ไทยซับคอน ประกาศเดินหน้าแนวทางการพัฒนาสมาชิกผู้ผลิตชิ้นส่วนกว่า 400 โรงงาน เพิ่มโอกาสทางการค้า สู่อุตสาหกรรม S-Curve
ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 ณ โรงแรมมิราเคิล สนามบินสุวรรณภูมิ สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย หรือไทยซับคอน ได้จัดการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมชุดใหม่ เพื่อรวมพลคนรุ่นใหม่ นำเสนอแผนงาน แนวความคิด โครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะช่วยพลิกวิกฤตเศรษฐกิจของสมาชิก ให้เดินหน้าได้อย่างเข้มแข็ง โดยนายเกียรติศักดิ์ จิระขจรวงศ์ นายกสมาคม ได้แถลงวิสัยทัศน์เพื่อเดินหน้าสมาคมไว้ 2 ประการ คือ
- สมาคมมีความเข็มแข็ง เป็นที่พึ่งและกระดูกสันหลังของกลุ่มอุตสาหกรรมไทย
- สมาคมมีชื่อเสียงในระดับสากลเป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
หนึ่งในนโยบายที่ตอบรับวิสัยทัศน์ ดังกล่าว คือการผลักดันสมาชิก การเป็นผู้ผลิตในอุตสาหกรรมใหม่ ใน S-Curve ซึ่งไทยซับคอนสามารถรวมกลุ่มสมาชิก สร้างคลัสเตอร์ได้เข้มแข็งในระดับหนึ่งแล้ว จำนวน 5 คลัสเตอร์ ได้แก่
- คลัสเตอร์อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติเพื่อการอุตสาหกรรม (Automation for industry cluster)
- คลัสเตอร์อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics cluster)
- คลัสเตอร์อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Parts & Equipment cluster)
- คลัสเตอร์อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (Defense Industry cluster)
- คลัสเตอร์อุตสาหกรรมระบบราง (TSC Railway System cluster)
คุณเกียรติศักดิ์ จิระขจรวงศ์
นายกสมาคมTHAI SUNCON(ซ้าย) และ คุณวรากร กติกาวงศ์
โฆษกสมาคมและกรรมการบริหารสมาคม(ขวา)
ซึ่งแต่ละคลัสเตอร์สมาคมฯ จะเชื่อมโยงให้สมาชิกได้เข้าถึงผู้ซื้อ ให้ได้รับการถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เพราะโดยพื้นฐานสมาชิกมีความชำนาญในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีเทคโนโลยีทันสมัย การแข่งขันในอุตสาหกรรมยานยนต์ค่อนข้างสูง สมาชิกจึงต้องพัฒนาตนองให้แข่งขันได้อยู่ตลอดเวลา ดังนั้น อุตสาหกรรมใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนอะไร สมาชิกไทยซับคอนสามารถทำได้หมด เพียงแต่ต้องได้รับโอกาส ในการผลิต ให้สมาชิกไทยซับคอนได้เป็นจุดเริ่มต้น เป็นก้าวแรกที่จะสร้างอุตสาหกรรม S-Curve ให้สมารถพัฒนาตนเองให้แข่งขันในระดับสากลได้ต่อไป หากวันนี้ภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุน แน่นอนว่าต่อไปประเทศไทยจะพึ่งพาตนเองได้ ไม่ต้องนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์ในอุตสาหกรรมข้างต้นจากต่างประเทศอีกต่อไป
แน่นอนว่า ใน 2 ปีนี้ สมาคมฯ ต้องช่วยสมาชิกให้สำเร็จ ต้องมีบริษัทสมาชิกได้แจ้งเกิดในอุตสาหกรรมทั้ง 5 ซึ่งจากการดำเนินงานต่าง ๆ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคลัสเตอร์ต่าง ๆ ก็ได้รู้จักและเข้ามามีส่วนร่วมกับสมาคมไทยซับคอนมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น
(1) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ช่วงวิกฤตโรคระบาด Covid-19 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความต้องการหน้ากาก N95 เป็นจำนวนมาก แต่ไม่ว่าโรงพยาบาลจะมีเงินเพื่อสั่งซื้อหน้ากาก N95 ก็ไม่สามารถที่จะหาของมาสนับสนุนการทำงานบุคลกรทางกาแพทย์ของตนได้ จึงมีคุณหมอและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยทางการแพทย์ต่าง ๆ ติดต่อขอวิจัยพัฒนาร่วม เพื่อให้สมาคมฯ ผลิตหน้ากากพร้อมเครื่องกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (PAPRs) ให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ใช้ต่อสู้กับ Covd-19 ซึ่งก็ได้รับการยอมรับและมีการใช้งานจริงจากคุณหมอ โดยในช่วงการระบาดอย่างหนักของ Covid-19 สมาคมๆ และหน่วยงานพันธมิตรก็ได้มีการผลิตและบริจาค PAPRs ดังกล่าว ไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ กว่า 1,000 เครื่อง (2) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมการบินฯ และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ แต่เดิมการผลิตชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมการบินนั้น สมาชิกยังไม่สามารถข้าถึงได้ เนื่องจากไม่มีประสบการณ์ในการผลิตงานและไม่มีมาตรฐานในอุตสาหกรรมนี้ ทำให้บริษัทผู้ซื้อ ไม่สนใจที่จะให้ผู้ประกอบการไทยได้ผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องให้กับตน แต่หลังจากที่รัฐบาลประกาศ S-Curve ที่ 11 คือ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ทำให้สมาชิกสมาคมฯ รับโอกาสทั้งจากกองทัพอากาศ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่ช่วยเปิดโอกาส มอบหมายนโยบายให้บริษัทอุตสาหกรมการบิน จำกัด (TAI) ที่ทั้งสองหน่วยงานเป็นผู้ถือหุ้น ได้มาสนับสนุน ผลักดัน เปิดโอกาส เริ่มทำโครงการกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดคณะให้สมาชิกได้ไปดูงานศูนย์ซ่อมอากาศยานที่ตาคลี และที่ลพบุรี ทำให้สมาชิกได้เห็นชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมไปถึงอุปกรณ์ภาคพื้น (Ground services and equipment) ที่ต้องนำเข้าในราคาแพง แต่จริง ๆ แล้วคนไทยก็สมารถผลิตเองได้ รวมไปถึงการร่วมมือกันทำโครงการโดรนต้นแบบ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้ร่วมกันผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ประกอบเป็นโดรนสำหรับใช้ทางการทหารได้ ฯ (3) อุตสาหกรรมระบบราง ไทยซับคอนได้มีความร่วมมือกับกลุ่มบริษัทโชคนำชัย เพื่อร่วมกันผลิตตู้รถไฟวิ่งสายสุพรรณบุรี และร่วมมือกับบริษัท เอเอ็มอาร์ เอเชีย จำกัด ที่จะช่วยกันทำโครงการเพื่อสร้างชิ้นส่วนอุปกรณ์ในอุตสาหกรรมระบบรางให้สมาชิกไทยซับคอนร่วมผลิต เพื่อใช้ในประเทศ เป็นต้น
สมาคมไทยซับคอน อยู่คู่กับผู้ประกอบการผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยมา 20 ปี แล้ว คณะผู้บริหารสมาคม ล้วนมาจากบริษัทเอกชนที่ประสบความสำเร็จ โดยมีจิตใจมุ่งมั่น เสียสละ และมีวิสัยทัศน์ก้าวไกลไม่หยุดการพัฒนา ทุกท่านอยากจะให้เพื่อนๆ ผู้ประกอบการไทยได้เติบโตไปอย่างเข้มแข็ง โดยมุ่งหวังให้สมาคมได้ช่วยเหลือ ได้เชื่อมโยง และได้สร้างโอกาสให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนให้ประเทศไทย ให้อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนไทยเป็นอันดับ 1 ของโลก