึกษาจะปกปิดเป็นความลับ ซึ่งบางทีพบว่าไปท้องกับเพื่อนที่ไม่ใช่นักศึกษาด้วยกัน โดยจัดตั้งครูที่ปรึกษาซึ่งผ่านการอบรมจากนักจิตวิทยา เพื่อพุดคุยกับเด็กกรณีที่พบท้องในวัยเรียน ซึ่งในระบบการศึกษาในอาชีวเด็กต้องฝึกงาน ถ้าเกิดขึ้นระหว่างฝึกงานจะคุยกับสถานประกอบการและเด็กว่าพร้อมที่จะฝึกหรือเปลี่ยนแผนกฝึกงาน โดยจะให้เด็กมาเรียนต่อจนจบ หรือส่งเสริมให้เรียนไปด้วยและทำงานไปด้วยซึ่งพ่อแม่ต้องรับรู้ เพื่อจะไม่ไปสร้างภาระของพ่อแม่นักศึกษาอีกต่อ

อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันระบบการเรียนสามารถเรียนผ่านออนไลน์ได้ จะประยุกต์ใช้กับเด็กที่ท้องในวัยเรียนโดยที่ไม่ต้องมาโรงเรียนได้มากน้อยเพียงใด

สังคมต้องช่วยเยียวยา

นพ.วิวัฒน์ กล่าวเสริมว่า มีข้อเสนอแนะว่าหลังจากนี้รพ.ต้องเก็บข้อมูลของผู้หญิงอายุไม่ถึง 20 ปีมาคลอดลูก ต้องสอบถามอาชีพ และความประสงค์ที่จะคุมกำเนิด โดยสิทธิหลักประกันสุขภาพให้ผู้หญิงสำนักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เพิ่มสิทธิ์ให้ผู้หญิงอายุต่ำกว่าอายุ 20 ปีเมื่อไปคลอดลูกที่รพ.แล้ว สามารถใส่ห่วงคุมกำเนิดกึ่งถาวร โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยมีราคาอยู่หลักพัน สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 3 ปี ซึ่งเป็นยาคุมกำเนิดที่ฝังในใต้ผิวหนัง ป้องกันท้องซ้ำ

นอกจากนี้ ปัจจุบันกระทรวงศึกษาได้ออกแบบการเรียนสำหรับเด็กท้องในวัยเรียน เช่นไปคุมสอบที่บ้านให้ทำรายงาน มีครูไปเยี่ยมที่บ้านสม่ำเสมอ ซึ่งระบบออนไลน์ยังไม่สามารถจะบ่งชี้ได้ว่าเด็กเข้าถึงการเรียนการสอนได้เพียงใด

ท้ายสุด “ผู้ปกครอง” รวมถึง “โรงเรียน” และ “ครู” คือบุคคลที่มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้เด็กที่เคยพลาดพลั้งในระหว่างช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่สุดพวกเขาเหล่านี้ให้กลับมาสู่เส้นทางชีวิตที่มีอนาคต ซึ่งการมีพ่อแม่ผู้ปกครองที่จะพร้อมเข้าใจ ให้อภัยและช่วยลูกหลานฟันฝ่าปัญหาคือการรับมือกับปัญหาท้องในวัยเรียนได้ดีที่สุด แทนที่จะกระหน่ำซ้ำเติมเพิ่มปัญหาให้กับลูกหลาน

  สังคมเอาใจช่วย “เด็กท้องต้องไปต่อ”

สังคมเอาใจช่วย “เด็กท้องต้องไปต่อ”

สังคมเอาใจช่วย “เด็กท้องต้องไปต่อ”