"ปตท.สผ." คว้ารางวัลองค์กรโปร่งใส ตั้งเป้าเป็นองค์กรต้นแบบด้าน GRC ให้กับบริษัทจดทะเบียนไทย
"ปตท.สผ." คว้ารางวัลองค์กรโปร่งใสจาก ป.ป.ช. เป็นครั้งที่ 4 พร้อมตั้งเป้าเป็น “องค์กรต้นแบบ”ด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Governance, Risk Management and Compliance – GRC) ให้กับบริษัทจดทะเบียนไทย
บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของคนไทย ที่มีภารกิจหลักในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศ โดยมีวิสัยทัศน์ในการเป็น Energy Partner of Choice ที่มุ่งมั่นสร้างคุณค่าร่วมในระยะยาวให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย
การดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ โดยยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล การกำกับดูแลให้มีการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในอย่างเหมาะสม ตลอดจนการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด จึงเป็นสิ่งที่ ปตท.สผ. ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นดำเนินการเพื่อก้าวสู่การเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืน
ล่าสุด ปตท.สผ. ได้รับ รางวัลองค์กรโปร่งใส (NACC Integrity Awards) เป็นครั้งที่ 4 จาก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ในงานมอบรางวัลองค์กรโปร่งใส ครั้งที่ 10 ซึ่ง ป.ป.ช. มอบให้กับองค์กรที่มีการดำเนินงานด้วยความโปร่งใส และปฏิบัติภารกิจตามแนวทางจริยธรรมที่เป็นสากล
- จุดเริ่มต้นแนวคิด "องค์กรโปร่งใส" ของ ปตท.สผ.
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ. เปิดเผยถึงเบื้องหลังรางวัลอันทรงเกียรติที่ ปตท.สผ. ได้รับนี้ ว่าไม่สามารถเกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น ทว่ามาจากนโยบายการบริหารที่ส่งเสริมการมีธรรมาภิบาลที่ฝังอยู่ในทุกส่วนขององค์กร ตั้งแต่ระบบการทำงาน พนักงาน จนถึงผู้บริหาร ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องกว่า 3 ทศวรรษของการดำเนินธุรกิจ
"รู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจอย่างยิ่งที่เราได้รางวัลองค์กรโปร่งใสถึง 4 ครั้ง เพราะรางวัลนี้สะท้อนให้เห็นถึง การที่ ปตท.สผ. ทำงานโดยมีจริยธรรม คุณธรรม ความซื่อสัตย์ ความโปร่งใส และตรวจสอบได้ในทุกเรื่อง"
นายมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมา ปตท.สผ. ดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance - CG) มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งองค์กร จนกระทั่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ และขยายธุรกิจไปกว่า 40 โครงการ ใน 15 ประเทศทั่วโลกในปัจจุบัน เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสำคัญของการทำ CG เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือความมั่นใจของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ก่อนจะพัฒนาจาก CG สู่ GRC (Governance, Risk Management and Compliance) หรือ การกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ในปัจจุบัน ซึ่ง GRC เป็นหนึ่งใน 3 เสาหลักที่ทำให้องค์กรแข็งแรง ร่วมกับ HPO (High Performance Organization) การพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ SVC (Sustainable Value Creation) การสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ปตท.สผ. ให้ความสำคัญในด้านธรรมาภิบาลอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่ยอมรับในสังคมในทุกวันนี้
- แนวปฏิบัติ "GRC" ภายในองค์กร
"พนักงานทำงานด้วยหัวใจที่เป็นคุณธรรม มีจริยธรรม รับผิดชอบต่อสังคมต่างๆ ต้องมาจากหัวใจ เรื่องนี้ไม่ใช่แค่การทำตามระเบียบ แต่จะต้องสร้างประโยชน์หรือคุณค่าต่างๆ ให้กับสังคมด้วย" ซีอีโอ ปตท.สผ. กล่าว
พร้อมยังย้ำว่า การทำให้องค์กรมีความเข้มแข็งด้านธรรมาภิบาลไม่ใช่เรื่องง่าย โดย ปตท.สผ. จัดทำเป็นแผนการดำเนินงานระยะยาว ได้แก่กลยุทธ์การกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ หรือ "Smart Assurance" ซึ่งมุ่งเน้นการบริหารจัดการกระบวนการกำกับดูแลองค์กรแบบบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านเครื่องมือต่างๆ อาทิ แอปพลิเคชันที่ดึงศักยภาพของ AI เข้ามาช่วยตรวจสอบในฐานข้อมูลที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ทั้งเรื่องการบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายใน และการตรวจสอบต่างๆ ที่ยกระดับการตรวจสอบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อีกกลยุทธ์ที่สำคัญคือการสร้างจิตสำนึกในการปฏิบัติงานตามหลัก GRC หรือ "Mindful GRC" เพื่อให้ GRC เข้าไปฝังอยู่ในใจของพนักงาน ซึ่งมุ่งเน้นให้บุคลากรของ ปตท.สผ. ตระหนัก เข้าใจ และนำแนวทางการดำเนินการตามหลัก GRC ไปปฏิบัติเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานประจำวัน จึงมีแคมเปญต่างๆ เพื่อให้เกิดการรับรู้ภายในองค์กร เช่น งาน CG Day เป็นวันที่พนักงานจะมาเข้าร่วมความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนธุรกิจบนพื้นฐานความถูกต้องและโปร่งใส หรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับ CG เช่น การร่วมฟังเสวนาเกี่ยวกับหลักการ CG เพื่อให้ทุกคนในองค์กรเห็นความสำคัญของการมีธรรมาภิบาลในการทำงาน เป็นต้น
ไม่เพียงเท่านี้ "ธรรมาภิบาล" ยังถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลงานของพนักงาน โดย 1 ใน 8 ค่านิยมขององค์กรที่สะท้อนเรื่อง CG ได้ดี คือ "Integrity" หรือ “ความซื่อสัตย์” โดย ปตท.สผ. ได้นำระบบประเมินผลการปฏิบัติงานแบบ 360 องศา มาใช้ในการประเมินพฤติกรรมของพนักงานทุกปี ตั้งแต่หัวหน้างาน ไปจนถึงเพื่อนร่วมงาน และลูกน้อง
ตลอดระยะเวลาที่มีการบริหารงานภายใต้หลักธรรมาภิบาลจนถึงปัจจุบัน จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนว่าพนักงานเล็งเห็นว่าธรรมาภิบาลเป็นเรื่องสำคัญ แต่ความท้าทายหลังจากนี้ คุณมนตรีมองว่าเป็นเรื่องของการทำอย่างต่อเนื่อง ว่าจะทำอย่างไรให้ธรรมาภิบาลซึมซับเข้าไปอยู่ในใจของพนักงานให้ได้
"จำเป็นต้องนำข้อคิดเห็นต่าง ๆ มาคุยกันแล้วหาทางพัฒนาปรับปรุง รวมถึงผู้บริหารต้องเป็น Role Model ต้องพูดและทำในสิ่งที่ตัวเองพูด พูดสม่ำเสมอ ทำเป็นตัวอย่างให้เห็น เรื่องของความโปร่งใส ความซื่อสัตย์ ต้องทำทุกอย่างที่ถูกต้อง" ผู้บริหาร ปตท.สผ. กล่าว
- ธรรมาภิบาล คืนสู่สังคม
"ธรรมาภิบาลไม่ได้มองเรื่องความโปร่งใส ตรวจสอบได้อย่างเดียว แต่ต้องมาจากหัวใจ และหัวใจนี้คือการ คืนสู่สังคม"
นอกเหนือไปจากเรื่องธรรมาภิบาลแล้ว นายมนตรีกล่าวว่า ปตท.สผ. ยังมีเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างความสมดุลที่เหมาะสมในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน ปตท.สผ. จึงร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการก๊าซเรือนกระจกและแก้ปัญหา ภาวะโลกร้อน สอดคล้องกับทิศทางของโลกและของประเทศไทยในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในเดือน มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา ปตท.สผ. จึงได้ประกาศเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 (Net Zero Greenhouse Gas Emissions by 2050) ด้วยแนวคิดที่เรียกว่า "EP Net Zero" โดย E มาจาก "Exploring for Lower Carbon E&P Portfolio" การบริหารจัดการการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพื่อมุ่งสู่องค์กรคาร์บอนต่ำ โดยเน้นการลงทุนในโครงการก๊าซธรรมชาติ นำปัจจัยเกี่ยวกับความเข้มของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาพิจารณาประกอบการลงทุนในโครงการใหม่ๆ ส่วน P คือ "Production and Planet in Balance" ซึ่งหมายถึงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการผลิต การใช้พลังงานหมุนเวียนในการดำเนินงาน และการสร้างสมดุลด้วยการปลูกป่าบกและป่าชายเลน เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก
- ตั้งเป้าสู่ Role Model ด้าน GRC ให้กับบริษัทจดทะเบียนไทย
นายมนตรี กล่าวว่า การได้รับรางวัลองค์กรโปร่งใส ทำให้ได้ผลตอบรับที่ดี โดยกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของ ปตท.สผ. ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ คู่ค้า ผู้ถือหุ้น พันธมิตรทางธุรกิจ ตลอดจนสังคมและชุมชน ก็มีมุมมองว่าเราเป็นบริษัทที่มีความโปร่งใส มีคุณธรรมในการทำงาน มีจริยธรรม ได้รับความน่าเชื่อถือจากภาคส่วนต่างๆ จึงเป็นความภาคภูมิใจจากสิ่งที่ ปตท.สผ. มุ่งมั่นทำมาตลอดอย่างต่อเนื่อง
พร้อมกันนี้ ได้กล่าวย้ำว่า การบริหารงานบนหลักธรรมาภิบาลมีความสำคัญอย่างมากในปัจจุบัน โดยเป้าหมายของ ปตท.สผ. คือ การเดินหน้าสู่การเป็นองค์กรต้นแบบ หรือ Role Model ด้าน GRC ของบริษัทจดทะเบียนไทยภายในปี 2573 (2030) พร้อมที่จะขยายผลและเผยแพร่แนวปฏิบัติที่ดีด้าน GRC ไปยังกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของ ปตท.สผ. รวมถึงองค์กรอื่นๆ ที่สนใจ เป็นบริษัทที่มีหลักธรรมาภิบาลเป็นที่ยอมรับ
"ใครพูดถึง CG ต้องนึกถึง ปตท.สผ. นี่เป็นเป้าหมายที่เราตั้งมาท้าทายตัวเอง และเชื่อว่าจะเกิดขึ้นจริง" นายมนตรี กล่าวทิ้งท้าย
สำนักงาน ป.ป.ช. ขอเชิญชวนติดตามการตัดสินรางวัลองค์กรโปร่งใส ครั้งที่ 11 โดยสามารถดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ สำนักงาน ป.ป.ช.