ภาครัฐเดินหน้าแก้ไขปัญหากระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม
บจธ. เร่งรัดธนาคารที่ดิน พร้อมเดินหน้า 4 โครงการ ช่วยเกษตรกรมีที่ดินทำกิน
บจธ. เดินหน้าตามนโยบายของรัฐ เพื่อสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมสนับสนุนการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรมและยั่งยืน สร้างความมั่นคงให้แก่เกษตรกรที่ขาดแคลนที่ดินทำกินเป็นของตนเอง สนับสนุนการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเหมาะสม ผ่าน 4 โครงการหลัก พร้อมเร่งรัดดำเนินการจัดตั้งธนาคารที่ดินอย่างเป็นรูปธรรม
นายขจรศักดิ์ เจียรธนากุล ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. เปิดเผยถึงการดำเนินงานของ บจธ. ที่ผ่านมาว่าภายหลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฏ.) จัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาครที่ดิน (บจธ.) เมื่อปี 2554และได้มีการต่ออายุ พ.ร.ฎ. นี้มาแล้ว 2 ครั้ง ก่อนจะมีการต่ออายุอีกครั้งเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 ออกไปเป็นเวลา 3 ปี เพื่อให้ บจธ . ได้ดำเนินการจัดตั้งธนาคารที่ดินและเดินหน้าผลักดันโครงการนำร่องต้นแบบการจัดการที่ดินใน 4 รูปแบบ (โมเดล) ให้เป็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
ผู้อำนวยการ บจธ. ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ภารกิจหลักที่ บจธ. ต้องเร่งดำเนินการ คือการจัดตั้งธนาคารที่ดิน ซึ่ง บจธ.ต้องจัดทำข้อเสนอในการจัดตั้งธนาคารที่ดินเสนอให้ครม. พิจารณาเห็นชอบภายในวันที่ 7 มิถุนายน 63 เพื่อผลักดันให้เกิดธนาคารที่ดินอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป โดยมีภารกิจที่สองที่จะต้องดำเนินการควบคู่กันไป คือการจัดหารูปแบบหรือโมเดลที่จะใช้ในการกระจายการถือครองที่ดิน เมื่อมีการจัดตั้งธนาคารที่ดินแล้ว เพื่อจะให้เกิดความเป็นธรรมและเกิดประโยชนธ์สูงสุด ไม่เป็นภาระงบประมาณในระยะยาว ซึ่งรูปแบบหรือโมเดลที่ทาง บจธ. ได้ดำเนินการจัดทำขึ้น โดยเป็นโครงการนำร่องที่อาจะมีการขยายผลหรือปรับปรุงเงื่อนไขบางอย่างในอนาคต ในขณะนี้มีด้วยกัน 4 โมเดลคือ
1. โครงการนำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัดคือเชียงใหม่และลำพูนโดยมีเครือข่ายเกษตรกรที่ขอรับความช่วยเหลือประมาณ 49 ครัวเรือนซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ บจธ. ได้ดำเนินการตามมติ ครม. เพื่อ แก้ไขปัญหาที่ดิน ภายใต้งบประมาณ 167 ล้านบาท ซึ่งมีความคืบหน้าในการดำเนินโครงการในพื้นที่จังหวัดลำพูน จำนวน 4 ชุมชน โดย บจธ. ได้ดำเนินการซื้อที่ดินเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1 ชุมชน ที่ยังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อขอซื้อที่ดิน ซึ่งยังมีความล่าช้าเนื่องมาจากปัจจัยหลายอย่างอาทิ ราคาที่ดินได้ปรับตัวสูงกว่าเดิมค่อนข้างมาก หรือ บางแปลงเป็นพื้นที่ของทางราชการ เช่น ที่ดินโรงเรียนหรือบางแปลงเป็นที่ดินที่เจ้าของเดิมยังไม่ตกลงขาย หรือเป็นที่ดินในกองล้มละลายซึ่งต้องผ่านกระบวนการของกรมบังคับคดีที่ต้องใช้เวลาอีกนาน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม บจธ. ได้หารือร่วมกับเครือข่ายชุมชนในการแก้ปัญหาด้วยการให้ชุมชนนำเสนอพื้นที่แปลงใหม่ ซึ่งขณะนี้ชุมชนได้เสนอพื้นที่แปลงใหม่แล้ว และอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อซื้อพื้นที่
