โครงการบรรเทาอุทกภัยหาดใหญ่ ลดน้ำท่วมและเพิ่มแหล่งน้ำสำรอง

โครงการบรรเทาอุทกภัยหาดใหญ่ ลดน้ำท่วมและเพิ่มแหล่งน้ำสำรอง

โครงการบรรเทาอุทกภัยหาดใหญ่ ลดน้ำท่วมและเพิ่มแหล่งน้ำสำรอง

พื้นที่ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มคล้ายแอ่งกระทะ เอียงลาดจากทิศใต้ด้าน อ.สะเดา ชายแดนมาเลเซียขึ้นมาทางทิศเหนือ ติดกับทะเลสาบสงขลา มีภูเขาล้อม 3 ด้านทางทิศตะวันออก ทิศใต้และทิศตะวันตก มีพื้นที่ 2,100 ตารางกิโลเมตร โดยตัวเมืองหาดใหญ่ตั้งอยู่ช่องแคบที่เป็นจุดรวมลำน้ำสาขาคลองอู่ตะเภาตอนบน และเป็นจุดต่อเชื่อมลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภาตอนล่างที่มีลักษณะราบลุ่มชายฝั่ง

ในฤดูมรสุมเดือน ต.ค.- ม.ค.จะมีฝนตกชุก จึงมักเกิดอุทกภัยในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ โดยเฉพาะเหตุการณ์น้ำท่วมวันที่ 19 - 23 พ.ย. 2531 และ 21- 25 พ.ย. 2543 สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินของราษฎรถึง 14,000 ล้านบาท 

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2531 กับอธิบดีกรมชลประทาน ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา และมีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2543 สรุปความว่า

ให้กรมชลประทานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการแก้ไขและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน และพื้นที่ธุรกิจในเขต อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้เมื่อปลายเดือน พ.ย. 2531 เกิดอุทกภัยรุนแรง สร้างความเสียหายจำนวนมาก ซึ่งมีสาเหตุสำคัญเนื่องจากปริมาณน้ำคลองอู่ตะเภาที่ไหลผ่านอำเภอหาดใหญ่มีระดับสูงล้นตลิ่ง

การแก้ไขปัญหาควรพิจารณาดำเนินการขุดคลองระบายน้ำขนาดใหญ่ ให้ทำหน้าที่แบ่งน้ำจากคลองอู่ตะเภาหรือช่วยรับน้ำที่ไหลลงมาท่วม อ.หาดใหญ่ให้ระบายลงสู่ทะเลสาบสงขลาโดยเร็ว และสร้างคันกั้นน้ำรอบพื้นที่ดังกล่าวพร้อมติดตั้งระบบสูบน้ำออกจากพื้นที่ไม่ให้ท่วมขัง และพิจารณาร่วมกับระบบผังเมืองให้สอดคล้องและได้รับประโยชน์ร่วมกันด้วย

 

โครงการบรรเทาอุทกภัยหาดใหญ่ ลดน้ำท่วมและเพิ่มแหล่งน้ำสำรอง

 

รวมทั้งเมื่อปี 2532 กรมชลประทานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขุดลอกคลองอู่ตะเภา คลองอู่ตะเภาแยก 1 คลองอู่ตะเภาแยก 2 และคลองท่าช้าง-บางกล่ำ รวม 46.9 กิโลเมตร และปี 2543 เกิดอุทกภัยจึงขุดคลองระบายน้ำเพิ่ม 7 สาย ระหว่างปี 2544 - 2550 ระบายน้ำได้ 1,075 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ต่อมาเมื่อเดือน ต.ค. 2553 ยังเกิดอุทกภัยอีก น้ำท่วมขังในเทศบาลนครหาดใหญ่ 2 วัน จึงได้ปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพคลองระบายน้ำ และอาคารประกอบให้รองรับปริมาณน้ำที่ไหลหลากมาท่วมเมืองหาดใหญ่ได้ โดยปี 2563 ได้ปรับปรุงคลอง ร.1 ขุดขยายความกว้างของท้องคลองจาก 24 เมตร เป็น 70 เมตร ก่อสร้างประตูระบายน้ำหน้าควน 2 เพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลลงคลอง ร.1 พร้อมสร้างกำแพงคอนกรีต ระบายน้ำได้ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้มั่นใจได้ว่าจะแก้ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ได้ระยะยาว

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายให้กรมชลประทานดำเนินการโครงการบรรเทาอุทกภัย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ต่อเนื่อง โดยล่าสุดโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) จ.สงขลา แล้วเสร็จช่วงปลายปี 2565

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการนี้ช่วยป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยตัวเมืองหาดใหญ่ และเป็นแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภค การเกษตร และผลิตน้ำประปาใน จ.สงขลา ในช่วงฤดูแล้งได้อีก 5 ล้านลูกบาศก์เมตร

สำหรับโครงการบรรเทาอุทกภัย อ.หาดใหญ่ (ระยะที่ 2) จ.สงขลา ได้ปรับปรุงคลองภูมินาถดำริ หรือคลองระบายน้ำ ร.1 ความยาว 21.34 กิโลเมตร โดยขยายความกว้างท้องคลองจาก 24 เมตร เป็นคลองคอนกรีตเสริมเหล็กรูปตัวยูท้องคลองกว้าง 70 เมตร เพิ่มศักยภาพระบายน้ำจากเดิม 465 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และเมื่อรวมปริมาณน้ำระบายจากคลองอู่ตะเภาอีก 465 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มการระบายน้ำได้สูงสุด 1,665 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ช่วยบรรเทาน้ำท่วมในเทศบาลนครหาดใหญ่และพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีประตูระบายน้ำหน้าควน 2 บริเวณปากคลองระบายน้ำ ร.1 ทำหน้าที่เปิด-ปิดบานระบายน้ำ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าสู่คลองภูมินาถดำริก่อนระบายน้ำทั้งหมดลงสู่ทะเลสาบสงขลาตามลำดับ