ซีพีเอฟ ร่วมฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศบนบกและทะเล
การร่วมอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ใช้อย่างรู้คุณค่า รักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม เพื่อธรรมชาติอยู่ได้ เราก็อยู่รอดด้วย
"ดิน น้ำ ป่า" ทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อทุกชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นต้นทางของการผลิตอาหาร นำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหาร การร่วมอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ใช้อย่างรู้คุณค่า รักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม จึงเป็นหน้าที่ของทุกคน เพื่อธรรมชาติอยู่ได้ เราก็อยู่รอดด้วย
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)หรือ ซีพีเอฟ ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารแบบครบวงจร ภาคเอกชนอีกแห่งหนึ่ง ที่ตระหนักดีถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ จึงได้กำหนดกลยุทธ์"ดินน้ำป่าคงอยู่" เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน (อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่) ยึดเป็นแนวทางดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด
ซีพีเอฟดำเนินโครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำและป่าชายเลน ได้แก่ โครงการ"ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง"(ปี 2559-2563) ช่วยอนุรักษ์และ
ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ พื้นที่เขาพระยาเดินธง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี 5,971 ไร่ และโครงการ "ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้องป่าชายเลน" อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน 2,388 ไร่ (ปี 2557-2561) ในพื้นที่จ.ระยอง สมุทรสาคร ชุมพร สงขลาและพังงา คืนสมดุลของระบบนิเวศบนบกและทะเล
จากการสำรวจและติดตามผลทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศบนบก โครงการ "ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง"โดยเมื่อปี 2562 ซีพีเอฟร่วมกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำรวจและติดตามประชากรสัตว์ป่า โดยใช้กล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (Camera Trap)พบว่าความชุกชุมของสัตว์ในกลุ่มผู้ล่ามีจำนวนและประเภทของสัตว์มากขึ้น อาทิ หมาจิ้งจอก อีเห็นธรรมดา พังพอนเล็ก แมวดาว ซึ่งการที่สัตว์ป่าเพิ่มจำนวนประชากร มาจากปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง คือ การมีแหล่งอาหารและน้ำสำหรับสัตว์อย่างเพียงพอ มีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม ล้วนเกิดจากความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า
เช่นเดียวกับ ทรัพยากรสัตว์น้ำที่กลับเข้ามาในพื้นที่และมีปริมาณเพิ่มขึ้น ในพื้นที่ ต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร อาทิ ปลาชะลั้น ปลากุแล ปลาสีกุน หอยแครง หอยกระปุก กุ้งขาว กุ้งเคย เป็นผลพวงจากการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผ่านการดำเนินโครงการ "ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน" โครงการที่ซีพีเอฟร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และชุมชนบางหญ้าแพรก ส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นอนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่ป่า โดยระหว่างปี 2557-2561 สามารถปลูกป่าใหม่ในพื้นที่ได้รวม 104 ไร่ ช่วยแก้ปัญหาและป้องกันการกัดเซาะแนวชายฝั่ง เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามธรรมชาติ และยังพบว่าพื้นที่ป่าชายเลนที่ปลูกใหม่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
