โครงการท่อร้อยสายสื่อสารลงดิน

โครงการท่อร้อยสายสื่อสารลงดิน

'กรุงเทพธนาคม' ชี้ 'โครงการท่อร้อยสายสื่อสารลงดิน' โปร่งใส ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด

ที่บริษัท กรุงเทพธนาคมจำกัด ดร.เอกรินทร์ วาสนาส่ง รองกรรมการผู้อำนวยการสายยุทธศาสตร์และพัฒนาเมือง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด แถลงตอบกรณีข้อห่วงใยของนักวิชาการและสื่อมวลชนต่อโครงการท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดินของกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับมูลค่าของโครงการที่มีข้อกังวลว่าอาจส่งผลกระทบต่ออัตราการเรียกเก็บค่าบริการในอัตราสูงเกินจริง รวมถึงความโปร่งใสในการสรรหาผู้รับเหมางาน และการสรรหาผู้ใช้บริการความจุหลัก โดยมี บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ในฐานะวิสาหกิจในกำกับของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ นั้น

ขั้นตอนสรรหาผู้รับเหมา EPC ยึดหลักคุณภาพและคุณสมบัติทางเทคนิค ป้องกันการทิ้งงาน

ดร.เอกรินทร์ กล่าวว่า ทันทีที่กทม.มอบหมายให้บริษัทกรุงเทพธนาคม เป็นเจ้าของโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน และลงทุนเองทั้งหมด โดยมีการทำบันทึกข้อตกลงมอบหมายงานเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.61 ในเดือนม.ค.62 กรุงเทพธนาคมได้ดำเนินการสรรหางาน EPC หรือการจ้างเหมาทั้งงานออกแบบวิศวกรรม การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ การก่อสร้างแบบครบวงจร รวมถึงดำเนินการสรรหาผู้ใช้บริการ สรรหาแหล่งเงินทุน สรรหาที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้าง และผลักดันการขับเคลื่อนโครงการ เพื่อให้โครงการแล้วเสร็จทันกำหนด

สำหรับขั้นตอนดำเนินการสรรหาผู้รับเหมางาน EPC มีผู้รับเอกสารทั้งสิ้น 55 ราย ยื่นข้อเสนอ 8 ราย ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น 3 และผ่านการพิจารณาคัดเลือกเมื่อวันที่ 9 เม.ย.62 จำนวน 3 ราย ซึ่งในการคัดเลือกนั้นได้มีการคัดกรองคุณภาพเบื้องต้นก่อนจะมีการยื่นข้อเสนอและคัดเลือก โดยเฉพาะคุณสมบัติทางเทคนิค และความมั่นคงทางการเงินของบริษัท เพื่อไม่ให้เกิดการทิ้งงาน เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อโครงการฯ ได้ ซึ่งขณะนี้ได้ผู้ชนะงานรับเหมาก่อสร้างทั้ง 4 พื้นที่ของกรุงเทพฯ เรียบร้อยแล้ว และพร้อมเดินหน้าโครงการเพื่อให้แล้วเสร็จทันระยะเวลาที่กำหนด 2 ปี

สรรหาผู้ใช้บริการความจุใหญ่โปร่งใส มีการลงประกาศตามขั้นตอน พร้อมส่งหนังสือเชิญยื่นเสนองาน

ขณะที่ด้านการสรรหาผู้ใช้บริการความจุใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ใช้บริหารหลัก ได้ดำเนินตามขั้นตอนด้วยความโปร่งใส ไม่ได้มีลักษณะการปกปิด หรือจงใจไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ จนเป็นเหตุให้มีผู้ยื่นข้อเสนอและผ่านเกณฑ์พิจารณาเพียง 1 ราย ตามที่มีการกล่าวหา โดยมีการประกาศผ่านทางหนังสือพิมพ์ต่างๆ เว็บไซต์ของบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด รวมถึงเปิดให้ลงชื่อแสดงเจตจำนงในการยื่นข้อเสนอใช้บริการโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งมีผู้แสดงเจตจำนง 9 ราย จากนั้นได้ส่งหนังสือเชิญชวนผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง จำนวน 16 ราย รวมเป็น 25 ราย รับเอกสารเชิญชวน 16 ราย แต่มีเพียง 1 ราย ที่ยื่นข้อเสนอ คือ บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด และผ่านเกณฑ์คัดเลือกตามาตรฐานที่กำหนดเมื่อวันที่ 24 พ.ค.62 ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจาเรื่องราคา แต่ยังไม่ได้มีการลงนาม หรือดำเนินการใดๆ ตามที่สื่อนำเสนอ

ทั้งนี้ รูปแบบการดำเนินโครงการไม่เข้าหลักเกณฑ์และวิธีการตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ และเป็นไปตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม ซึ่งผู้ใช้บริการความจุ มีสถานะเป็นลูกค้า และผู้ใช้บริการโครงข่ายท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินของกรุงเทพธนาคม ไม่ได้มีการให้สัมปทาน หรือมีการโอนสิทธิ์แต่อย่างใด

กสทช. เป็นหน่วยงานเดียวที่กำกับดูแลและกำหนดราคาค่าบริการ

ส่วนการกล่าวอ้างตัวเลขค่าบริการราคาสูงถึง 21,000 -27,000 บาท/ซับดัก/กิโลเมตร/เดือน นั้น ขณะนี้ยังไม่มีกำหนดอัตราค่าบริการ แต่อย่างใด เนื่องจากการกำหนดอัตราค่าบริการของโครงข่ายท่อร้อยสายสื่อสารฯ เป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการกำกับดูแลและกำหนดราคาโดยตรง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า กสทช. จะมีมาตรการสนับสนุน และจูงใจ เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกรายสามารถใช้ท่อร้อยสายสื่อสารได้ในราคาที่เป็นธรรม และเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ
ขณะเดียวกันกรุงเทพธนาคม และผู้ใช้บริการหลัก ไม่อาจเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ใช้บริการรายอื่นเกินกว่าอัตราที่ กสทช. กำกับและกำหนดได้ ดังนั้นข้อกล่าวหาราคาค่าบริการโครงข่ายท่อร้อยสายของกรุงเทพธนาคม จะแพงกว่าผู้ประกอบการรายอื่นถึง 3 เท่านั้น ไม่เป็นความจริง

ท่อร้อยสายกทม.โครงการใหม่ ลงทุนใหม่ คุ้มค่า ไม่ซ้ำซ้อน

การดำเนินโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินของกรุงเทพมหานคร เป็นการลงทุนใหม่ คุ้มค่ากว่า และสามารถใช้งานได้ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายคือ 50 ปี เพื่อไม่ให้เกิดการ ขุดๆ กลบๆ อย่างที่เคยผ่านมาอีก โดยกรุงเทพธนาคมเลือกใช้เทคโนโลยีไมโครดัก เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่ รองรับการขยายตัวในอนาคต ประหยัดพื้นที่ใต้ฟุตบาท ไม่ได้เป็นโครงการซ้ำซ้อนกับโครงการท่อร้อยสายของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่มีท่อร้อยสายอยู่เดิม โดยท่อของทีโอทีส่วนใหญ่อยู่ใต้ถนน อีกทั้งปัจจุบันยังไม่สามารถนำสายสื่อสารจำนวนมากลงดินได้ตามเป้าหมาย จนเกิดเป็นปัญหารกรุงรัง และเกิดอันตรายกับประชาชนที่สัญจรทั้งบนทางเท้าและถนน

ส่วนท่อเดิมที่ทีโอที และ CAT มีใช้งานอยู่นั้น กทม.ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว ยังสามารถให้ใช้งานต่อได้ จึงไม่ถือเป็นการผูกขาด เพียงแต่กทม.จะดำเนินการวางโครงข่ายท่อร้อยสายใหม่ทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ จึงไม่มีความจำเป็นต้องทำซ้ำซ้อน แต่สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกับโครงข่ายของกทม.ได้ ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จ กรุงเทพธนาคม จะเปิดให้ทุกบริษัทสามารถเช่าท่อร้อยสายได้อย่างเสมอภาคในราคาที่เป็นธรรม เหมาะสม และยังเหลือเพียงพอที่จะให้บริการกับผู้ใช้บริการรายอื่นที่จะพึงมีในอนาคต ภายใต้การกำหนดราคาของ กสทช. และให้กทม.ได้ร่วมใช้ในกิจการของกทม. โดยไม่คิดค่าบริการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

ยืนยันทุกขั้นตอนเป็นไปตามกฎหมาย คำนึงถึงประชาชนสูงสุด

กทม. และ กรุงเทพธนาคม ไม่ใช่องค์กรแสวงผลกำไร และไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่ผลประกอบการเป็นที่ตั้ง พร้อมเดินหน้าจัดระเบียบสายสื่อสารที่พาดสายรกรุงรัง เพื่อความปลอดภัยของประชาชน และเพื่อความสวยงามของเมือง ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี ตามนโยบายของรัฐบาล โอกาสนี้ กรุงเทพธนาคม ขอขอบคุณทุกความห่วงใยและข้อวิตกกังวลต่างๆ พร้อมยืนยันว่า การดำเนินการของบริษัทฯ เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย รวมถึงระเบียบและข้อบังคับต่างๆ เพื่อให้กรุงเทพฯ เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม และปลอดภัย ในราคาที่เป็นธรรม ให้ผู้ใช้บริการสามารถประกอบกิจการได้ในอัตราที่ กสทช. กำหนด ส่งผลให้ประชาชน ซึ่งเป็นผู้รับบริการปลายทาง ได้รับบริการจากโครงข่ายโทรคมนาคมและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป