จุดพลุ “อีสาน” เมืองแห่ง “ไบโอเทค” แหล่งเศรษฐกิจใหม่ลุ่มน้ำโขง
เตรียมพบกับงาน LAB Future & BIO Expo 2022 งานโชว์เคส อัพเดท แลกเปลี่ยนความรู้ด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีไบโอเทค ที่จะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญผลักดัน “อีสาน” สู่ศูนย์กลางการลงทุนแห่งลุ่มน้ำโขง ระหว่างวันที่ 24-25 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนเเก่น (ไคซ์)
แม้ปัจจุบันไม่มีใครมองข้าม ‘ภาคอีสาน’ ที่พลิกฟื้นจากภาพจำถึงพื้นที่แห้งแล้ง ดินแตกร่วนซุย ความแร้นแค้นถูกแทนที่ด้วยแหล่งการเกษตรที่สมบูรณ์ แหล่งทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพ และแหล่งอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศไทย แต่ถึงอย่างนั้นปัญหาเรื้อรังที่อยู่คู่กับภาคอีสานอย่างเนิ่นนานไม่ว่าจะเป็น กับดักความยากจนของคนในภาค ปัญหาทางสุขภาพและสาธารณสุข หรือแม้แต่ปัญหาใหญ่อย่างความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่ขาดช่วงด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือลงทุนใหม่ๆ ที่ทำให้ภาคอีสานยังไปไม่ถึงภาพฝันของการเป็นแหล่งเศรษฐกิจใหม่ที่ตั้งความหวังเอาไว้
“นวัตกรรมและเทคโนโลยีจะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ องค์กร ทรัพยากรมนุษย์ และจะนำมาซึ่งรายได้ การลงทุน และนี่ก็คืออาจจะเป็นส่วนสำคัญของการเติบโตของภาคอีสาน”
ธีรยุทธ ลีลาขจรกิจ ผู้อำนวยการ บริษัท แอดลิบ แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อการเปิดโจทย์อีสาน กับโอกาสพัฒนาการการลงทุนลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นใจความสำคัญของงาน LAB Future & BIO Expo 2022
LAB Future & BIO Expo 2022 คืองานแสดงเทคโนโลยี เครื่องมือและบริการ เคมีภัณฑ์และสารมาตรฐานทางห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ และงานแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อการพัฒนาและการลงทุนสำหรับภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือและกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง จัดระหว่างวันที่ 24-25 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนเเก่น (ไคซ์)
ทำไมไบโอเทคถึงกลายเป็นโอกาสพัฒนาการลงทุนลุ่มน้ำโขง?
ความสำคัญของเทคโนโลยีชีวภาพต่อภาคอีสานคืออะไร?
คณะผู้จัดงานทั้ง 3 คนจาก ขอนแก่นอินโนเวชั่นเซ็นเตอร์ สมาพันธ์สมาคมสัตวแพทย์แห่งเอเชีย และสมาคมการค้าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมตอบคำถามสำคัญ และบอกใบ้ถึงไฮไลท์ที่จะพบได้ในงาน LAB Future & BIO Expo 2022 ที่จะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในเดือนพฤศจิกายนนี้
- One Health สุขภาพอนามัยของทั้งคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ในบริบทสุขภาพหนึ่งเดียว
อัจฉริยา ไศละสูต ผู้อำนวยการสำนักงาน สมาพันธ์สมาคมสัตวแพทย์แห่งเอเชีย กรุงเทพฯ กรรมการกลางสามัญ สัตว์แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ คือการพัฒนาชีวิตของคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม
“การที่คนเราป่วยก็เพราะสัตว์ป่วย สิ่งแวดล้อมป่วย สุขภาพทั้งหมดคือหนึ่งเดียวกัน และเชื่อมโยงกันอย่างขาดไม่ได้ เราจึงต้องให้ความสำคัญ และผลักดันนโยบาย One Health”
“One Health” หรือ วิถีสุขภาพหนึ่งเดียว คือแนวคิดการร่วมมือกันเพื่อเพิ่มศักยภาพในการควบคุม ป้องกันและกำจัดโรค เตรียมความพร้อมในกรณีที่มีการระบาดของโรคติดต่อระหว่างสัตว์กับคน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยทางด้านอาหารที่ได้มาจากสัตว์ และเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี
อัจฉริยา ยกตัวอย่างปัญหาทางสุขภาพของคนลุ่มแม่น้ำโขงคือโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่เป็นปัญหาสุขภาพของปศุสัตว์ และเกษตรกรรายย่อยในภาคอีสาน หรือแม้แต่การเสียชีวิตจากโรคพยาธิใบไม้ตับเป็นต้น
“โรคต่างๆ ที่เกิดกับคนส่วนหนึ่งมาจากอาหาร ซึ่งบางพื้นที่บางวัฒนธรรมอาจจะต้องค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดโรค แต่อีกด้านหนึ่งไม่แน่ว่าในอนาคตอาจจะมีการวิจัยพัฒนาพันธุ์หมู หรือข้าวในทนทานต่อโรคมากขึ้น ซึ่งการต่อยอดงานวิจัยสำคัญแบบต่อคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคตขึ้นได้ ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง”
โดย อัจฉริยา กล่าวส่งท้ายว่าภายในงาน LAB Future & BIO Expo 2022 ก็จะมีประชุมสัมมนาหัวข้อย่อย เกี่ยวกับการจัดการปัญหาโรคยอดฮิตของคนอีสาน รวมถึงผลจากการลงพื้นที่ดูแลเรื่องสุขภาพของคนว่ามีความยากง่ายมากแค่ไหนด้วยเช่นกัน
- วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี คือประตูแห่งความเปลี่ยนแปลงชีวิต
ทางด้าน สุวรรณ พงษ์สังข์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมการค้าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ความเห็นเรื่องเทคโนโลยีว่า นอกจากงานวิจัยแล้ว สิ่งสำคัญของการพัฒนาชีวิตคน สัตว์ ก็คือเทคโนโลยี
“ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีก่อให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ สร้างความเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตมนุษย์ นำมาใช้ตรวจหาโรคภัย อย่างเช่นการตรวจหาเชื้อโควิด หรือนำไปใช้กับสัตว์เศรษฐกิจในอีสาน เช่น สุกร โค กระบือ ปลา ในการคัดหาแม่พันธุ์และบำรุงพันธุ์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลสินค้า”
สุวรรณ ยังเพิ่มเติมอีกว่าการมีเทคโนโลยีจะช่วยส่งเสริมของระบบชีวภาพต่างๆ และช่วยพัฒนาท้องถิ่นในหลายมิติ เช่นเรื่องพืชเศรษฐกิจ หรือสัตว์เศรษฐกิจ เนื่องจากภาคอีสานมีความโดดเด่นในหลายอุตสาหกรรม รวมกับความสามารถของบุคลากร ซึ่งทั้งหมดจะช่วยสนับสนุนให้ภาคอีสานสามารถพัฒนาเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีชีวภาพได้ ซึ่งในงาน LAB Future & BIO Expo 2022 ก็จะมีตัวอย่างเครื่องมือ ห้องแล็บที่เหมาะสมกับพื้นที่ หรือเทคโนโลยีที่น่าสนใจไปจัดแสดงให้ได้ทดลองกัน
- นวัตกรรมนำมาซึ่งอนาคตอีสาน
กวิน ว่องกุศลกิจ ในนาม ขอนแก่นอินโนเวชั่นเซ็นเตอร์ กล่าวถึงศักยภาพของภาคอีสานโดยมองว่าพื้นที่ภาคอีสานและลุ่มน้ำโขงสามารถผลักดันให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ ผ่านการจัดงานแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ รวมถึงเครื่องมือและบริการด้านการพัฒนา ไบโอเทคได้
“อีสานเป็นแหล่งรวมนักวิชาการด้านอาหาร และการแพทย์ และเป็นแหล่งวัตถุดิบด้านอาหาร และยา เนื่องจากอีสานมีพื้นที่เพาะปลูก 43% ของประเทศ และยังเป็นภูมิภาคที่มีประชากรคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่กำลังอยู่ในวัยศึกษา ซึ่งทั้งหมดมีศักยภาพในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ”
นอกจากนี้ กวิน ยังกล่าวด้วยว่า ความท้าทายใหญ่คือการส่งเสริมให้ภาคอีสานเป็น BIO HUB ของภูมิภาคด้วยการพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสให้เป็นศูนย์นวัตกรรมนานาชาติไบโอเทค ที่ประกอบด้วย ศูนย์นวัตกรรมและวิจัย ศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรมบีซีจี รวมถึงเป็นพื้นที่การประชุมสัมมนา โดยคาดว่า ขอนแก่นอินโนเวชั่นเซ็นเตอร์ จะส่งเสริมให้เกิดโครงการค้นคว้าวิจัยใหม่ๆ ในอนาคตเพิ่มมากขึ้น
“งาน LAB Future & BIO Expo 2022 คือพื้นที่ที่เชื่อมให้กลุ่มคนมีต้องการสร้างเครือข่ายหรือระบบนิเวศทางนวัตกรรมมาเจอกัน ส่วนสำคัญคือสร้างความแข็งแรงในกลุ่มทุนเห็นและมาลงทุน จนเกิดรายได้ กลายเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง”
- ย้ำความพร้อมของอีสานสู่ฮับแห่งลุ่มน้ำโขง
ธีรยุทธ ลีลาขจรกิจ ผู้อำนวยการ บริษัท แอดลิบ แมเนจเม้นท์ จำกัด ตอกย้ำถึงความสำคัญของงาน LAB Future & BIO Expo 2022 ว่าโอกาสและการเติบโตของภาคอีสานยังคงมีสูงในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอัตราการเติบโตของตลาดเครื่องมือแล็บสูงถึง 25% รวมถึงมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมและห้องปฏิบัติการฯ ความสามารถของนักวิจัย และการสนับสนุนงบประมาณวิจัยและพัฒนา ทั้งของภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะทำให้อีสานมีธุรกิจต่อเนื่องด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยที่มากขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต
“เชื่อว่าการมีงานแสดงเทคโนโลยีทางห้องแล็บจะช่วยเพิ่มคุณภาพและงบประมาณงานวิจัย นำไปสู่การค้นพบนวัตกรรมรูปแบบต่างๆ ได้มากขึ้น เราจึงจัดงานนี้ขึ้นเพื่อสร้างเป็นชุมชนให้ทุกคนที่สนใจเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน วิเคราะห์ทดสอบ ค้นคว้าวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ หรือ การพัฒนาธุรกิจ การลงทุน มาพูดคุยกัน ในแง่มูลค่าตลาดเครื่องมือแล็บ”
ทั้งนี้ สำหรับไฮไลต์ภายในงานประกอบด้วย การแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีเกี่ยวกับเครื่องมือทางห้องปฏิบัติการฯ และเทคโนโลยีชีวภาพทั้งในและต่างประเทศกว่า 80 บริษัท 200 คูหา 450 แบรนด์