"พื้นที่ป่าชายเลนจังหวัดสมุทรสาคร เป็นพื้นที่อ่าวตัว ก. ที่มีปัญหาพื้นที่ชายฝั่งถูกกัดเซาะ แต่จากความร่วมมือของภาคเอกชนและชุมชนในพื้นที่ ทำให้ผืนป่าชายเลนบริเวณนี้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง แก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง จากการปลูกพันธุ์ไม้ป่าชายเลน คือ ต้นแสม ซึ่งเป็นต้นไม้ที่เติบโตได้ดีในพื้นที่ ปริมาณต้นไม้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการทับถมของตะกอนเลนเป็นแนวเพิ่มขึ้นสามารถปลูกต้นไม้ได้มากขึ้น เป็นผลโดยตรงของการอนุรักษ์และฟื้นฟูที่ทำให้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น และยังเป็นแหล่งอนุบาลให้กับสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นแหล่งอาหารของชุมชนในพื้นที่ ช่วยส่งเสริมรายได้ของชุมชน" นายวัฒนา พรประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร ให้ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากที่มีการดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน
เสียงสะท้อนจากชาวบ้าน ต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร ที่มีอาชีพประมง ได้อานิสงส์จากปริมาณสัตว์น้ำในพื้นที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
"คุณป้าเตือนใจ ฟักอยู่ หรือคุณป้าหน่อย" อายุ 56 ปี และ "คุณลุง วันเพ็ญ มนัส" อายุ 69 ปี สองสามีภรรยาซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่หมู่ 5 ตำบลบางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร อาชีพงมหอยขายมากว่า 30 ปี คุณลุงวันเพ็ญ เล่าว่า ช่วง 4-5 ปีมานี้ สภาพป่าชายเลนในพื้นที่อุดมสมบูรณ์กว่าเมื่อก่อนที่ไม่มีป่า ไม่มีต้นไม้ สัตว์น้ำต่างๆก็หายไปด้วย แต่เมื่อป่ากลับคืนมา ก็กลายเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ คนในพื้นที่ที่มีอาชีพประมง หากุ้ง หอย ปู ปลา ได้ปริมาณเพิ่มขึ้น โดยที่ไม่ต้องออกเรือไปไกลๆเหมือนเมื่อก่อน ลุงมีอาชีพงมหอยก็หารายได้ได้เพิ่มขึ้น งมหอยได้ต่อวันประมาณ 7-10 กิโลกรัม ถ้าเป็นหอยแครงขนาดใหญ่ ขายได้กิโลกรัมละ 140 บาท ถ้าเป็นตัวเล็ก จะขายได้ประมาณกิโลกรัมละ 80 บาท ทำให้มีรายได้วันละ 1 พันกว่าบาท รายได้ดีกว่าเมื่อก่อนที่ราคาหอยไม่ดีและงมได้ไม่มาก
"ตอนนี้ดีกว่าเมื่อก่อนเยอะ ป่าชายเลนขึ้นเต็มไปหมด ขอบคุณซีพีเอฟที่เข้ามาช่วยฟื้นฟูและปลูกป่าในพื้นที่บางหญ้าแพรก ทำให้ชุมชนมีสภาพแวดล้อมที่ดี สภาพน้ำเมื่อก่อนสกปรก สีออกแดงๆ พอมีป่า คุณภาพของน้ำก็ดีขึ้นด้วย น้ำใส ชาวประมงจับสัตว์น้ำได้มากขึ้น เพราะเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำ สัตว์ที่เคยหายไปจากพื้นที่ก็กลับเข้ามา เช่น หอยพิมพ์ หรือปลาชนิดต่างๆ มีมากขึ้น เมื่อก่อนลุงออกไปงมหอย ต้องออกเรือไปไกลถึงแม่กลองกว่าจะได้ แต่ตอนนี้เราอยู่ในพื้นที่สมุทรสาครก็งมหอยได้วันละเกือบ 10 กิโลกรัม "ลุงวันเพ็ญกล่าว
นอกจากระบบนิเวศป่าชายเลนที่กลับสู่ความอุดมสมบูรณ์ สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ซีพีเอฟและชุมชน ยังได้ร่วมมือต่อยอดโครงการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวิถีชุมชนในพื้นที่ต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร และพื้นที่ ต.ปากน้ำประแส จ.ระยอง ทำให้ชาวบ้านในชุมชน 2 พื้นที่ มีรายได้จากการท่องเที่ยวและการขายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น พบว่าคนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.7 เท่าในพื้นที่ต.บางหญ้าแพรก และ รายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.2 เท่าในพื้นที่ต.ปากน้ำประแส
ซีพีเอฟ เดินหน้าโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าบกและป่าชายเลนเข้าสู่ระยะที่ 2 โดยโครงการ "ซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง" (ปี 2564-2568 ) มีเป้าหมายอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าเพิ่มจาก 5,971 ไร่ เป็น 7,000 ไร่ และโครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน (ปี 2562-2566) มีเป้าหมายอนุรักษ์ และฟื้นฟูป่า ในพื้นที่จ.สมุทรสาครเพิ่มอีก 266 ไร่ รวมทั้งขยายพื้นที่ในการดูแลอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน ที่ ต.ท่าพริก จ.ตราด อีกแห่ง เพื่อร่วมลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ คืนสมดุลสู่ระบบนิเวศบนบกและทะเลอย่างยั่งยืน
22 พฤษภาคมของทุกปี ตรงกับวันสากลความหลากหลายทางชีวภาพ ย้ำเตือนทุกคนร่วมกันดูแลรักษาทรัพยากรสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อส่งต่อทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์สู่รุ่นลูกหลานต่อไป ./