2. โครงการต้นแบบการบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจร เป็นโครงการที่สนับสนุนให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่ได้รับอย่างเหมาะสมและประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย โดยเริ่มต้นเกษตรกรจะต้องมีการรวมกลุ่มในรูปแบบของสถาบันเกษตรกร เช่นสหกรณ์ หรือวิสาหกิจชุมชน ซึ่งมีรายชื่อและจำนวนสมาชิกที่ชัดเจน โดยจะต้องมีเป้าหมายหลักในการกระจายการถือครองที่ดินให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนกล่าวคือ จะต้องมีแผนงานที่ชัดเจนในการจะใช้ประโยชน์และจัดสรรที่ดินให้กับสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งทาง บจธ.จะมีหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือดูแลตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำโดยในเบื้องต้น บจธ. จะเป็นผู้ลงสำรวจพื้นที่ตรวจสอบความเหมาะสมในการใช้ที่ดินสำหรับเป็นที่ทำกินดูความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำ รวมถึงปัจจัยแวดล้อมในการผลิตต่างๆ เพื่อจัดซื้อที่ดินต่อไป
นอกจากการสนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มเสนอโครงการ จัดทำข้อมูลวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ และจัดทำข้อมูลวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ และจัดหาที่ดินให้แก่เกษตรกรตามเป้าหมายแล้วในโมเดลนี้ยังสนับสนุนการบริหารจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน และสร้างอาชีพที่มั่นคงแก่เกษตรกรด้วยการส่งเสริมอาชีพด้วย โดย บจธ. ได้ร่วมกับ 15 หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนดำเนินการส่งเสริมด้านอาชีพดูแลกระบวนการผลิตไปจนถึงการตลาด ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้วใน 4 พื้นที่ ได้แก่ ชุมชนใน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ชุมชนน้ำแดงพัฒนา อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎ์ธานี ชุมชนใน ต.ริมกก อ.เมือง จ.เชียงราย และชุมชนใน จ.นครศรีธรรมราช โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการประมาณ 150 ครัวเรือน ในวงเงินงบประมาณ 50 ล้านบาท
3. โครงการแก้ปัญหาสูญเสียสิทธิในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจน ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558-2559 เพื่อช่วยแก้ไขปัญหากรณีที่เกษตรกรนำที่ดินไปจำนองกับสถาบันการเงินหรือขายฝากกับนายทุน แล้วหลุดจำนองหรือขายฝากเจ้าหนี้และถูกยึดไป
“ปัญหานี้เราพบมากที่สุด คือเกษตรกรที่กู้ยืมเงินจากเราไปไถ่ถอนที่ดิน มักจะไปเป็นผู้ค้ำประเงินกู้ให้คนอื่นด้วย และเมื่อลูกหนี้ที่ไปค้ำประกันให้ชำระหนี้ไม่ได้ เจ้าหนี้ก็จะมาบังคับคดีกับที่ดินที่จำนองไว้กับ บจธ.ก็จะแก้ปัญหานี้โดยการไปซื้อที่ดินดังกล่าวมา แล้วนำมาให้เจ้าของที่เช่าซื้อต่อโดยมีระยะเวลาเช่าซื้อสูงสุดได้ถึง 30 ปี ด้วยวิธีการนี้จึงมั่นใจได้ว่าต่อให้คุณเป็นหนี้สินล้มพ้นตัวคุณก็จะยังมีที่ดินทำกิน ที่ดินจะไม่หลุดมือไปแน่นอน”ผู้อำนวยการ บจธ. กล่าว
4. โครงการช่อยเหลือผู้ประสบปัญหาด้านที่ดินจากการดำเนินนโยบายของรัฐ โดย บจธ. จะเข้าไปดำเนินการจัดหาที่ดินแห่งใหม่ให้แก่กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว เช่น กรณีของชุมชนที่ ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ในพื้นที่ EEC และชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีความต้องการพื้นที่สำหรับใช้ในการประกอบอาชีพจำนวนไม่มากนัก ส่วนที่อยู่อาศัย บจธ. จะได้ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ดำเนินการแกไขปัญหาอยู่ในขณะนี้
ทั้ง 4 โครงการที่ บจธ. ได้ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ถือเป็นโมเดลล้วนดำเนินการเพื่อตอบสนองนโยบายของภาครัฐที่ต้องการให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ประชาชนในทุกกลุ่ม โดยเฉพาะโมเดลที่สองนั้น บจธ. คาดว่าจะเป็นรูปแบบที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการนำไปใช้เมื่อมีการจัดตั้งธนาคารที่ดิน ซึ่งภายในปี 2563 นี้ เราคงจะได้เห็นความชัดเจนขอธนาคารที่ดินอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นแน่นอน