มะเร็งลำไส้ใหญ่... ป้องกันได้ถ้าเริ่มตรวจคัดกรอง
มะเร็งลำไส้ใหญ่... ป้องกันได้ถ้าเริ่มตรวจคัดกรอง
อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประเทศไทยพบสูงมากเป็นอันดับ 3 ในเพศชายและอันดับ 4 ในเพศหญิง โดยความเสี่ยงแปรผันตามอายุที่มากขึ้น เชื้อชาติและพันธุกรรม การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นเป้าหมายเพื่อตรวจหาความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ตั้งแต่ระยะแรกที่ยังไม่ก่อให้เกิดอาการซึ่งพบว่าสามารถลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยจากโรคนี้ได้ เนื่องจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้น หากปล่อยรอจนเกิดอาการ เช่น อุจจาระเป็นเลือด ปวดเบ่งถ่ายไม่สุด หรือคลำได้ก้อนในท้อง อาจบ่งถึงระยะโรคที่เป็นมากซึ่งทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร
มะเร็งลำไส้ใหญ่ มักเกิดจากติ่งเนื้อที่มีขนาดเล็ก เรียกว่า โพลิป (Polyp) ซึ่งบางชนิดหากปล่อยทิ้งไว้ติ่งเนื้อจะสามารถเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ในระยะเวลาประมาณ 5 - 10 ปี โรคนี้มักพบในผู้ที่มีอายุ 40-50 ปีขึ้นไป จึงเป็นที่มาของคำแนะนำในการเริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประชากรทั่วไปตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป หรือหากมีประวัติญาติสายตรงที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรเริ่มคัดกรองที่อายุน้อยลงคือ 40 ปี (หรือ -10 ปีจากอายุญาติตอนที่วินิจฉัยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่)
การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถตรวจได้หลายวิธี ดังนี้
- การตรวจเม็ดเลือดแดงแฝงในอุจจาระ (fecal occult blood test) ทุก 1 ปี ข้อดีคือสามารถเก็บอุจจาระตรวจได้ทันทีโดยไม่ต้องเตรียมตัว ข้อเสียคือมีความไวต่ำกว่า และ หากผลตรวจอุจจาระพบมีเม็ดเลือดแดงแฝง ควรส่งตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่เพื่อหาเหตุเพิ่มเติม
- การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) ทุก 5-10 ปี ข้อดีคือมีความไวและแม่นยำสูงในการวินิจฉัย และสามารถตัดติ่งเนื้อออกได้เลยขณะทำหัตถการซึ่งเป็นการป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ในระยะยาว ทำได้รวดเร็วและปลอดภัย ข้อเสีย เช่น ต้องทานยาระบายเพื่อเตรียมลำไส้
- การตรวจด้วยวิธีอื่นๆ เช่น Computed Tomography Colonoscopy (CT colonoscopy) ทุก 5 ปี พบว่ามีความไวสูงเช่นกัน แต่ข้อเสียคือติ่งเนื้อขนาดเล็กบางประเภทอาจดูได้ไม่ชัดเจนเท่าเทคนิคการส่องกล้องลำไส้ใหญ่โดยตรง อีกทั้งยังต้องเตรียมลำไส้ด้วยการกินยาระบายในลักษณะเดียวกัน และหากตรวจ CT colonoscopy แล้วพบว่ามีติ่งเนื้อ หากต้องการตัดติ่งเนื้อออก จำเป็นต้องนำผู้ป่วยไปส่องกล้องลำไส้ใหญ่เพื่อทำหัตถการซ้ำอีกครั้ง
อนึ่ง การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่พบว่าสามารถลดอุบัติการณ์ของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้อย่างมีนัยสำคัญ จึงควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะผู้ที่มีอายุเกิน 50 ปี หรือมีความเสี่ยงมีญาติสายตรงที่เคยได้รับการวินิจฉัยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มาก่อน ทั้งนี้วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เป็นผู้พิจารณาเลือกวิธีที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
ปัจจุบัน คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลหัวเฉียว มีทีมแพทย์เฉพาะทาง พยาบาล และเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการให้บริการปรึกษา ตรวจวินิจฉัย และรักษาโรคทางจิตเวชต่างๆ พร้อมด้วยเครื่องมือเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัยทำให้การรักษาสามารถทำได้อย่างครบวงจร และคลินิกอายุรกรรมพร้อมเปิดบริการตั้งแต่ 07.00 - 24.00 น
พ.ญ.ศิริณา เอกปัญญาพงศ์ อายุรแพทย์เฉพาะทางระบบทางเดินอาหารและตับ
คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลหัวเฉียว