พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้ 19 พ.ค.นี้
เตรียมออกกฎกระทรวงกำกับดูแลสหกรณ์ให้สอดคล้องกฎหมายใหม่
กรมส่งเสริมสหกรณ์หารือกระทรวงการคลังและแบงค์ชาติ ร่างกฎกระทรวงให้สอดคล้องกับพ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับใหม่ หลังลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมาและมีผลบังคับใช้ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2562 นี้ โดยเฉพาะมาตรา 89/2 เน้นกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน กำหนดหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อ ประเมินรายได้และความสามารถชำระหนี้ประกอบการพิจารณา เพื่อป้องกันความเสี่ยงและลดปัญหาหนี้ครัวเรือนของสมาชิกสหกรณ์
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า พระราชบัญญัติสหกรณ์ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นพ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับใหม่ ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2562 และจะผลบังคับใช้ภายใน 60 วัน หลังจากที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือในวันที่ 19 พฤษภาคม 2562 นี้ ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีการประชาสัมพันธ์กฎหมายฉบับนี้ไปยังสมาชิกสหกรณ์และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบเนื้อหาของพ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับใหม่ ขณะเดียวกันก็จะประชุมหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง ตลาดหลักทรัพย์ สมาคมตราสารหนี้ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เพื่อจัดทำร่างอนุบัญญัติ จำนวน 23 ฉบับ ประกอบด้วยกฎกระทรวง ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ และประกาศหลักเกณฑ์นายทะเบียนสหกรณ์ เพื่อให้สอดคล้องตามพ.ร.บ.สหกรณ์ โดยแบ่งเป็นอนุบัญญัติทั่วไป 10 ฉบับ ซึ่งส่วนใหญ่จะออกเป็นระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ เช่นเรื่องสมาชิกสมทบและการรับฝากเงิน กับอีกส่วนหนึ่งที่ต้องออกเป็นกฎกระทรวงตามมาตรา 89/2
เน้นการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน 13 ฉบับ โดยคณะทำงานประชุมหารือเพื่อพิจารณาร่างกฎกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2562 หลังจากนั้น วันที่ 2 พฤษภาคม 2562 จะประชุมรับฟังความเห็นเบื้องต้นจากผู้แทนสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตสหกรณ์ยูเนี่ยน ก่อนจะนำเผยแพร่ทางเว็บไซต์กรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้เสนอความคิดเห็นอีกครั้ง จากนั้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 กรมฯ จะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นการออกกฎกระทรวง ตามมาตรา 89/2 พร้อมถ่ายทอด Video Conference ไปทั่วประเทศ เมื่อขั้นตอนต่าง ๆ เสร็จสิ้นแล้ว จะรวบรวมความเห็นเสนอไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ เพื่อประกาศใช้ต่อไป
ทั้งนี้ มาตรา 89/2 เป็นหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน ซึ่งพ.ร.บ.เดิมไม่มีกำหนด แต่พ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับใหม่ออกมาเพื่อให้สหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันความเสี่ยงและรักษาเสถียรภาพทางการเงินทั้งระบบ โดยเฉพาะ มาตรา 89/2 (4) เรื่องการให้กู้และการให้สินเชื่อของสหกรณ์ เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญ เนื่องจากในปัจจุบันสหกรณ์ปล่อยสินเชื่อ ประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท ส่วนหนึ่งทำให้เกิดปัญหาหนี้สินครัวเรือนของสมาชิกสหกรณ์ รวมถึงเรื่องของการหักชำระหนี้ ซึ่งปัญหานี้จำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์ให้เหมาะสม เช่น การปล่อยสินเชื่อแก่สมาชิกสหกรณ์ จะต้องมีพิจารณาอย่างรอบคอบและรัดกุมมากยิ่งขึ้น โดยจะพิจารณาจากข้อมูลเครดิตบูโร รวมถึงความสามารถในการส่งชำระหนี้และรายได้เหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพของสมาชิกแต่ละรายมาประกอบการพิจารณาให้กู้ด้วย ขณะเดียวกันหลักทรัพย์และหลักประกันต่าง ๆ จะต้องมีความมั่นคงและเชื่อถือได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียในระบบสหกรณ์
นอกจากนี้ พ.ร.บ.สหกรณ์ มาตรา 42/1 กำหนดเรื่องการให้สิทธิสหกรณ์ในการหักชำระหนี้ เป็นเจ้าหนี้ลำดับที่ 1 รองจากหักภาษีอากรหรือเงินที่ต้องพึงหักให้รัฐ ปัจจุบันพบว่ามีบางหน่วยงานได้หักเงินเดือนชำระหนี้ให้กับธนาคารก่อนสหกรณ์ ซึ่งขัดกับหลักกฎหมาย ขณะนี้กรมฯได้เร่งทำความเข้าใจกับหน่วยงานต่างๆ ให้ดำเนินการให้ถูกต้อง ซึ่งส่วนหนึ่ง เป็นปัญหาสืบเนื่องมาจากการที่สหกรณ์ปล่อยสินเชื่อแก่สมาชิกบางรายเกินความสามารถที่จะชำระหนี้ได้ โดยเฉพาะกลุ่ม ผู้เกษียณอายุ ที่มีรายได้ต่อเดือนลดลง ทำให้เงินไม่เหลือพอหักชำระหนี้ส่งคืนสหกรณ์ ดังนั้น สหกรณ์จำเป็นต้องให้คำแนะนำแก่สมาชิกในการวางแผนการเงินก่อนถึงวันเกษียณอายุ ไม่น้อยกว่า 5 ปี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวในอนาคต
“พ.ร.บ.สหกรณ์ ฉบับใหม่นี้ ออกมาเพื่อดูแลในเรื่องของการกำกับสินเชื่อ และดูแลเงินของสมาชิกที่มาฝาก หรือถือหุ้นกับสหกรณ์ เมื่อสมาชิกลาออกจากสหกรณ์ หรือขอถอนเงินคืน ก็จะได้รับความคุ้มครอง ได้เงินคืนตามความมุ่งหวัง ซึ่งจะทำให้ระบบสหกรณ์ มีความมั่นคงและเกิดประโยชน์โดยรวมต่อสมาชิก และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด” รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว