ถอดบทเรียนสร้างวินัยการเงินไทย แชร์ประสบการณ์ในเวทีอาเซียน

ถอดบทเรียนสร้างวินัยการเงินไทย  แชร์ประสบการณ์ในเวทีอาเซียน

ระหว่างวันที่ 20-21 มิ.ย. 2562 ซึ่งเป็นเวทีที่เครือข่ายนักธุรกิจสตรีทั่วอาเซียนจะเข้าร่วมการนำเสนอผลงานในประเด็นต่างอยู่ในของ AWEN สากล

ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 ได้มีการดำเนินกิจกรรมโดยเฉพาะการประชุมที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือในอาเซียนหลายเวที รวมถึงการประชุมเครือข่า ผู้ประกอบการสตรีอาเซียนสากล หรือ ASEAN Women Entrepreneurs Network (AWEN) ระหว่างวันที่ 20-21 มิ.ย. 2562 ซึ่งเป็นเวทีที่เครือข่ายนักธุรกิจสตรีทั่วอาเซียนจะเข้าร่วมการนำเสนอผลงานในประเด็นต่างอยู่ในการขับเคลื่อนของ AWEN สากล

อย่างไรก็ตาม ก่อนการประชุมเครือข่ายระหว่างประเทศจะมีขึ้น เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2562 เครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียนประเทศไทย (AWEN – Thailand) ได้จัดประชุมหารือเพื่อถอดบทเรียนในแต่ละประเด็นที่ดำเนินการในประเทศไทยแล้วประสบความสำเร็จเพื่อนำเสนอเป็น “โชว์เคส” ในเวที AWEN สากล แลกเปลี่ยนกับประเทศต่างๆ นำไปสู่การปรับใช้และการพัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้นในภาพรวมของภูมิภาค

หนึ่งในประเด็นที่มีการถอดบทเรียนการทำงานน่าสนใจของประเทศไทยคือ “การสร้างวินัยการเงิน” แก่คนกลุ่มต่างๆ ทั้งพนักงานในองค์กรธุรกิจ โรงงาน และนักศึกษา ผ่าน “โครงการรณรงค์สร้างวินัยทางการเงิน 6 ภาคี” ซึ่งเป็นความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชนที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 อันมีจุดตั้งต้นจากโจทย์ใหญ่อย่าง คือปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงของสังคมไทย

คุณฐิตินันท์ วัธนเวคิน รองประธาน สหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในฐานะประธานดำเนินโครงการรณรงค์สร้างวินัยทางการเงิน 6 ภาคี กล่าวว่า โครงการฯ ได้ดึงองค์กรต่างๆ ทั้งภาคธุรกิจและสถาบันการศึกษาให้เข้าร่วมโครงการเพื่อกระจายความรู้เกี่ยวกับการสร้างวินัยการเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งนับว่าเป็นการทำงานระดับประเทศ เพราะปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาใหญ่ในเวลานี้ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนที่อนาคต ที่ต้องรับภาระเลี้ยงดูผู้สูงอายุที่อายุยาวนานขึ้น ถ้าเยาวชนหรือคนรุ่นที่เพิ่งเริ่มทำงานมีหนี้สินมาก จะกลายเป็นปัญหาพื้นฐานใหญ่หลวงในอนาคต

“สังคมไทยเรายังขาดต้นแบบเรื่องวินัยการเงิน รูปแบบโครงการจึงเป็นการสร้างต้นแบบที่เข้าไปช่วยให้ความรู้ ให้คำปรึกษาแก่นักศึกษา คนในที่ทำงานต่างๆ ให้เขาสามารถตามได้ รวมไปถึงให้ความรู้เกี่ยวกับภัยการเงิน เพราะขณะนี้เกิดปัญหามากในสังคม โดยเฉพาะคนในวัยเกษียณที่มีข่าวถูกหลอกให้นำเงินออมไปลงทุน” คุณฐิตินันท์ กล่าว
ทางด้านคุณเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้บริหารโครงการ Financial Literacy ภายใต้แผน 5 ปี สมาคมธนาคารไทย หนึ่งในภาคีของโครงการฯ กล่าวว่า ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของไทยสูงถึง 80% ของจีดีพี ซึ่งเมื่อเทียบกับขนาดของประเทศแล้วถือว่ามีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนสูงเป็นอันดับ3 ของอาเซียนและอันดับ 10 ของโลก ซึ่งอันดับดังกล่าวนี้ยังไม่ได้รวมหนี้นอกระบบ ในแวดวงวิชาการเองทุกคนรู้ วิเคราะห์ได้ว่าหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาใหญ่และมีสาเหตุจากอะไร เช่น มาจากทุกวันนี้คนใช้จ่ายได้ง่ายเพียงแค่กดมือถือ แต่ออมทำได้ยากกว่าจะเปิดบัญชีที่ธนาคารได้มีขั้นตอนมาก ซึ่งทั้งหมดสะท้อนไปที่สินเชื่อเพื่อการบริโภคช่วง 5 ปีที่ผ่านมาโตเฉลี่ย 7% แต่การออมโตเพียง 3% โดยสถานการณ์นี้เกิดขึ้นพร้อมกับการเข้าสู่สังคมสูงอายุที่ผู้สูงอายุหลังเกษียณกว่า 50% หวังพึ่งลูกหลานแต่ลูกหลานกลับมีหนี้สินสูง


“เรามองเห็นว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาที่มาจากระดับจุลภาค ที่จะใช้นโยบายระดับมหภาคอย่างนโยบายการคลังไปแก้ไม่ได้ จึงเป็นที่มาของโครงการฯ ที่ต้องเข้าไปให้ความรู้คนกลุ่มต่างๆ แบบพุ่งเป้า เช่นกรณีที่เราเข้าไปจับกลุ่มนักศึกษาที่กำลังจะจบเพราะมีข้อมูลของแบงก์ชาติระบุว่ากลุ่มคนวันเริ่มทำงาน 50% จะเริ่มกู้ตั้งแต่ปีแรกที่ทำงาน และ 1 ใน 5 ของคนกลุ่มนี้มีปัญหาหนี้เสีย เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ใครคนหนึ่งหรือหน่วยงานหนึ่งๆจะแก้ได้ ต้องร่วมมือกัน จึงเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานของสมาคมธนาคารร่วมกับ แบงก์ชาติและหน่วยงานอื่นๆ โดยนำหลักสูตรของตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้ามาใช้” คุณเบญจรงค์ กล่าว
 

“ปิยาภรณ์ ครองจันทร์” ผู้ช่วยผู้จัดการ สายงานพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีโครงการแฮปปี้ มันนี่ รู้หา รู้เก็บ รู้ใช้ รู้ขยายดอกผล 4 รู้สู่ความมั่นคงยามเกษียณ เป็นโครงการเพื่อสังคมมาตั้งแต่ปี 2552 เกิดขึ้นเพราะมองเห็นว่าสังคมไทยมีปัญหาหนี้สินมาก เป็นสังคมสูงอายุแต่ไม่มีเงินออม เป็นโครงการที่ให้ความรู้ให้กลุ่มเป้าหมายรู้จักงบดุลของตนเอง หรือของครอบครัว เมื่อมีรายรับต้องมีการออม มีการบริหารการใช้จ่ายและการนำเงินไปลงทุน
อย่างไรก็ตาม คนของตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่เพียงพอจึงกระจายความรู้คือการออกไปสร้างคนในองค์กรต่างๆ เพื่อให้เขาไปกระจายความรู้ในองค์กรต่อ จึงเป็นที่มาของการมาทำเอ็มโอยูร่วมกับอีก 5 องค์กรเป็นโครงการรณรงค์สร้างวินัยทางการเงิน 6 ภาคี ที่ขณะนี้ทำงานมาได้ 2 เฟสแล้ว มีบริษัทเอกชนต่างๆ เข้าร่วมโครงการ 111 บริษัท และมีผู้ที่ผ่านการอบรมและฝึกเพื่อเป็นผู้ให้ความรู้ทางการเงินไปส่งต่อความรู้ในองค์กรแล้ว 780 คน และล่าสุดตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้อบรมเจ้าหน้าที่จะไปเป็นวิทยากรให้กับแกนนำในแต่ละองค์กรที่ต้องการอีก 50 คน

ทางด้านคุณศรีศักดิ์ ไทยอารี ผู้อำนวยการ สภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า การทำงานของโครงการรณรงค์สร้างวินัยทางการเงิน 6 ภาคีกับเยาวชนนั้น ได้มุ่งไปที่กลุ่มนักศึกษา มีพื้นที่ต้นแบบในจังหวัดนครปฐมเนื่องจากมีสถานศึกษาจำนวนมาก โดยคัดเลือกมา 10 แห่ง โดยมหาวิทยาลัยคัดเลือกนักศึกษาเข้ามาร่วม โดยให้ความรู้ 3 ส่วน 1.วินัยการเงิน 4 รู้สู่ความมั่นคง ของตลาดหลักทรัพย์ 2.ความรู้เกี่ยวกับภายการเงิน โดยแบงก์ชาติ และ 3.การต่อต้านคอร์รัปชั่น โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.)
“จากการทำงานมา 2-3 ปี ขณะนี้มีคนได้ประโยชน์ได้รับความรู้ไปแล้วกว่า 8,000 คน ได้หลักสูตรความรู้ที่ว่าถ้าจะสอนนักศึกษาทั้งวินัยการเงิน ภัยการเงิน เรื่องคอร์รัปชั่นจะต้องสอนอะไรบ้าง คู่มือสอนแกนนำนักศึกษาที่เขาจะไปสอนคนอื่น มหาวิทยาลัยสามารถมีหลักสูตรที่สอนเขาอย่างครบวงจรได้”คุณศรีศักดิ์ กล่าว
นอกจากระดับผู้นำเครือข่ายที่มาร่วมประชุมเพื่อถอดบทเรียนที่ได้จากการทำงาน ยังมีบริษัทเอกชนอีก 7 แห่งที่ร่วมนำเสนอความสำเร็จการนำหลักสูตรความรู้เข้าไปกระจายให้กับคนในองค์กรและสามารถแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของพนักงานได้จริง โดยทั้งหมดนี้จะถูกรวบรวมเพื่อนำเสนอเป็นโชว์เคสของประเทศไทยในเวทีประชุม AWEN สากลต่อไป

ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ

กัญญารัตน์ เกียรติชัยรินทร์ 064-949-6594