ผสานการแพทย์ และนวัตกรรม ‘Atgenes - Pulse Science’ ต่อยอดสู่ธุรกิจ เพื่อชีวิตที่ดีกว่า
นวัตกรรม เคียงคู่งานวิจัยทางการแพทย์
Your Code Your Life ชีวิต คือชุดข้อมูลที่เรียกว่า DNA ข้อมูลที่ถูกส่งต่อมาในลักษณะ ‘โยนหัวก้อย’ ถ้าเป็นสำนวนไทยคงประมาณ บุญทำ กรรมแต่ง ก่อเกิดเป็นความหลากหลายของเผ่าพันธุ์ แต่ทราบหรือไม่ว่า นวัตกรรมและเทคโนโลยี ทำให้เรามีสิทธ์เลือกได้มากขึ้น หรือแม้แต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบชีวิตให้ดีขึ้นได้
จุดเริ่มของเรื่องนี้ต้องเล่าย้อนไปเมื่อปี 2547 คุณหมอท่านหนึ่งเรียนจบปริญญาเอกจากอ๊อกซฟอร์ด กลับไทยมาเป็นอาจารย์สาขาวิชาโลหิตวิทยาและอองโคโลยี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คนในวงการตั้งสมญาว่า ‘หมอโลหิต’ เนื่องจากท่านเป็นผู้ชำนาญการพิเศษด้านโลหิตวิทยาชั้นแถวหน้าของไทยและมีค่า H index ถึง 55
และด้วยผลงานวิจัยด้านโลหิตวิทยากว่า 100 เรื่อง ที่ได้รับการยอมรับและตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำในต่างประเทศ ปี 2558 ศ.ดร.นพ.วิปร วิประกษิต ได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ทางกุมารเวชศาสตร์อย่างเป็นทางการ และเป็นจุดเริ่มต้นของการผสานระหว่างองค์ความรู้ทางการแพทย์ระดับโมเลกุลกับ Biotech และ Innotech จนนำไปสู่รักษาและการปรับแต่งรูปแบบชีวิตด้วยข้อมูลยีนส์และดีเอ็นเอ
การผสานเสริมของการแพทย์ และนวัตกรรม
ศ.ดร.นพ.วิปร ยังคงมองหา Challenge ใหม่ๆ โดยต้องการให้งานวิจัยที่ทำสามารถนำไปใช้งานได้จริง จึงก่อตั้งบริษัท แอท-ยีนส์ จำกัด ต่อมาให้มีโอกาสรู้จักกับ คุณนัทธี อินต๊ะเสน ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง บริษัท พัลซ์ ไซเอนซ์ จำกัด นักนวัตกรรมและนักวิทยาศาสตร์ผู้สร้างห้องปลอดเชื้อในคลินิกการปฏิสนธินอกร่างกาย (IVF) และต่อมาได้เป็น Strategic Partner ที่สำคัญของ แอท-ยีนส์ ทำงานร่วมกันโดยใช้ know how จากการวิจัยมาแตกแขนงออกมาเป็นบริการในรูปของการตรวจข้อมูล และการวินิจฉัย
โดยภาพรวม ธุรกิจของแอท-ยีนส์ คือ การขายข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์ โดยการตรวจ DNA และหากย้อนไปเมื่อ 7 ปีตอนเริ่มต้นธุรกิจ ที่ยังไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้ และถ้าเปรียบแอท-ยีนส์เป็นนักบิน บจก.พัลซ์ ไซเอนซ์ ของคุณนัทธีก็เปรียบเหมือนผู้จัดหาเครื่องบิน โดยเข้ามาดูแลในเรื่องการทำห้องปฏิบัติการ เครื่องมือ และทีมสนับสนุนนับเป็นการสปินออฟที่เหมาะเจาะพอดี
การแพทย์ที่รักษาด้วย ‘ข้อมูล’ ทำอะไรได้บ้าง ?
ศ.ดร.นพ.วิปร อธิบายว่า ถ้าเปรียบเทียบเป็นภาษาคอมพิวเตอร์ คือทุกคนมีโค้ดอยู่ในตัวเอง หรือการถูกโปรแกรมมาว่าต้องทำอะไรบ้าง โค้ดจะอยู่ในชุดข้อมูลที่เรียกว่า DNA โดยธรรมชาติส่งต่อจากพ่อแม่อย่างละครึ่ง
ขณะที่เทคโนโลยีด้านการแพทย์ที่กำลังเป็นเทรนด์ทั่วโลกขณะนี้ เรียกว่า Molecular medicine คือการรักษาแบบแม่นยำและจำเพาะโดยอาศัย ‘ข้อมูลทางพันธุกรรม’ หรือ ‘ข้อมูลในระดับโมเลกุล’ มาใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรค หรือความเสี่ยงในการเกิดโรคโดยการหาลำดับเบสของดีเอ็นเอ (DNA sequencing) ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Next-Generation Sequencing ซึ่งเป็นข้อมูลจีโนม (Genome) และเอ็กโซม (Exome)
ข้อมูลเหล่านี้ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกใช้อย่างไร สำหรับแอท-ยีนส์ ใช้ข้อมูลนี้ช่วยในการวินิจฉัยโรคให้แม่นยำมากขึ้น โดยการตรวจทำให้รู้เลยว่าแบบเป็นโรคอะไร หรือแม้แต่มีความเสี่ยงจะเกิดโรคอะไรในอนาคต
รู้ความเสี่ยงก่อนเป็นโรค ...ชีวิตก็ออกแบบได้
ดังนั้น ธุรกิจของแอท-ยีนส์ไม่ใช่การตรวจเชื้อโรค แต่เป็นการตรวจข้อมูลพันธุกรรมเพื่อการวินิจฉัย ป้องกัน หรือรักษาโรค เป็นโปรแกรมออกแบบและดูแลสุขภาพได้ตรงจุดกับความเสี่ยงที่แต่ละคนมี พอรู้ว่าจะเกิดความเสี่ยงใดในอนาคต ก็สามารถแก้ไขโค้ดได้ รวมทั้งยังมีบริการตรวจความเสี่ยงในการแพ้ยา ความเสี่ยงในการเกิดอัลไซเมอร์ สมองเสื่อม การเกิดมะเร็งชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นบริการที่แอท-ยีนส์ ให้ได้
“ที่ผ่านมา มีโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งซื้อบริการเขาเราไปใช้ในโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วย หรือลูกค้าที่ต้องการรับบริการตรวจหาความเสี่ยงจากการเกิดโรคซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้ารายได้สูงเป็นหลัก”
มดลูกเทียม และการเพาะเชื้อตัวอ่อน
อีกบริการหนึ่งที่เป็นบริการสำคัญของแอท-ยีนส์ คือ การตรวจพันธุกรรมตั้งแต่ก่อนเป็นมนุษย์ โดยการตรวจตัวอ่อน ปกติหญิงชายอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ช่วงวัยรุ่น ขณะที่คนปัจจุบันนี้แต่งงานและมีลูกช้า ทำให้เกิดปัญหามีลูกยาก และเด็กอาจมีสภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ ที่ผ่านมีการแก้ปัญหานี้ด้วยวิธีการเจาะถุงน้ำคร่ำเพื่อดูโครโมโซมมีความผิดปกติหรือไม่ แต่วิธีการเจาะน้ำคร่ำซึ่งตัวอ่อนฝังตัวในมดลูกแล้ว และยังต้องรอผลตรวจอีกไม่น้อยกว่า 4 สัปดาห์
ขณะที่บริการของแอท-ยีนส์ มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า โดยใช้หลักการผสมเทียม นำตัวอ่อนที่แข็งแรงมาเพาะเลี้ยงระยะหนึ่ง ก่อนที่จะนำไปผสมกับเชื้อไข่ในตู้มดลูกเทียมที่ออกแบบมาสำหรับเพาะเลี้ยงตัวอ่อนมนุษย์ (Embryo) มีรูปแบบการทำงานเหมือนมดลูก ผลงานรางวัล Innovation Award of The Year ปี 2563 จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA รางวัลทางด้านสิ่งประดิษฐ์ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ
คุณนัทธี ซีอีโอ พัลซ์ ไซเอนซ์ ผู้ออกแบบตู้เพาะเลี้ยงตัวอ่อนมนุษย์ อธิบายว่า ตู้ปฏิบัติการระบบปิดควบคุมสภาพแวดล้อมสำหรับการผสมเทียมใต้กล้องจุลทรรศน์ หรือจะเรียกสั้นๆ ว่า ‘มดลูกเทียม’ ก็ได้ ทำหน้าที่เหมือนภายในมดลูก โดยติดตั้งกล้องจุลทรรศน์หัวกลับพร้อมชุดจุลหัตถการ (Micromanipulator) เพื่อทำการผสมเทียมนอกร่างกายไว้ภายในตู้ได้ สามารถจำลองสภาวะแวดล้อมเลียนแบบมดลูกได้ทั้งอุณหภูมิ ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และออกซิเจน
ตู้ออกแบบโดยคำนึงถึงการใช้งานจริง จึงสามารถทำงานทุกขั้นตอนได้สะดวก ปฏิบัติงานได้นาน มีระบบลดการสั่นสะเทือนขณะปฏิบัติงาน มีช่องส่งของเข้า-ออกชนิด Interlock ป้องกันผลกระทบจากสภาพแวดล้อมภายนอกที่แตกต่างกันขณะส่งตัวอย่างเข้า-ออก
ศ.ดร.นพ.วิปร อธิบายเสริมว่า หลังจากที่ได้ตัวอ่อนที่สมบูรณ์แข็งแรงมา จากนั้นจะใช่ฝังที่แม่อุ้มหรือแม่แท้ก็ได้ แอท-ยีนส์ เป็นบริษัทที่ทำการตรวจตัวอ่อนที่มีครบวงจร และมีประสิทธิภาพที่สุดในประเทศ
“จะเพศชาย หญิง ก็เลือกได้หมด แต่หลักการสำคัญเราไม่ได้ตั้งใจจะเลือกเพศ แต่เราต้องการจะเลือกทารกที่สมบูรณ์ที่สุด”
ดันไทยศูนย์กลางการทำ IVF
ศ.ดร.นพ.วิปร กล่าวอีกว่า ช่วงก่อนเกิดโควิด ธุรกิจด้านการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย หรือการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) เติบโตดีมากเป็น Medical Hub ของการทำ IVF โดยแต่ละปีมีลูกค้ามาทำที่ แอท-ยีนส์ประมาณ 3-4 หมื่นคู่ต่อปี และกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เป็นคนจีน
“ธุรกิจ IVF ในประเทศไทยเรียกได้ว่าน่าจะเป็นหนึ่งในสามของอันดับโลก ลูกค้าหนึ่งรายมีค่าใช้จ่ายต่อการทำ 1 Cycle หรือการกระตุ้นให้มีไข่ตกหนึ่งรอบมีค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท”
ด้วยเหตุนี้ทำให้ประมาณได้ว่าในแต่ละปี ประเทศไทยมีรายได้เข้าประเทศจากกลุ่มคู่รักชาวจีนกว่า 3 หมื่นล้านบาท และไม่ใช่ว่าทุกคนที่มาทำ Cycle เดียวแล้วจะสำเร็จ อาจมีทำซ้ำ เพราะฉะนั้นมองว่ามูลค่าตลาดมากกว่า 4 หมื่นล้านบาทต่อปี และหากนับรวมตลอดซัพพลายเชนที่เป็นโรงพยาบาล สถานพยาบาล คลินิกต่างๆ มูลค่าตลาดนี้มีมากกว่าแสนล้านบาทต่อปี
“ลูกค้าเป็นกลุ่มรายได้สูง และกระจายรายได้ไม่เพียงแค่ด้านการแพทย์ แต่ยังครอบคลุม Supply Chain ที่มีอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องเยอะมาก เป็นโอกาสที่จะสร้างรายได้เข้าประเทศอีกมาก”
รู้ข้อมูลมนุษย์ อนาคตที่ทำให้ทุกคนสุขภาพดี
ปัจจุบันเรื่องการตรวจ DNA หรือการตรวจข้อมูลพันธุกรรมประชากรมีการริเริ่มทำในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพยุโรป เด็กที่คลอดออกมาใหม่จะมีการตรวจยีนส์และเก็บข้อมูลไว้ทั้งหมด สำหรับในประเทศไทย แม้จะเริ่มมีบ้างแต่ยังจำกัดเฉพาะกลุ่มบุคคล
ขณะเดียวกัน ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ศ.ดร.นพ.วิปร สนใจกับการอัพเกรดตัวเอง เลยเพิ่มบริการที่เกี่ยวข้องกับ Stem Cell เข้าไปด้วย ทำให้ปัจจุบันธุรกิจของแอท-ยีนส์ ไม่เพียงแต่การขายข้อมูลมนุษย์ และยังเสนอทางเลือกให้กับคนที่มาใช้บริการด้วย
อย่างไรก็ตาม คุณหมอเน้นย้ำว่า ปัจจัยพันธุกรรมเป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะการเรียนรู้ ยังมีเรื่องระบบอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง และความสามารถต่างๆ ของมนุษย์เป็นเรื่องนามธรรม พันธุกรรมจึงเป็นแค่ส่วนเดียว ลูกหมอก็ไม่ใช่ว่าต้องเป็นหมอทุกคน
สร้างห้องแลบตรวจหาเชื้อโควิด 19
ขณะที่สถานการณ์ช่วงการระบาดของเชื้อโควิด 19 ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้แอท-ยีนส์ เป็นที่รู้จักในสังคมทั่วไปมากขึ้น และนับเป็นจุด Turning Point ครั้งสำคัญ ซึ่งอย่างที่อธิบายก่อนหน้านี้ว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ของแอท-ยีนส์เป็นคนจีน ด้วยเหตุนี้ภายใต้ปัจจัยดังกล่าว ศ.ดร.นพ.วิปร จึงต้องระดมสมองจากทีมนวัตกรรม มาสร้างห้องแลบตรวจหาเชื้อโควิด 19 โดยใช้เทคโนโลยีเดียวกับการตรวจ DNA และต้องใช้ห้องแลบที่พิเศษมากๆ
และแน่ตอนว่าต้องเป็นการทำงานร่วมกับ Strategic Partner คือ คุณนัทธี ซีอีโอ พัลซ์ ไซเอนซ์ ที่ร่วมกันออกแบบห้องแลบ Biosafety ที่มีมีระบบการจัดการจะสูงกว่าระดับที่ทำในโรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งไม่เพียงแต่การตรวจหาที่แม่นยำ ว่าเชื้อเป็นสายพันธุ์ชนิดใด แต่ยังมีความปลอดภัยสูงต่อผู้ใช้ อันเนื่องจากห้องแลบดังกล่าวเกิดจากการระดมสมองระหว่างหมอที่เป็นผู้ปฏิบัติงานจริงและนักนวัตกรรม
ปัจจุบันเป็นห้องแล็บต้นแบบของหลายๆ ที่ และต่อมาก็มีการต่อยอดจนเป็นรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย และรถปฏิบัติการตรวจเชื้อแบบเคลื่อนที่ ที่ออกตรวจโควิดนอกพื้นที่ และยังเป็นรถประราชทานอีกด้วย และดูเหมือนโควิด 19 ก็ไม่สามารถจะหยุดยั้งการคิดค้นและหานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อออกแบบชีวิตคนให้ง่ายและดีขึ้น
จะเห็นว่าทั้งธุรกิจของคุณหมอวิปร และคุณนัทธีต่างมุ่งใช้จุดแข็งที่มีเพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ และยังยืนยันได้ถึงความสามารถของแพทย์ไทย และนักวิทยาศาสตร์ของไทยที่สามารถต่อยอดองค์ความรู้สู่การทำธุรกิจอย่างจริงจัง และสร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ รวมทั้งการผลักดันสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของไทยสร้างรายได้และฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมของทั้งสองธุรกิจได้ที่ :
http://www.atgenes.com/
http://pulsescience.co.th/
https://www.facebook.com/atgenes.th/