อพวช. พาเที่ยวทิพย์ “ตามรอยวิทย์ศิลป์ในถิ่นสยาม”ในรูปแบบออนไลน์
เรื่องราวประวัติศาสตร์ใน 3 จังหวัดดินแดนสยาม เพื่อร่วมเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม กับการเดินทางท่องเที่ยว
อพวช. พาเที่ยวทิพย์ “ตามรอยวิทย์ศิลป์ในถิ่นสยาม” เปิดประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบใหม่ในยุค New Normal ผ่าน 3 เรื่องราวประวัติศาสตร์ใน 3 จังหวัดดินแดนสยาม กับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อร่วมเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม กับการเดินทางท่องเที่ยวผ่านการใช้เทคโนโลยีในรูปแบบออนไลน์ทาง Facebook และ Youtube NSMThailand
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เปิดประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบใหม่ในยุค New Normal พาเที่ยวทิพย์ ภายใต้โครงการ “ตามรอยวิทย์ศิลป์ ในถิ่นสยาม” ในรูปแบบออนไลน์ทาง Facebook : NSMThailand และ YouTube : NSMThailand ที่จะพา ทุกท่านไปตามรอยประวัติศาสตร์ของสถานที่สำคัญต่าง ๆ กับเรื่องราวทางศิลปะและวิทยาศาสตร์ ตามนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่าประเทศไทย และพื้นที่สุวรรณภูมิมีประวัติศาสตร์และวิทยาการที่สืบเนื่องกันมานาน หลายอย่างก็เพิ่งได้ถูกค้นพบ
โดยนักประวัติศาสตร์ที่เก็บรวบรวมข้อมูลมาปะติดปะต่อกัน ประกอบกับเทคโนโลยีลมัยใหม่ก็ช่วยเผยข้อมูลในประวัติศาสตร์ได้อย่างมีหลักฐานชัดเจนแม่นยำขึ้น ในเดือนสิงหาคมซึ่งเป็นเดือนแห่งวันวิทยาศาสตร์ของไทย จึงเป็นโอกาสดีที่จะนำเรื่องราวการสืบร่องรอยประวัติศาสตร์ด้วยการใช้วิทยาการและวิทยาศาสตร์มาสื่อสารให้ประชาชนและเยาวชนได้รับรู้ ยังเป็นการผลักดันส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนได้เข้าใจ ภูมิใจในวิทยาการของผู้คนในอดีค และอาจจะจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ให้ต่อยอดเป็นเศรษฐกิจบนฐานของประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม ผ่านการเดินทางท่องเที่ยวด้วยการใช้เทคโนโลยีไปยัง
3 จังหวัดที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานอย่างจังหวัดอยุธยา จังหวัดเชียงใหม่ และกรุงเทพมหานคร กับวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการเพื่อสังคม คณะศิลปะศาสตร์ ม.มหิดล , ผศ.ดร.อติชาต เกตตะพันธุ์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่, ผศ.ดร.สุรชัย จงจิตงาม คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ และ ดร.ศิริวรรณ เกตตะพันธุ์ อดีตนักวิจัยด้านเคมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายจุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์
เริ่มต้นกันที่สถานที่แห่งแรกที่จะพาไปชม….กับ “เที่ยวทิพย์อยุธยาเสาะหาประวัติศาสตร์ไทย”
รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี พา “เที่ยวทิพย์อยุธยาเสาะหาประวัติศาสตร์ไทย” กับการพาไปรู้จักการตั้งถิ่นฐานของคนในอดีตโดยเฉพาะเรื่องราวและลักษณะของเกาะเมือง ที่มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่าน 3 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน รวมทั้ง เป็นชุมทางคมนาคม และเป็นปราการธรรมชาติในการป้องกันข้าศึก โดยการเที่ยวทิพย์ในครั้งนี้ได้พาไปท่องเที่ยวรอบอยุธยากับทิศทั้ง 4 ได้แก่ ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก
เริ่มจากทิศเหนือ ที่คลองเมืองหรือแม่น้ำลพบุรี ที่ในอดีตจะใช้เป็นเส้นทางการเดินทางเพื่อออกไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดในขณะนั้น วัดหน้าพระเมรุ หรือวัดพระเมรุราชิการามวรวิหาร เป็นวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ถูกพม่าทำลาย และยังคงสภาพที่ดีมาก พระประธานในอุโบสถเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องหล่อสำริดขนาดใหญ่ ด้านหลัง พระอุโบสถยังมีอีกองค์หนึ่งแต่เล็กกว่า คือ พระศรีอริยเมตไตรย์, พื้นที่คลองสระบัว เป็นพื้นที่ทำเครื่องปั้นดินเผา จากหลักฐานเครื่องดินเผาต่างๆ จนได้ชื่อว่า เครื่องปั้นดินเผาคลองสระบัว , เพนียดคล้องช้าง สถานที่สำหรับการจับช้างหน้าพระที่นั่ง ที่เคยใช้เป็นสนามรบอยู่บ่อยครั้ง ตัวเพนียด ทำด้วยซุงท่อนใหญ่ เรียกว่า เสาตะลุง ไม้ท่อนกลมซึ่งปักห่างทิ้งระยะ หัวเสากลึงเป็นหัวเม็ดทรงมัณฑ์ ปักทำหลักเสียหนึ่งคู่เพื่อล่ามช้างเครื่องยืนแท่น ซึ่งจากหลักฐานพบว่าพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา น่าจะเสด็จมาทอดพระเนตรการคล้องช้างด้วยเสมอ เพราะนอกจากจะเป็นขั้นตอนในการคัดเลือกช้างแล้ว ยังเป็นมหรสพชนิดหนึ่งอีกด้วย , วัดเชิงท่า มีสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรม เป็นงานศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนปลายที่สวยงาม โดยในเรื่องเล่าของพระเจ้าตากสินได้มาบวชเณรที่นี่ ,และวัดแม่นางปลื้ม ที่มีหลวงพ่อขาวมีลักษณะงดงาม สถาปัตยกรรมแบบโบราณ และซุ้มประตูวัดซึ่งเป็นซุ้มประตูศิลปะอยุธยาแบบโบราณ
ทิศตะวันออก วัดใหญ่ชัยมงคล มีลักษณะเจดีย์ที่มีฐาน 8 เหลี่ยม เป็นวัดที่คาดว่ามีมาก่อนสมัยอยุธยา , วัดกุฎีดาว อีกหนึ่งวัดหนึ่งที่มีความสำคัญมาก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาและได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์เรื่อยมา แสดงถึงความสำคัญของวัดด้วยมีความโอ่โถงและมีความงดงามวิจิตรอ่อนช้อย ซึ่งวัดนี้นอกจากจะดูยิ่งใหญ่และสวยงามแล้ว ยังมีเรื่องเล่าว่าเป็นวัดที่มีสมบัติฝังเอาไว้มากมาย อันเป็นที่มาของเรื่องเล่าขานปู่โสมเฝ้าทรัพย์ , วัดมเหยงคณ์ โดยชื่อ มเหยงคณ์ มาจากศัพท์บาลีว่า มหิยังคณ์ แปลว่า ภูเขา หรือ เนินดิน ชื่อ มเหยงคณ์ ยังเป็นชื่อสถานที่และพระธาตุสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ ศรีลังกา เรียกว่า มหิยังคณ์เจดีย์ รวมทั้งมีเจดีย์ทรงระฆังมีช้างล้อม จึงคาดว่าน่าจะแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับศรีลังกาโดยตรง
ทิศใต้ วัดพนัญเชิง มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ วัดพนัญเชิง ในอดีตเรียกว่า วัดพระแนงเชิง หรือ วัดพระเจ้าพแนงเชิง คาดว่าชื่อดังกล่าวสืบเนื่องมาจากตำนานเรื่องพระนางสร้อยดอกหมาก คือ เมื่อพระนางสร้อยดอกหมาก กลั้นใจตายนั้น พระนางคงนั่งขัดสมาธิ เพราะชาวจีนนิยมนั่งขัดสมาธิมากว่านั่งพับเพียบจึงนำมาใช้เรียกชื่อวัด บางคนก็เรียกว่า วัดพระนางเอาเชิง ตามสาเหตุที่ทำให้พระนางถึงแก่ชีวิต ฉะนั้น ถ้าเรียกนามวัดตามความหมายของคำว่า วัดพนัญเชิง ก็ย่อมหมายความถึงวัดที่มีพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ นั่นคือหลวงพ่อโตที่เรียกกันในปัจจุบัน , วัดพุทไธศวรรย์ มีพระมหาธาตุ หรือพระปรางที่สวยงาม ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบปราสาทขอม บริเวณรอบพระปรางค์จะมีพระระเบียง ด้านนอกทึบ ด้านในมีเสารับเครื่องบนหลังคาและชายคาเป็นระยะ ๆ มีพระพุทธรูปสีทองอร่ามศิลปะแบบสุโขทัยเรียงรายอยู่อย่างสวยงาม ซึ่งในอดีตเคยเป็นที่ประทับเดิมของพระเจ้าอู่ทอง , หมู่บ้านญี่ปุ่น เป็นชุมชนชาวญี่ปุ่นในกรุงศรีอยุธยาที่เริ่มจากชุมชนเล็กๆ ของพ่อค้าเรือสำเภาชาวญี่ปุ่น ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระมหากษัตริย์พระราชทานที่ดินให้ตั้งหมู่บ้าน โดยในสมัยนั้น ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเป็นชุมชนชาวโปรตุเกส ส่วนที่ติดกับด้านเหนือของหมู่บ้านญี่ปุ่นจะมีคลองเล็กๆ คั่นเป็นชุมชนอังกฤษและชุมชนฮอลันดา
ทิศตะวันตก มีลักษณะเป็นทุ่งมีน้ำขังตลอดเวลา จึงมีวัดจำนวนไม่มาก หนึ่งในนั้นคือ วัดไชยวัฒนาราม เป็นวัดที่มีความสวยงามของสถาปัตยกรรมอันงดงามภายในวัด ซึ่งแนะนำให้ไปเที่ยวในช่วงเวลาเย็นจะเห็นความสวยงามเหมาะสำหรับการถ่ายภาพเป็นอย่างมาก
เที่ยวทิพย์สถานที่แห่งที่ 2 จะพาทุกท่านไปเรียนรู้เรื่องราวศิลปะ และวิทยาศาสตร์ ในภาคเหนือ กับ “ย้อนรอยวิทย์ศิลป์ถิ่นเจียงใหม่”
ผศ.ดร.อติชาต เกตตะพันธุ์ , ผศ.ดร.สุรชัย จงจิตงาม และ ดร.ศิริวรรณ เกตตะพันธุ์ ทั้งสามท่านได้ร่วมกันศึกษาจนเกิดเป็นงานวิจัยที่น่าสนใจขึ้นมา ได้พาพวกเรา “ย้อนรอยวิทย์ศิลป์ถิ่นเจียงใหม่” กับการย้อนอดีตเรื่องราวศิลปวัฒนธรรมที่ วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) จังหวัดเชียงใหม่ วัดเก่าแก่ที่มีความงดงามยาวนานมากว่า 700 ปี ที่คาดว่าสร้างขึ้นในสมัยพญามังราย และต่อมาพญากือนา ได้ทรงสร้างอุโมงค์ขึ้นที่นี่เพื่อให้พระมหาเถระจันทร์ใช้เป็นที่วิปัสสนากรรมฐาน กำแพงภายในจึงเป็นหลายช่องทางเดินทะลุกันได้ รวมถึงยังมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังลวดลายต่าง ๆ ที่สวยงาม และมีความเก่าแก่อยู่ภายในอุโมงค์ โดยชาวล้านนาสร้างอุโมงค์โดยการก่ออิฐถือปูน แล้วฉาบปูนปิดทับโครงสร้างอิฐอีกชั้นหนึ่ง แต่ปัจจุบันชั้นปูนฉาบนี้ได้หลุดกะเทาะเกือบหมดสิ้นแล้ว คงเหลือก็เพียงส่วนของเพดานโค้งภายในอุโมงค์ที่ปรากฏจิตรกรรมฝาผนังเท่านั้น
จากร่องรอยความสวยงามต่าง ๆ โดยเฉพาะจิตรกรรมฝาผนัง ทีมวิจัยจึงมีการศึกษาวิจัยโดยใช้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการสืบค้นและนำร่องรอยต่าง ๆ มาวิเคราะห์ และบูรณะขึ้นมาใหม่ จนกระทั่งเกิดเป็นภาพที่สวยงามอีกครั้ง และเรื่องราวความเกี่ยวเนื่องของโครงสร้างการสร้างอุโมงค์ ซึ่งนอกจากความสวยงาม ก็ยังสามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อเรียนรู้เรื่องราวทางประวิติศาสตร์ที่มีความเกี่ยวข้องกันกับภาพที่ได้ออกมา เช่น ภาพวาดลายดอกบัว ดอกบัวตั๋น นก เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันเรื่องราวต่างๆ ได้นำมาไว้ในศูนย์การเรียนรู้ที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อเปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวผ่านเทคโนโลยีที่ชื่อว่า AR และ VR
