‘เผ่าภูมิ’ คาดเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ขยายตัว 4.3% ผลแจกเงินหมื่น
‘เผ่าภูมิ’ คาด GDP ไทยไตรมาส 4 โต 4.3% รับผลแจกเงินหมื่น ช่วงพีคการบริโภค และส่งออกขยายตัวดีขึ้น เล็งถกเกณฑ์แจกเงินหมื่น 19 พ.ย.67 นี้ มาตรการกระตุ้นรักษาโมเมนตัมถึงต้นปีหน้า ระบุค่าเงินบาทอ่อนอยู่ที่ 34.5-35 บาท/ดอลลาร์ เข้าสู่จุดเหมาะสมหนุนส่งออก แข่งขันเพื่อนบ้านได้
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คาดการณ์เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2567 จะขยายตัวถึง 4.3-4.4% โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลัก จากการกระจายตัวของเม็ดเงิน 1.45 แสนล้านบาท โครงการแจกเงิน 10,000 บาท กระตุ้นเศรษฐกิจ สำหรับกลุ่มเปราะบาง ทั้งยังเป็นช่วงพีคของการบริโภคปลายปี การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวดีขึ้น เช่น การผลิตจักรยานยนต์ และการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี
"แรงหนุนที่สำคัญของการขยายตัวเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ปี 67 มาจากการกระจายตัวเม็ดเงิน 10,000 บาท ที่สะท้อนเป็นตัวเลขเศรษฐกิจว่าไม่ได้นำไปใช้หนี้ทั้งหมด อีกทั้งเป็นผลซีซัน ช่วงพีคจองการจับจ่ายใช้สอย"
ขณะที่ไตรมาส 3 ปี 2567 เศรษฐกิจขยายตัวอยู่ที่ 2.6% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ในช่วง 2.7-2.8% โดยมีปัจจัยกดดันจากเหตุการณ์น้ำท่วม และการเปลี่ยนรัฐบาล
สำหรับรายละเอียดโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ในเฟสถัดไป ของกลุ่มผู้มีอายุเกิน 60 ปี นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า จะมีการหารือเกี่ยวกับแนวทาง และหลักเกณฑ์โครงการในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ วันที่ 19 พ.ย.67 นี้ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ที่จะออกมาเพื่อรักษาโมเมนตัมในช่วงต้นปีหน้า
“ขณะนี้อยู่ในกระบวนการ ต้องหารือกับหลายภาคส่วน ซึ่งจะคุยกันในที่ประชุมว่ามาตรการแบบไหนจะเหมาะสมที่สุด ส่วนประชาชนที่ลงทะเบียนสำเร็จ และผ่านเกณฑ์ ยืนยันว่าจะได้รับเงินจำนวนนี้ โดยขึ้นอยู่กับความพร้อมของระบบ งบประมาณ และจังหวะเวลาที่เหมาะสมตามโมเมนตัมเศรษฐกิจ ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด”
นอกจากนี้ จะมีการหารือมาตรการที่จำเป็นเร่งด่วน ได้แก่ การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน การดูแลภาคอุตสาหกรรมที่ยังไม่ฟื้นตัวดี และการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชนโดยใช้ข้อมูลทางเลือก
เมื่อถามถึงเรื่องภาวะค่าเงินบาทอ่อนค่า นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า มีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลง ซึ่งขณะนี้ค่าเงินบาทปรับตัวเข้ามาอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพึงพอใจ ตามที่คาดการณ์ไว้อยู่ที่ 34.5-35 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นอัตราที่เหมาะสมสำหรับภาคการส่งออก และสามารถแข่งขันได้กับอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศเพื่อนบ้าน ที่สำคัญกว่านั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องรับผิดชอบ และดูแลไม่ให้เกิดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมาก
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์