“Inverted Yield Curve” วิกฤติ โอกาส หรือ โอกาสในวิกฤติ?

“Inverted Yield Curve” วิกฤติ โอกาส หรือ โอกาสในวิกฤติ?

 

เชื่อว่าตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หลายคนคงได้ยินข่าว เกี่ยวกับปรากฎการณ์ “Inverted Yield Curve” ในตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ กันบ้าง เหล่านักลงทุนตัวจริงเสียงจริงคงรู้และเข้าใจดีว่าคืออะไร เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงอะไร แต่บางส่วนอาจยังมึนงงสงสัยอะไรกันคือ “Inverted Yield Curve” แล้วบ่งบอกถึงอะไร และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ นักลงทุนจะรับมือกับผลกระทบที่อาจจะตามมาอย่างไร รวมทั้งมีวิธีไหนที่จะช่วยรักษาพอร์ตการลงทุนของเราให้ไปถึงเป้าหมายตามที่ตั้งใจไว้

มาทำความรู้จัก “Inverted Yield Curve” กันครับว่าคืออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร และส่งสัญญาณบ่งบอกอะไรหลายคนบอกว่า แค่ “Yield เฉยๆ ก็ชวนหลับแล้ว นี่ยังมาบวก กับ “inverted พ่วงท้ายด้วย curve เท่านั้นไม่พอยังมี “พันธบัตร” อีกด้วย...เฮ้อ! ล้วนน่าปวดเฮด เรื่องนี้ถ้าจะอธิบายให้ง่ายๆ คงต้องเริ่มจาก Yield

ลองจินตนาการว่าเราเป็น คนปล่อยเงินกู้ หรือ เจ้าหนี้โดยมีรัฐบาลเป็นผู้กู้หรือ ลูกหนี้ ซึ่งแน่นอนว่า คนเป็น “เจ้าหนี้ ย่อมอยากได้ “ผลตอบแทน” จากการปล่อยเงินกู้ ซึ่งในที่นี้อาจเรียก “ผลตอบแทน” ให้สละสลวยเป็นภาษาการลงทุนก็เทียบได้กับ “yield” และการปล่อยกู้เงินก็เทียบได้กับการซื้อ “พันธบัตรรัฐบาลนั่นเอง    

โดยปกติแล้ว เจ้าหนี้ที่ปล่อยกู้ระยะยาว ย่อมต้องการได้ “ผลตอบแทน” ที่ “มากกว่า” การปล่อยกู้ระยะสั้น เนื่องจากมีโอกาสเจอความเสี่ยง เช่น ความผันผวนจากภาวะเศรษฐกิจที่มากกว่าระยะสั้น ขอยกตัวอย่างให้เห็น ภาพชัดขึ้น ถ้าเราจะคาดการณ์สุขภาพเราในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร ระหว่างในอีก 1 ปี กับ 10 ปีข้างหน้า แน่นอนว่า การคาดการณ์ในระยะเวลาอันสั้น คือ 1 ปี ย่อมมีความ “ใกล้เคียง” ความเป็นจริงมากกว่า ขณะที่คาดการณ์ในอีก 10 ปีขางหน้านั้น คงจะหาความแม่นยำได้ค่อนข้างยาก

นั่นก็เป็นเรื่องของผลตอบแทนคาดหวังในภาวะที่เป็น “ปกติ คือ เศรษฐกิจยังมีการขยายตัวในอนาคต

แต่ในภาวะที่ “ไม่ปกติ” เช่น เมื่อนักลงทุนคาดการณ์ว่าจะเกิดเศรษฐกิจถดถอยในอนาคต อาจทำให้นักลงทุน “เลือก ที่จะรับผลตอบแทน” หรือ “yield” จากการลงทุนที่ “แน่นอน” เอาไว้ก่อน โดยซื้อพันธบัตรระยะยาว (เช่น พันธบัตรอายุ 10 ปี) แทนที่จะซื้อพันธบัตรระยะสั้น (เช่น พันธบัตรอายุ 2 ปี) และ รอลุ้น ว่าอัตราผลตอบแทนจะเป็นเท่าไรเมื่อเกิดเศรษฐกิจถดถอยขึ้นจริงในอนาคตเนื่องจากมีโอกาสที่จะได้รับดอกเบี้ยน้อยลงเพราะธนาคารกลางของประเทศต่างๆ มักจะ “ลดดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ผลจากการที่นักลงทุนแห่ซื้อพันธบัตรระยะยาวกันมาก อาจทำให้เกิดภาวะที่พันธบัตรที่มีอายุยาวกว่า (เช่น พันธบัตรอายุ 10 ปี) ให้ผลตอบแทน หรือ yield ที่ “น้อยกว่า พันธบัตรที่มีอายุสั้นกว่า (เช่นพันธบัตรอายุ 2 ปี) นั่นก็คือ ภาวะที่เรียกว่า“Inverted Yield Curve” นั่นเอง

จริงๆ แล้ว ภาวะ “Inverted Yield Curve ในตลาดพันธบัตรสหรัฐฯเกิดมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ที่ไม่เป็นข่าวใหญ่โตและนักลงทุนไม่ตกใจ เพราะไม่ได้เกิดในพันธบัตรรุ่นอายุ 2 ปี กับ 10 ปี ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่บ่งชี้การเกิดเศรษฐกิจถดถอยได้ค่อนข้างแม่นยำ ถ้าถามว่าแม่นยำขนาดไหน? ก็แค่ขนาดที่ว่าย้อนกลับไปวิกฤติเศรษฐกิจ 5 ครั้งหลังนั้น พบว่าเมื่อพันธบัตรรุ่นอายุ10 ปี ให้ผลตอบแทน “น้อยกว่า” พันธบัตรรุ่นอายุ 2 ปีเมื่อไหร่ ก็มักจะตามมาด้วยวิกฤติเศรษฐกิจทุกครั้ง อย่างไรก็ดี วิกฤติเศรษฐกิจไม่ได้เกิดทันทีหลังเกิด Inverted Yield Curve โดยจากการศึกษาของ LPL research และข้อมูลจาก FactSet นั้น พบว่าวิกฤติเศรษฐกิจจะเกิดใน 18 – 35 เดือนหลังเกิด Inverted Yield Curve ในพันธบัตรรุ่น 10 ปีกับ 2 ปี

ทำความรู้จักกับ Inverted Yield Curve กันไปแล้ว ทีนี้เราควรจะเตรียมตัวจัดพอร์ตการลงทุนอย่างไร เพื่อรับมือกับวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต?

โดยปกติแล้ววิกฤติเศรษฐกิจนั้น มักเกิดทุกๆ 10 ปี และนับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจครั้งล่าสุดในปี 2008 จนถึงปัจจุบันก็เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วดังนั้น จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเราอยู่ “ใกล้” เวลาที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจอีกครั้งถึงแม้เราไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้เป๊ะๆ แต่ก็สามารถเตรียมพอร์ตและแผนการลงทุนให้รองรับวิกฤติเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายการลงทุนที่เราต้องการได้

ใครที่วางแผนลงทุนเพื่อเป้าหมายระยะยาว (ระยะเวลาตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป) เช่น เพื่อการเกษียณ สัดส่วนการลงทุนที่ผู้เขียนคิดว่าเหมาะสมคือการลงทุนในหุ้นหรือกองทุนหุ้นเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในระยะยาว และในช่วงเวลาที่เกิด “วิกฤติ นั้น ถือเป็น โอกาส” อันดีที่ผู้ลงทุนระยะยาวจะเข้าไปลงทุนในหุ้นหรือกองทุนหุ้น เพราะจะเป็นช่วงที่มีการ “ลดราคา ลงมาอย่างรวดเร็ว ด้วยนักลงทุน กลัวความเสี่ยง” จึงพากันกระหน่ำขายหุ้นออกมานั่นเอง และหันไปลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ หรือกองทุนรวมสินทรัพย์ทางเลือกในส่วนที่เหลือของพอร์ตการลงทุน

ทั้งนี้ หลายคนอาจคิดว่าควรมีการเตรียมสภาพคล่องไว้ด้วยการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นช่วงก่อนเกิดวิกฤติ และเมื่อตลาดหุ้นปรับตัวลงค่อยขายกองทุนตราสารหนี้เพื่อไปซื้อกองทุนรวมหุ้น นั่นก็อาจจะสามารถทำได้ แต่เนื่องจากเราไม่สามารถคาดการณ์ได้แน่นอนว่าจะเกิดวิกฤติเมื่อไรดังนั้น การเตรียมสภาพคล่องไว้ล่วงหน้า อาจไม่ได้ช่วยเพิ่มผลตอบแทนของการลงทุนมากนัก และอาจจะทำให้เสียโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการที่ราคาหุ้นปรับขึ้นไป รวมทั้งเงินปันผลที่ควรจะได้หากหุ้นนั้นเป็นหุ้นที่จ่าย “ปันผล

สำหรับผู้ที่มีเป้าหมายการลงทุนในระยะกลาง (ระยะเวลา 3 – 7 ปี) เช่น เพื่อการศึกษาบุตร เพื่อการซื้อรถยนต์คันใหม่ เพื่อเป็นเงินดาวน์บ้านหลังใหม่นั้น สัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมน่าจะยังต้องมีหุ้นหรือกองทุนหุ้นเป็นส่วนประกอบในปริมาณครึ่งหนึ่งของพอร์ทการลงทุน ส่วนอื่นๆ อาจลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ รวมถึงสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ เช่น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์(REITs) เป็นต้น

ส่วนผู้ที่มีเป้าหมายการลงทุนในระยะสั้น (ระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี) สัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมนั้น อาจจะต้องลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นลง เพราะมีความผันผวนค่อนข้างสูง และแน่นอนว่าสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความผันผวนต่ำและมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นในยามเกิดวิกฤติเศรษฐกิจก็ควรจะเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน


ในวิกฤติมักมี “โอกาส” แทรกอยู่เสมอ ขึ้นอยู่กับเราที่จะต้อง
มองหามันให้เจอ และนี่ก็เป็น โอกาส ใน วิกฤติ หลังจากเกิด “Inverted Yield Curve” โดยผู้ที่สนใจการลงทุน หรือต้องการวางแผนจัดสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมกับเป้าหมายการลงทุน สามารถขอคำปรึกษา และข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.tmbbank.com/tmbadvisory หรือ โทร.TMB Investment Line 1558 กด #9