และทริปสุดท้ายของเรา ขอพาทุกท่านไปย้อนอดีตรอบเมืองหลวงของไทยกับ “ย้อนรอยวิทย์ศิลป์ ถิ่นบางกอก”
นายจุลภัสสร พาเที่ยวทิพย์ “ย้อนรอยวิทย์ศิลป์ ถิ่นบางกอก” กับการเดินทางไปสัมผัสกับกรุงเทพมหานครฝั่งธนบุรี ที่มีเรื่องราวประวัติศาสตร์อันยาวนานมากกว่าสองร้อยปี กับช่วงเวลาสมัยกรุงธนบุรีก่อนที่จะมีการโยกย้ายการตั้งราชธานีมาอยู่ในพื้นที่ที่ต่อเนื่องมาจนถึงกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน นายจุลภัสสร เล่าว่าพื้นที่ธนบุรี ในสมัยนั้นมีพื้นที่กว้างใหญ่ ตั้งอยู่คลุมพื้นที่ทางน้ำ ซึ่งใช้เป็นเส้นทางในการสัญจรหลัก มีแม่น้ำไหลผ่านสามสาย พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก ทำให้เหมาะสำหรับการเพาะปลูก ซึ่งจะเห็นได้ว่าพื้นที่ฝั่งธนบุรีมีการปลูกผลไม้เป็นจำนวนมาก ในอดีตเรียกพื้นที่ธนบุรีว่าสวนในบางกอก ควบคู่กับพื้นที่สมุทรสงครามที่เรียกว่าพื้นที่สวนนอกบางช้าง ลักษณะพื้นที่เป็นเมืองหน้าด่าน สมัยนั้นมีชื่อเต็มว่า “กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร” มีลักษณะพื้นที่คดโค้งจากพื้นที่ของลำน้ำ ตั้งแต่คลองบางกอกน้อย ตลิ่งชัน บางกอกใหญ่ ทำให้เรือที่จะขึ้นมาจากอยุธยาที่ต้องเข้าทางปากอ่าว ใช้เวลาถึงหนึ่งวันในการเดินทาง เป็นเหตุให้สมเด็จพระไชยราชาธิราช ทรงโปรดฯ ให้ขุดคลองลัดแม่น้ำขึ้นจากปากคลองบางกอกน้อยจนถึงปากคลองบางกอกใหญ่เพื่อช่วยย่นระยะเวลาในการเดินทาง
ส่งผลทำให้พื้นที่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาต่อเนื่องมาจนถึงบริเวณป้อมวิไชยประสิทธิ์ มีพื้นที่ขนาดใหญ่และมีเกาะกลางน้ำเป็นจำนวนมาก โดยว่ากันว่าบริเวณดังกล่าวมีต้นมะกอกน้ำเกิดขึ้นจำนวนมากจึงเป็นที่มาของชื่อบางกอก แต่ด้วยพื้นที่ตั้งพระราชวังเดิมอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยามีการกัดเซาะของกระแสน้ำ ส่งผลให้พื้นที่กรุงเทพฯ ที่อยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยามีลักษณะพื้นที่แหลมเนื่องจากการพอกตัวของดิน ทำให้เกิดการขยายของแผ่นดิน รวมทั้งพื้นที่พระราชวังเดิม มีวัดขนาบทั้งสองข้างทำให้ไม่เหมาะแก่การที่จะขยายพระราชวังออกไปไกล จึงเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการสร้างเมืองใหม่ทางฝั่งตะวันออกของฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาหรือกรุงเทพฯในปัจจุบัน
สำหรับกิจกรรมการเที่ยวทิพย์ใน 3 จังหวัด “ตามรอยวิทย์ศิลป์ในถิ่นสยาม” นอกจากจะได้รับอรรถรสความสนุก และได้รับความรู้ในด้านศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และวิทยาการด้านวิทยาศาสตร์แล้ว อพวช. หวังว่าการพาเที่ยวทิพย์ในครั้งนี้ จะชวนให้คิดรำลึกถึงความสำคัญของวันวิทยาศาสตร์ไทย และเล็งเห็นถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่อยู่รอบตัวเรามาในทุกยุคทุกสมัยมากยิ่งขึ้นต่อไป