ชป. ร่วมถก สทนช. และ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง หาพื้นที่หน่วงน้ำฤดูฝน

ชป. ร่วมถก สทนช. และ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง หาพื้นที่หน่วงน้ำฤดูฝน

กรมชลประทาน ร่วมหารือ สทนช. และหน่วยงาน 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ต่อยอด “บางระกำโมเดล” สู่ “สี่แควโมเดล” จัดหาพื้นที่รับน้ำหลากในช่วงฤดูฝน ไว้หน่วงน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้าน ลบ.ม. ตามนโยบายของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)

16 พ.ย. 65 ที่ห้องประชุมคอนเวนชั่น 2 โรงแรมท็อปแลนด์ จังหวัดพิษณุโลก ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ นายวรพจน์ เพชรนรชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 และนายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพื้นที่เหนือ เขื่อนเจ้าพระยา ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง โดยการถอดบทเรียนจาก “บางระกำโมเดล” สู่ “สี่แควโมเดล” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมฯ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร และอุทัยธานี เข้าร่วมประชุม  

การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพื้นที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยาในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่างในครั้งนี้ สืบเนื่องจากรัฐบาล โดย กอนช. มีนโยบายที่จะเพิ่มพื้นที่แก้มลิงรับน้ำให้มากขึ้น เพื่อลดปัญหาน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน-พื้นที่เศรษฐกิจในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้ง โดยเฉพาะน้ำเพื่อการเกษตรจะมีความมั่นคงมากขึ้น สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้มีเป้าหมายหลักคือ การจัดหาพื้นที่หน่วงน้ำไว้ในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังจากที่ประสบความสำเร็จจากโครงการ บางระกำโมเดล ไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยมีเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน ด้วยการตัดยอดน้ำได้อีกอย่างน้อย 1,000 ล้าน ลบ.ม. ภายในปี 2566 ซึ่งจะช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่าน เขื่อนเจ้าพระยา ได้สูงสุดประมาณ 500 ลบ.ม./วินาที ก่อนจะขยายพื้นที่เป้าหมายในการเก็บกักน้ำให้ได้เพิ่มเติมอีกกว่า 2,000 ล้าน ลบ.ม. ภายในปี 2568 หากสามารถดำเนินการได้ทั้งหมด จะเป็นการบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างได้เป็นอย่างมาก 
 

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาคัดเลือกพื้นที่เป้าหมายที่มีศักยภาพและความพร้อมสามารถดำเนินการได้ทันทีในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร และอุทัยธานี โดยแยกตามประเภทพื้นที่รับน้ำและการเก็บกัก ได้แก่ พื้นที่สาธารณะ บึงธรรมชาติ เช่น บึงบอระเพ็ด บึงสีไฟ ที่จะต้องทำการขุดลอก ยกระดับสันเขื่อนให้เก็บกักน้ำได้มากขึ้น พื้นที่รับน้ำจากเทือกเขา เพื่อชะลอและเก็บกักน้ำไว้ใช้ทำเกษตร และพื้นที่ลุ่มต่ำ แก้มลิง ที่จะต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม รวมถึงมาตรการที่จะเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อให้การจัดหาพื้นที่หน่วงน้ำ เป็นไปตามแผนและสามารถใช้หน่วงน้ำบริเวณเหนือ เขื่อนเจ้าพระยา ได้อย่างเร็วที่สุด ในช่วงฤดูฝนปี 66 ปริมาณน้ำรวมกันอย่างน้อย 1,000 ล้าน ลบ.ม. โดย สทนช. จะสรุปพื้นที่เป้าหมายในพื้นที่ 5 จังหวัด เสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบประมาณปลายเดือน ธ.ค. นี้ ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีโดยเร็วต่อไป

ชป. ร่วมถก สทนช. และ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง หาพื้นที่หน่วงน้ำฤดูฝน ชป. ร่วมถก สทนช. และ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง หาพื้นที่หน่วงน้ำฤดูฝน
ชป. ร่วมถก สทนช. และ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง หาพื้นที่หน่วงน้ำฤดูฝน