ปิดทองหลังพระฯ ใช้ระบบหมอนทอง ส่งเสริมให้เกษตรกรทำทุเรียนคุณภาพและแม่นยำ
โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพตามศาสตร์พระราชา (โครงการทุเรียนคุณภาพ)
ปิดทองหลังพระฯ ก้าวไปอีกขั้น นำเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่มาใช้ในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพตามศาสตร์พระราชา (โครงการทุเรียนคุณภาพ) ด้วยการพัฒนาระบบฐานข้อมูลแบบออนไลน์เรียลไทม์ หรือ ระบบหมอนทอง ในการพัฒนาระบบการผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพ ที่มองแบบองค์รวม ตั้งแต่การผลิต ถึงการเก็บเกี่ยว รู้ปัญหาและสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที และ รวมไปถึงการบริหารจัดการโครงการฯ และ ที่สำคัญคือสามารถนำผลที่ได้มาใช้ในการวางแผนพัฒนาทุเรียนให้มีคุณภาพยิ่งขึ้นต่อไป
นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการทุเรียนคุณภาพในปีที่ 3 นี้สถาบันฯ มีการพัฒนาโครงการฯ ไปอีกขั้น โดยร่วมกับคณาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.หาดใหญ่) พัฒนาระบบฐานข้อมูลโครงการแบบออนไลน์เรียลไทม์ หรือ ระบบหมอนทอง ซึ่งนอกจากจะเป็นการจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานของเกษตรกรในโครงการฯ เช่น รายชื่อเกษตรกร พื้นที่ปลูก จำนวนต้น และการบำรุงดูแลต้นทุเรียนตามคู่มือทุเรียนคุณภาพตลอดทั้งปี เพื่อให้โครงกาฯ สามารถบริหารจัดการโครงการฯ ได้อย่างแม่นยำ ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ช่วงเวลาผลผลิตออกและการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมตามความต้องการของตลาด
ผู้อำนวยการสถาบันฯ ปิดทองหลังพระฯ กล่าวด้วยว่า ระบบนี้ ยังเป็นประโยชน์ในการติดตามและให้คำแนะนำช่วยเหลือกับเกษตรกรได้ทันที หากมีปัญหาเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะเป็นประโยชน์สำหรับเกษตรกรที่สามารถใช้ระบบนี้ในการวางแผนกิจกรรมในแปลงได้ตลอดทั้งปี คำนวณต้นทุนการผลิตได้ และสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการยื่นขอมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ GAP อีกด้วย
“ในปีหน้า ปิดทองหลังพระฯ จะพัฒนาระบบนี้อย่างต่อเนื่อง ไปสู่แอพลิเคชั่น หมอนทอง ให้ใช้งานได้สะดวกและจัดเก็บข้อมูลได้ละเอียดยิ่งขึ้น ทั้งข้อมูลพื้นฐานแปลงเกษตรกร การปฏิบัติงานประจำวันของเกษตรกร สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในแปลง รวมทั้งในอนาคตจะมีการนำระบบ 5G มาใช้ในแปลงในลักษณะเกษตรอัจฉริยะ โดยนำข้อมูลสภาพอากาศ ความชื้น ปริมาณธาตุอาหารในแต่ละแปลงทุเรียนมาช่วยการวางแผนการผลิต และเมื่อพัฒนา “แอพพลิเคชั่นหมอนทอง” สมบูรณ์แบบแล้ว จะเปิดโอกาสให้เกษตรกรทั่วประเทศที่สนใจทำทุเรียนคุณภาพ นำไปใช้ต่อไป ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าวจะสอดคล้องกับทิศทางสถาบันฯในอนาคต การยกระดับกิจกรรมที่ต้องการนำเกษตรอัจฉริยะมาประยุกต์ใช้ในรูปแบบทฤษฎีใหม่และสร้างชุมชนผู้ประกอบการเกษตร BCG ตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป