ซีพีเอฟ สานต่อความร่วมมือ SeaBOS ขับเคลื่อนความยั่งยืนอุตสาหกรรมอาหารทะเล
ซีพีเอฟ ร่วมกับ SeaBOS ขับเคลื่อนพันธกิจการพัฒนาห่วงโซ่ผลิตอาหารทะเลอย่างยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อบรรลุเป้าหมายของ SeaBOS การปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของความมั่นคงด้านอาหารของโลก
น.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ในฐานะผู้ผลิตและส่งมอบผลิตภัณฑ์กุ้งคุณภาพสูง สะอาด ปลอดภัย เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั่วโลก มุ่งมั่นดำเนินงานที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ และในฐานะเป็น 1 ใน 9 กลุ่มบริษัทอาหารทะเลชั้นนำระดับโลกซึ่งเป็นสมาชิกหลัก SeaBOS (Seafood Business for Ocean Stewardship) ตั้งแต่ปี 2559 บริษัทฯ ยังร่วมมือในการดำเนินงานเพื่อพัฒนามหาสมุทร สร้างห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเลอย่างยั่งยืน ด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และการผลิตอาหารที่รับผิดชอบ เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงทางอาหารสำหรับผู้บริโภคทั่วโลก และคนรุ่นต่อๆไป ตามวิสัยทัศน์ในการเป็น "ครัวของโลก" ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของ SeaBOS เป็นผู้นำในการสร้างแนวปฏิบัติที่ดีสู่การขับเคลื่อนการผลิตอาหารทะเลที่ยั่งยืน
"ความร่วมมืออย่างจริงจังและต่อเนื่องของคณะทำงานของ SeaBOS ก่อให้เกิดการพัฒนาที่มีคุณค่า มีประโยชน์อย่างมากต่ออุตสาหกรรมอาหารทะเลโลก รวมถึงซีพีเอฟด้วยเช่นกัน เพราะบริษัทฯ สามารถนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้เป็นแนวปฏิบัติ และส่งเสริมเครือข่ายร่วมกับคู่ค้า เกษตรกร และผู้มีส่วนได้เสียรายอื่นๆ ดำเนินการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน และสร้างการเปลี่ยนแปลงของ อุตสาหกรรมอาหารทะเล ที่เป็นรูปธรรม" น.สพ.สุจินต์ กล่าว
ปัจจุบัน ซีพีเอฟ สนับสนุนการขับเคลื่อนการทำงานของคณะทำงานแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial Resistance หรือ AMR) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มทำงานของ SeaBOS คณะทำงานนี้ได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์ของผู้ผลิตอาหารทะเล และผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกมาร่วมกันพัฒนารูปแบบและแนวทางความร่วมมือในการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมทั่วทั้ง อุตสาหกรรมอาหารทะเล เพื่อส่งมอบอาหารที่ปลอดภัย และป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย "วิสัยทัศน์ระดับโลกด้านการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์" ซึ่งซีพีเอฟได้ประกาศตั้งแต่ปี 2560 ให้ทุกกิจการของบริษัททั้งในประเทศไทยและทั่วโลกนำไปปฏิบัติในการเพาะเลี้ยงและผลิตอาหาร โดยในปัจจุบัน การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของซีพีเอฟไม่มีการใช้ยาต้านจุลชีพและสารเร่งเจริญเติบโต (growth promoter) ในกระบวนการเลี้ยงสัตว์น้ำ และยึดมั่นการดูแลสัตว์ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ขั้นสูง นอกจากนี้บริษัทฯ มีการตรวจสุขภาพสัตว์น้ำ และสุ่มตรวจภาวะเชื้อดื้อยาในฟาร์มและสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ
ซีพีเอฟ ยังให้ความสำคัญกับระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) โดยนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ เช่น ส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งในโรงเรือนระบบปิด การใช้ระบบกรองน้ำ ควบคู่ไปกับ Biofloc เพื่อจัดการแบคทีเรียและของเสียต่างๆ ในบ่อเลี้ยง การรีไซเคิลน้ำกลับมาใช้ใหม่ภายในฟาร์ม เพื่อช่วยลดความเสี่ยงการนำเชื้อโรคจากภายนอกเข้าสู่ระบบการเลี้ยง ยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการพัฒนาพันธุ์กุ้ง ใช้พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ปลอดเชื้อ ทำให้ได้ลูกกุ้งที่สะอาด ปลอดเชื้อ เติบโตรวดเร็ว จึงแข็งแรง และมีความต้านทานโรคสูง ความสำเร็จเหล่านี้ ยังได้ถูกถ่ายทอดไปยังเกษตรกร และพันธมิตรในห่วงโซ่อุปทานของซีพีเอฟ
"เรามีพันธกิจสำคัญในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคู่ค้า และเกษตรกรในห่วงโซ่อุปทาน ดำเนินการตามหลักปฏิบัติที่ดี และแนวทางที่ยั่งยืน เพื่อร่วมกันจัดการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเสริมสร้างคุณค่าจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น การช่วยเพิ่มผลผลิต การจัดการความเสี่ยงที่ดีขึ้นส่งผลให้เกิดโรคระบาดที่ลดลง เป็นต้น เพื่อยกระดับความยั่งยืนของอุตสาหกรรมอาหารทะเลตลอดห่วงโซ่อุปทาน" น.สพ.สุจินต์ กล่าวทิ้งท้าย