ม.มหิดล ส่งเสริมแนวคิดมหาวิทยาลัยผู้ประกอบการ พัฒนาต่อยอดชุดทดสอบ COVID-19 "LAMP TEST"
เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลก ทำให้การทำธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกรั้วสถาบันการศึกษาของโลกในยุคปัจจุบัน
จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก ที่มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยผู้ประกอบการ (Entrepreneurial University) เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลก ทำให้การทำธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกรั้วสถาบันการศึกษาของโลกในยุคปัจจุบัน
รองศาสตราจารย์ ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ หัวหน้ากลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ และอาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ หัวหน้าศูนย์พัฒนาชุดทดสอบโรคและความปลอดภัยทางอาหาร (ADDC) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2561 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการจัดตั้ง Venture Club ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาได้มีโอกาสต่อยอดผลงานนวัตกรรมจากงานวิจัยสู่ Entrepreneur หรือการเป็นผู้ประกอบการ โดยจากที่ได้มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้มีความร่วมมือระหว่าง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาต่อยอดชุดทดสอบ COVID-19 "LAMP TEST" ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เข้าถึงได้ และสามารถตรวจได้คราวละจำนวนมาก ในเวลาที่รวดเร็ว ตอบโจทย์ได้ในยามวิกฤติขาดแคลน โดยในส่วนของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อมาได้ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ (Center of Excellence on Medical Biotechnology : CEMB) ผลักดันสู่การทำธุรกิจสตาร์ทอัพ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาในเชิงคุณภาพ ซึ่งใช้ได้แม้ในห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่
อาจารย์ ดร.เอกวัฒน์ ผสมทรัพย์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการสารสนเทศทางพยาธิวิทยากายวิภาค ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะหัวหน้าทีมทดสอบทางคลินิกของผลิตภัณฑ์ชุดทดสอบ COVID-19 "LAMP TEST" ว่า ทางทีมได้ทำการประเมินประสิทธิภาพชุดตรวจ (Method Validation) เทียบกับผลตรวจ RT-PCR ซึ่งเป็นวิธีการตรวจแบบมาตรฐาน ด้วยการใช้ตัวอย่างส่งตรวจเชื้อไวรัสก่อโรค COVID-19 ที่มีผลบวก (Positive) และผลลบ (Negative) รวมเกือบ 1,000 ตัวอย่าง พบว่า ผลิตภัณฑ์ชุดทดสอบ COVID-19 "LAMP TEST" เป็นชุดตรวจที่มีความไวสูง ราคาต้นทุนถูก และใช้อุปกรณ์น้อยชิ้นกว่าการตรวจด้วยชุดตรวจวินิจฉัย RT-PCR ทั้งนี้ หลังจากที่มีการประเมินชุดทดสอบแล้ว ได้มีการนำไปใช้งานในการตรวจการติดเชื้อก่อโรค COVID-19 ในพื้นที่ระบาด รวมถึงที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
นายกวิน น้าวัฒนไพบูลย์ นักศึกษาปริญญาเอกกลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้พัฒนาต่อยอดชุดทดสอบ COVID-19 "LAMP TEST" สู่ธุรกิจสตาร์ทอัพ กล่าวว่า รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทำตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล "ปัญญาของแผ่นดิน" พัฒนาองค์ความรู้ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ชุดทดสอบ COVID-19 "LAMP TEST" ภายใต้การสนับสนุนจาก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ (Center of Excellence on Medical Biotechnology : CEMB) ตลอดจนได้รับคำปรึกษาเรื่องการทำธุรกิจสตาร์ทอัพจาก สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งผลิตภัณฑ์ชุดทดสอบ COVID-19 "LAMP TEST" นี้ได้ผ่านการประเมินประสิทธิภาพจาก องค์การอาหารและยา (อย.) และได้ยื่นจดสิทธิบัตรกับ กรมทรัพย์สินทางปัญญา และจะมีการพัฒนาต่อยอดให้ได้มาตรฐาน ISO 13485 ซึ่งเป็นมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ในระดับสากลต่อไป
ซึ่งจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ คือ การพัฒนาสูตรขึ้นจาก R&D (Research and Development) ที่ทำให้สามารถอ่านผลการทดสอบจากการ detect สีของสารละลาย ซึ่งจะเปลี่ยนสีหากตรวจพบสารพันธุกรรม COVID-19 ของตัวอย่างที่ส่งทดสอบ และใช้อุณหภูมิคงที่ในการทำปฏิกิริยา ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 60 - 65 องศาเซลเซียส และที่สำคัญอ่านผลได้ภายในเวลาเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น
นายกวิน น้าวัฒนไพบูลย์ ได้กล่าวแนะนำทิ้งท้ายสำหรับสตาร์ทอัพมือใหม่ว่า ให้เริ่มต้นจากการลองมองดูที่ความต้องการพื้นฐาน หรือปัญหาที่พบเจอในชีวิตประจำวัน โดยหวังว่าผลิตภัณฑ์ชุดทดสอบ COVID-19 "LAMP TEST" ที่ได้พัฒนาต่อยอดขึ้นนี้จะช่วยให้ประเทศไทย และมวลมนุษยชาติสามารถรับมือและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ติดตามข่าวที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210