สพฉ.จับมือ 8 พันธมิตร ปฏิรูประบบเทคโนโลยีการแพทย์ฉุกเฉิน สู่รูปแบบดิจิทัล
สพฉ.จับมือ 8 พันธมิตร ปฏิรูประบบเทคโนโลยีการแพทย์ฉุกเฉิน สู่รูปแบบดิจิทัล
สพฉ.จับมือ 8 พันธมิตร ปฏิรูประบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือการปฏิบัติการและให้บริการในรูปแบบดิจิทัล (EMS Digital Transformation) ขับเคลื่อนภารกิจด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยข้อมูลอย่างเต็มตัว (EMS Data-Driven) นำไปสู่การบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่ เท่าเทียม ทั่วถึง และมีมาตรฐาน ให้กับประชาชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
นาวาเอกนายแพทย์พิสิทธิ์ เจริญยิ่งรองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้กล่าวว่า ท่านเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา ได้ให้ความสำคัญของการปฏิรูประบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการแพทย์ฉุกเฉิน และการขับเคลื่อนภารกิจด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยข้อมูล เพื่อนำไปสู่การยกระดับการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินในรูปแบบดิจิทัลทั้งระบบ จึงได้ส่งเสริมและผลักดันให้เกิดโครงการการปฏิรูประบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และจัดทำเครื่องมือสำหรับการบริหารจัดการข้อมูล หรือ เป็นแพลตฟอร์มกลางสำหรับการบูรณาการ แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการแพทย์ฉุกเฉินของทั้งประเทศ เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน และการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินทั้งระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ชื่อโครงการว่า National EMS Data Exchange Platform องค์ประกอบที่สำคัญของแพลตฟอร์มกลางดังกล่าว ได้แก่ นโยบายธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance) มาตรฐานชุดข้อมูล (Data Set and Standard) มาตรฐานการเข้าถึงข้อมูล (Data Access Control) การบริหารจัดการข้อมูลเชิงคุณภาพ (Data Quality Control) การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล (Data Security Control) โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการแพทย์ฉุกเฉินทั้งระบบและเป็นมาตรฐานของประเทศ
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้เชิญผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญทั้งสิ้น 8 แห่ง ได้แก่ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร)หรือ DGA ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บริษัท Coraline บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ( NT) บริษัท Microsoft มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ ร่วมแถลงข่าว ความร่วมมือ บทบาทหน้าที่ และภารกิจที่เกี่ยวข้อง ในการสนับสนุนและขับเคลื่อนโครงการฯ ดังกล่าว ในวันที่ 9 มีนาคม 2565 เวลา 13.00 -15.00 น. ณ ห้องประชุม B 601 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจากอำนาจหน้าที่ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ที่เป็นไปตามพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน 2551 ตามมาตรา 15 (3) คือการจัดให้มีระบบปฏิบัติการฉุกเฉินรวมถึงการบริหารจัดการและการพัฒนาระบบสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน แล้วนั้นการได้มีโอกาสในการดำเนินโครงการดังกล่าวนี้ จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งภาครัฐและเอกชน ในด้านการบูรณาการ แลกเปลี่ยน เชื่อมโยงข้อมูลด้านการแพทย์ฉุกเฉินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งประเทศ นอกจากนี้ยังทำให้ลดต้นทุนในการพัฒนาระบบสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวนี้ในภาพรวมของประเทศ สุดท้ายประชาชนจะสามารถเข้าถึงบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง มีมาตรฐาน ทันสมัย และมีความยั่งยืน
9 มีนาคม 2565