ทฤษฎีแห่งความสุข : สุข...ตลาดวัฒนธรรม โดย ธันย่า - ธันยลักษณ์ พรหมมณี
คอลัมน์ "ทฤษฎีแห่งความสุข" ทุกวันจันทร์ที่สองของเดือน สำหรับ มิถุนายน 2567 นี้ นำเสนอเรื่อง สุข...ตลาดวัฒนธรรม เขียนโดย ธันย่า - ธันยลักษณ์ พรหมมณี
ทุนวัฒนธรรมสร้างชาติ เอกลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เข้าถึงได้... ความหลากหลายและความแตกต่างทางสังคมและวัฒนธรรม มีเสน่ห์หรือมนต์ขลังที่เป็นเอกลักษณ์
ช่วงนี้ "ธันย่า" เดินทางบ่อยครั้ง การเดินทางไปหลายประเทศ และหลายเมือง ความสุขของการเดินทางคือ ความทรงจำที่เชื่อมโยงร่องรอยวิถีชีวิตของชุมชนได้เก็บเกี่ยวซึมซับความสวยงามเป็นเรื่องเล่า ทุกครั้งที่ได้นึกถึงและที่ได้ไปเยือนในแต่ละเมือง
สิ่งหนึ่งที่ "ธันย่า" ชื่นชอบคือ การไป พิพิธภัณฑ์ ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมรากเหง้าความเป็นประเทศนั้น รวมถึงการได้สำรวจผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่สามารถสะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชน ในวันอาทิตย์จะมีตลาดนัดของแต่ละเมือง ธันย่ามีโอกาสได้เดินชมสินค้าพื้นเมือง อาทิ ชีส น้ำผึ้ง ขนมปัง สบู่ น้ำมันหอมระเหย งานแกะสลักไม้รูปหมี รูปหมาป่า และรูปนกอินทรีย์
ทั้งนี้ หลังจากที่ธันย่าได้รับมอบหมายเป็นทูตอัตลักษณ์ไหมไทยประจำราชอาณาจักรไทย และเป็นที่ปรึกษากรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งเป็นคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาทุนมนุษย์สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสังคมและส่งเสริมอัตลักษณ์ในนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน สกลนคร กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ธันย่าได้นำประสบการณ์ในอุตสาหกรรมการออกแบบสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และการจากศึกษาสถาบันแฟชั่นและการออกแบบ Istituto Marangoni ประเทศฝรั่งเศส มาร่วมอนุรักษ์ สืบสาน สร้างสรรค์ และต่อยอดให้เกิดความยั่งยืนของมรดกศิลปวัฒนธรรม
ประเทศไทยเป็น สังคมพหุวัฒนธรรม ที่ผู้คนอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายและความแตกต่างอย่างกลมกลืนกัน ซึ่งความแตกต่างนี้สามารถแบ่งได้หลากหลายประเภท ทั้งเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรมที่ถูกเคลื่อนที่ตามมนุษย์ย้ายถิ่นฐานมาพำนักในประเทศไทย ก่อเกิดวัฒนธรรมร่วมเป็นแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาที่มีความหลากหลายเชื้อชาติพันธุ์ โดยปรากฏชนชาติต่างๆ อาทิ จีน โปรตุเกส ญวน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย มุสลิม มอญ ลาว และเขมร จึงเป็นเป้าหมายแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของนักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างชาติ
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หรือมรดกทางวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่บรรพบุรุษไทยได้สร้างสรรค์ และได้ตกทอดจากคนรุ่นหนึ่งมายังอีกคนรุ่นหนึ่ง เป็นสิ่งที่กลมกลืนอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนทุกยุคทุกสมัย
พลเมืองเข้มแข็งกับวัฒนธรรมท้องถิ่นแบบดั้งเดิม การพัฒนาเป็นสินค้าประจำถิ่นในตลาดวัฒนธรรมของแต่ละจังหวัดเป็นเอกลักษณ์ที่ชัดเจน การที่ไม่ต้องย้ายถิ่นฐานเพื่อไปสร้างรายได้ แต่ใช้ถิ่นฐานในการสร้างโอกาสและเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจ ครอบครัวไม่ต้องแตกแยกมีพ่อแม่ลูกอยู่กันพร้อมหน้า ไม่ก่อเกิดปัญหาครอบครัวกระทบความมั่นคงต่อชาติ
การบริหารโครงสร้างทรัพยากรทางวัฒนธรรม ทรัพยากรมนุษย์ ทรัพยากรธรรมชาติ สู่นิเวศวัฒนธรรมอย่างมีคุณค่า สร้างความสุขสร้างรายได้ นำความยั่งยืนสู่ชุมชน เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพราะการที่ผู้คนจะซื้อนั้นจะไม่ใช่ซื้อเฉพาะตัวสินค้า แต่เป็นการซื้อความรู้สึกและความทรงจำที่เชื่อมโยงกับวันและเวลา ในสถานที่ผูกพัน ในฐานะพลเมืองทางวัฒนธรรมอย่างมีธรรมาภิบาลในนิเวศวัฒนธรรม แต่ยังได้วัฒนธรรมที่ฝังตัวในสินค้า หรือบริการนั้น
ทั้งนี้ สถาบันพระปกเกล้า และ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้ร่วมกันจัดทำหลักสูตร เสริมสร้างความเป็นพลเมืองทางวัฒนธรรม และธรรมาภิบาล หลักสูตรนี้ให้ความสำคัญกับการเคารพในความหลากหลายทางวัฒนธรรม การส่งเสริมคุณค่าของทรัพยากรทางวัฒนธรรม โดยเน้นให้รู้หลักการบริหารจัดการ และพัฒนาต่อยอดโดยคำนึงถึงความยั่งยืน ผู้เรียนสามารถเข้าใจและวางแผนขับเคลื่อนนโยบาย จัดทำแนวทางการดำเนินงานขององค์กรของชุมชน หรือของท้องถิ่นได้จริง ขณะนี้เปิดรับสมัครรุ่น 2 ถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2567 นี้
ท้ายสุดนี้ เชิญช้อป หัตถศิลป์ล้านนา 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) วันนี้ 10 มิถุนายน 2567 วันสุดท้าย ที่ชั้น 1 แกรนด์ฮอลล์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต
พบกับ "ธันย่า" และ "ทฤษฎีแห่งความสุข" ได้ใหม่ ทุกวันจันทร์ที่สองของเดือน ทั้งฉบับตีพิมพ์และฉบับออนไลน์