กสทช.’ ฉะ! ‘กกท.’ ทำ MOU บอลโลก เอื้อเอกชน ผิดคำพูดกับ กสทช. จี้ต้องแก้ทันที ไม่งั้นยึด 600 ล้านคืน
กสทช.’ ฉะ! ‘กกท.’ ทำ MOU บอลโลก เอื้อเอกชน ผิดคำพูดกับ กสทช. จี้ต้องแก้ทันที ไม่งั้นยึด 600 ล้านคืน
หลายฝ่ายจับตาดูท่าที กสทช. หลังจากที่ออกมาประกาศว่า จะเรียกเงินคืนจาก กกท. ล่าสุด นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ที่ปรึกษาประธาน กสทช. และประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยถึงกรณี MOU บอลโลกที่ กสทช. ทำร่วมกับ กกท. ว่า “กกท. มีความไม่ตรงไปตรงมา คือ มีการมอบสิทธิ์ผูกขาดให้กับเอกชน โดยห้ามออกอากาศผ่านมือถือ หรืออินเตอร์เน็ตทั้งหมด ออกอากาศได้เฉพาะทรูรายเดียว จึงขัดกับวัตถุประสงค์การใช้เงินของ กองทุน กทปส. รวมถึงขัดกับวัตถุประสงค์ของการเอ็มโอยู ขัดกับนโยบายรัฐบาล ซึ่งถ้า กสทช. นั่งนิ่งเฉย มีโอกาสทำผิดกฎหมาย เพราะรู้ทั้งรู้ว่าคนรับเงินทำผิดกฎ กติกา ดังนั้น กสทช. จึงต้องมีหนังสือเตือน
นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า กสทช. และ กกท. เอ็มโอยูร่วมกันเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ขณะที่ กกท. และเอกชน เอ็มโอยูร่วมกันเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ก่อนการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกในวันที่ 20 พฤศจิกายน ดังนั้น กสทช. จึงใช้สิทธิ์ตามเอ็มโอยู ในการตรวจสอบว่าทำตามข้อตกลงหรือไม่ เนื่องจากเป็นผู้สนับสนุน ขอดูเอ็มโอยูระหว่าง กกท. และเอกชน รวมถึงขอดูสัญญาระหว่าง กกท. และสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ด้วย แต่ กกท. ไม่ส่งให้ โดยให้เหตุผลเพียงว่าเป็นความลับ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ คณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านโทรคมนาคม ยืนยันด้วยมติเป็นเอกฉันท์ว่า การปิดกั้นกล่องไอพีทีวีและไม่ทำตามกฎมัสต์แครี่ ทำให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. โดยถูกกฎหมาย ไม่สามารถถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกได้นั้น ผิดข้อตกลงของ กสทช. ดังนั้น สิ่งที่ กกท. ควรทำคือแก้ไขให้ถูกต้อง
“ก่อนหน้านี้ กกท. รับทราบ และเคยมีหนังสือถึงเอกชนรายนี้แล้วด้วยว่า หากเอ็มโอยูระหว่าง กกท. กับเอกชน ขัดกับเอ็มโอยูหลักระหว่าง กสทช. และ กกท. เอ็มโอยูดังกล่าวไม่มีผล ดังนั้น หาก กสทช. ชี้แล้วว่ากกท.ทำผิดข้อตกลง หรือผิดกฎหมาย ง่ายที่สุดคือ กกท. ต้องไปตกลงกับเอกชนว่า ให้สิทธิ์ออกอากาศผ่านสตรีมมิ่งได้ แต่ไม่ใช่สิทธิ์ผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว โดยต้องอนุญาตให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ซึ่งเขามีหน้าที่ออกอากาศตามกฎมัสต์แครี่ แค่นั้นก็จบ”
แต่ตอนนี้ กกท. กำลังหลงประเด็น เนื่องจากเอกชนรายนี้ฟ้องร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โดยอ้างว่าเป็นไปตามสิทธิ์ ดังนั้น ผู้ให้บริการรายอื่นห้ามถ่ายทอดสด ซึ่งตามความเป็นจริง ถือว่าถูกต้องแค่ครึ่งเดียว ซึ่งสิทธิ์นั้นไม่ใช่สิทธิ์จากฟีฟ่า แต่เป็นสิทธิ์จาก กกท. หาก กกท. เพิกถอนสิทธิ์ตรงนั้น ก็จบ และหาก กกท. เพิกถอนสิทธิ์ถูกขาด ให้ผู้ให้บริการรายอื่นสามารถถ่ายทอดสดได้ ทุกอย่างก็จบศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ก็จะเพิกถอนคำสั่ง” นพ.ประวิทย์ กล่าว
ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ เอกชนรายดังกล่าว ภายหลังได้รับสิทธิ์ผูกขาดจาก กกท. มีการส่งหนังสือแจ้งเวียนไปยังผู้ให้บริการไอพีทีวีทุกรายว่า ไม่ให้ออกอากาศ โดยไอพีทีวีรายอื่นมีการโต้แย้งว่า ต้องสามารถถ่ายทอดสดได้ตามกฎมัสต์แครี่ และมีการทำหนังสือถึง กสทช.
ดังนั้น กสทช. จึงมีมติ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ให้ไอพีทีวีสามารถถ่ายทอดสดได้ แต่หลังจากนั้น เอกชนรายดังกล่าว มีการฟ้องร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ โดยฟ้องบริษัท ซุปเปอร์ บรอดแบนด์ เน็ทเวอร์ค จำกัด (SBN) ผู้ให้บริการ AIS PLAYBOX เพียงรายเดียว เพื่อห้ามออกอากาศ
จากนั้น ศาลจึงมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามออกอากาศ จึงทำให้เกิดการลักลั่นว่า ศาลได้รับข้อเท็จจริงเฉพาะส่วนที่เอกชนถือสิทธิ์ แต่ไม่ได้สืบข้อเท็จจริงในส่วนที่ กสทช. มอบสิทธิ์ โดยมอบเงินสนับสนุนให้ กกท. เพื่อให้คนไทยสามารถรับชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ ดังนั้น หาก กกท. เพิกถอนสิทธิ์ส่วนนั้น ทุกอย่างจบ
แต่ขณะนี้ กกท. ยังไม่เพิกถอน และหลงประเด็นว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ คุ้มครองอยู่ ซึ่งไม่เกี่ยวกัน เพราะการเพิกถอนสิทธิ์ผูกขาดกับเอกชน ไม่ได้เป็นการละเมิดคำสั่งศาล และจะทำให้คดีนี้จบทันที แต่ถ้า กทท. ไม่เพิกถอน ก็เป็นไปได้ว่า ขัดต่อวัตถุประสงค์ของเอ็มโอยู จึงต้องคืนเงิน 600 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 15% ภายใน 15 วัน”
ทั้งนี้ กรณีที่เอกชนรายนี้ยื่นฟ้องผู้ให้บริการ AIS PLAYBOX รายเดียว อาจเพราะเป็นคู่แข่งทางการค้ามาโดยตลอด และหากยังจำได้ การแข่งขันฟุตบอลโลกเมื่อ 4 ปีก่อน ก็เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้แต่ครั้งนั้นเอกชนเป็นผู้ลงขัน 100%
ขณะเดียวกัน มีการกล่าวอ้างว่า กรณีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ เมื่อ 2 ปีก่อน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ได้รับสิทธิ์เช่นกัน โดยซื้อลิขสิทธิ์ผ่านผู้แทนของ กกท. โดยต้องอธิบายว่า เอไอเอสยืนยันว่า ครั้งนั้นซื้อลิขสิทธิ์เฉพาะโอทีที ส่วนของไอพีทีวี ผู้ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.ยังออกอากาศตามกฎมัสต์แครี่ได้ 100% ซึ่งต่างจากบอลโลกครั้งนี้ ที่พอซื้อสิทธิ์ไอทีที แต่ห้ามไอพีทีวีออกอากาศด้วย
ดังนั้น กรณีโอลิมปิก กล่องทรูไอดีจอดำ เป็นเพราะว่า ไม่ใช่ผู้ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. และไม่มีหน้าที่ตามกฎมัสต์แครี่นั่นเอง หากจะออกอากาศต้องซื้อลิขสิทธิ์ ซึ่งก็ตรงไปตรงมา แต่กลับกันครั้งนี้ AIS PLAYBOX เป็นผู้ได้รับใบอนุญาต จึงต้องทำหน้าที่ในการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกอยู่แล้ว แต่กลับถูกคำสั่งศาลห้ามออกอากาศ
“กฎมัสต์แครี่ กสทช. ไม่เลือกปฏิบัติ เราสั่งให้ออกอากาศได้ทุกช่องทีวีดิจิทัล แม้ช่องเรตติ้งน้อยก็ได้รับสิทธิ์ อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ กกท. และ กสทช. ทำเอ็มโอยูร่วมกัน คิดว่า กกท. เข้าใจแล้ว แต่ตอนทำเอ็มโอยูกับเอกชน อาจเข้าใจผิดว่าสามารถมอบสิทธิ์ผูกขาดได้ ด้วยเข้าใจว่า กกท. ศึกษาข้อกฎหมายไม่ละเอียด ลึกซึ้งพอ
ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ กกท. เคยมีหนังสือถึงทรูว่า หากเอ็มโอยูระหว่าง กกท. และทรู ขัดกับ กสทช. เอ็มโอยูนั้นจะไม่มีผล ดังนั้น หาก กกท. ยืนยันว่า เอ็มโอยูดังกล่าวขัดกับ กสทช.ไม่มีผลก็จบ” นพ.ประวิทย์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กกท.ยังไม่มีหนังสือตอบกลับมา แต่เท่าที่ทราบจากสื่อ กกท. ขอให้ กสทช. รอศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ก่อน ซึ่งเป็นคนละส่วนกัน เพราะส่วนแรก คือ สิทธิ์ในการถ่ายทอดสด ซึ่งก่อตั้งโดยกฎของกองทุน กทปส. ส่วนที่ 2 สำหรับศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ เป็นสิทธิ์ที่ กกท. มอบให้กับเอกชน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับ กสทช.
แต่บังเอิญว่า สิทธิ์ที่มอบ ขัดกับวัตถุประสงค์ของเอ็มโอยู จึงขอสงวนสิทธิ์การสนับสนุนเงินในรอบแรก เพราะเงินสนับสนุน จำนวน 600 ล้านบาท ต้องสามารถรับชมการถ่ายทอดสดได้ทุกช่องทางของผู้ที่ได้รับในอนุญาตจาก กสทช.ดังนั้น จึงจะปิดกั้นไม่ได้”
นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า ส่วนที่ กกท. อ้างว่า ส่งบันทึกให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ยืนยันว่า เอ็มโอยูระหว่าง กกท. กับเอกชนยังตรวจไม่แล้วเสร็จจริง ดังนั้น สำนักงานอัยการสูงสุด ควรขอเอ็มโอยูระหว่าง กกท. กับ กสทช. เพื่อพิจารณาควบคู่กันว่าเอ็มโอยูทั้งสองฉบับ ขัดกันอย่างไร
“เรื่องนี้เป็นเรื่องการใช้เงินแผ่นดิน ที่ผิดวัตถุประสงค์ ดังนั้น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ควรเข้ามาตรวจสอบด้วย แต่ขณะนี้ ทั้งสำนักงานอัยการสูงสุด และ สตง. ยังไม่เรียกข้อมูลจาก กสทช. ซึ่งหากตัดสินผิดพลาด ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายให้กับเงินแผ่นดิน ใครจะรับผิดชอบทั้งนี้ สำหรับเงินจำนวน 600 ล้านบาทที่ กสทช. เรียกคืน เพราะทำผิดเอ็มโอยู เชื่อว่ากองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ มีเพียงพอที่จะสำรองจ่ายก่อนได้ หรือของบประมาณจากรัฐ รวมถึงทำหนังสือขอผ่อนผัน พร้อมดอกเบี้ยก็สามารถทำได้ ซึ่งหาก กกท. ยังไม่ชี้แจง หลังจากนี้ ต้องรอมติ กสทช. ส่งหนังสือเพื่อขอคืนเงินต่อไป” นพ.ประวิทย์ กล่าว