บทบาท “กรรมการหญิง” กับ ความยั่งยืนของธุรกิจ
บทบาท “กรรมการหญิง” กับ ความยั่งยืนของธุรกิจ
- ก.ล.ต. สนับสนุนการเพิ่มบทบาทสตรีในตลาดทุนไทย สร้างความหลากหลายในคณะกรรมการบริษัทจดทะเบียน
- เป้าหมายปี 2565 ส่งเสริมให้ 30% ของบริษัทจดทะเบียนไทยมีกรรมการหญิงอย่างน้อย 30%
ในปัจจุบัน สตรีก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำและมีบทบาทสำคัญในการบริหารองค์กรจำนวนไม่น้อย ทั้งองค์กรระดับประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ ตลอดจนการเป็นผู้นำประเทศ เช่นเดียวกับธุรกิจในตลาดทุนไทย ที่คณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนมีความหลากหลายทางเพศ (gender diversity) โดยจากการสำรวจเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 พบว่า 27% ของบริษัทจดทะเบียนมีกรรมการหญิงอย่างน้อย 30% โดยเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 156 บริษัท และบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ 51 บริษัท
ปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานของ “คณะกรรมการ” ในการรับมือกับ “VUCA World” ที่สภาพเศรษฐกิจและสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ภาคธุรกิจต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และความคลุมเครือ คือ การมีคณะกรรมการที่มีความหลากหลาย (board diversity) ทั้งในด้านทักษะ ประสบการณ์ ความสามารถ และคุณลักษณะเฉพาะด้าน รวมถึงเพศ อายุ ที่จำเป็นต่อธุรกิจ เพื่อให้เกิดความหลากหลายในด้านมุมมอง ความรู้ ประสบการณ์ ทักษะเฉพาะ และข้อมูลเชิงลึก นำไปสู่การตัดสินใจร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไปสู่การดำเนินการที่สอดรับกัน ผ่านการถ่ายทอดเป็นวัฒนธรรมองค์กร เพื่อเป็นไปตามเป้าหมายธุรกิจที่ตั้งไว้ หรือที่เรียกว่า tone from the top
ในปี 2565 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนไทย มีแผนดำเนินการเพิ่มบทบาทสตรี (women empowerment) ในตลาดทุนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้ 30% ของบริษัทจดทะเบียนไทยมีกรรมการหญิงอย่างน้อย 30% และส่งเสริมทักษะที่จำเป็นให้แก่สตรี โดยร่วมมือกับองค์กรที่เกี่ยวข้องผลักดันการเพิ่มจำนวนกรรมการหญิงในตลาดทุน เพิ่มโอกาสให้องค์กรได้กรรมการหญิงที่มีความเป็นมืออาชีพด้วยการตัดสินใจที่คำนึงถึงปัจจัยรอบด้านและเหมาะกับบริบทของธุรกิจ
นอกจากการส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มบทบาทสตรีในตลาดทุนไทยร่วมกับหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งเสริมทักษะที่จำเป็นให้กับสตรีและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างเหมาะสม ออกเกณฑ์ต่าง ๆ ที่สนับสนุนการออกตราสารทางการเงินเพื่อสังคมแล้ว ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ก.ล.ต. ยังได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินการภายในองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม และได้รับรางวัลหน่วยงานองค์กรดีเด่นด้านการคุ้มครองสิทธิและการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ ประเภทหน่วยงานภาครัฐ ในวันสตรีสากลประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “รางวัลนี้แสดงถึงความมุ่งมั่นของ ก.ล.ต. ในการดำเนินงานด้านคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศที่สอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และพันธกิจที่ได้รับมอบหมายตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 – 2565) หรือ แผน NAP จากคณะรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนและสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนให้แก่บริษัทจดทะเบียนในตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง โดยปฏิบัติตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) เพื่อเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ในเป้าหมายที่ 5 เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ
อีกทั้งในปี 2565 เป็นปีที่ ก.ล.ต. ครบรอบ 30 ปี ถือเป็นโอกาสดีที่จะร่วมกันเพิ่มบทบาทสตรีให้ก้าวมาเป็นผู้นำและร่วมขับเคลื่อนองค์กร ด้วยความเชื่อมั่นว่าจะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนตลาดทุนไทยให้เป็นตลาดทุนที่ยั่งยืน ช่วยเพิ่มความน่าสนใจของตลาดทุนไทยในระดับสากล”