พรีเมียร์ลีก รณรงค์ให้แฟนบอลไทย ยุติการรับชมฟุตบอลพรีเมียร์ลีกที่ละเมิดลิขสิทธิ์
พรีเมียร์ลีก รณรงค์ให้แฟนฟุตบอลชาวไทย ยุติการรับชมเนื้อหาฟุตบอลพรีเมียร์ลีกที่ละเมิดลิขสิทธิ์ แคมเปญ "Boot Out Piracy" กลับมาอีกครั้งเพื่อย้ำเตือนแฟนๆ ถึงความเสี่ยงของสตรีมมิงที่ผิดกฎหมาย
นักเตะพรีเมียร์ลีก จากสโมสรต่างๆ รวมถึง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ ลิเวอร์พูล ร่วมกันเป็นแนวหน้าในแคมเปญ "Boot Out Piracy" รอบล่าสุดของพรีเมียร์ลีก เพื่อสร้างความตระหนักให้แฟนฟุตบอลชาวไทยทราบถึงความเสี่ยง และผลกระทบเชิงลบจากการสตรีมมิงเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย
การเปิดตัวแคมเปญเป็นฤดูกาลที่สองในประเทศไทย โดยแคมเปญในปีนี้ประกอบด้วยนักเตะดังจากพรีเมียร์ลีก ได้แก่ คาเซมิโร่ (แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด), ดิโอโก้ โชต้า (ลิเวอร์พูล), ฆูลิโอ เอ็นชิโซ่ (ไบรท์ตัน แอนด์ โฮฟ อัลเบียน), อาบดูลาย ดูกูเร่ (เอฟเวอร์ตัน) และไทโว อโวนิยี่ (น็อตติงแฮม ฟอเรสต์)
ในวิดีโอที่จะออกอากาศผ่านช่องทางดิจิทัลนี้ เหล่านักเตะจากทีมดังจะกล่าวถึงประเด็นเน้นย้ำว่า ผู้ที่เข้าถึงเนื้อหาพรีเมียร์ลีกผ่านเว็บไซต์หรืออุปกรณ์สตรีมมิงที่ไม่เป็นทางการ จะทำให้ตนเองเสี่ยงต่อภัยคุกคามจากการโจมตีทางไซเบอร์ รวมถึงมัลแวร์และแรนซัมแวร์ที่เป็นอันตรายได้ ซึ่งสิ่งนี้อาจก่อให้เกิดอันตรายจากการหลอกลวง การโจรกรรมข้อมูล การฉ้อโกง และผู้ชมกลุ่มดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะได้รับชมการแข่งขันผ่านการสตรีมที่ไม่น่าเชื่อถือและมีคุณภาพต่ำ
ในรายงานที่เผยแพร่โดย Digital Citizens Alliance เมื่อเดือนมิถุนายน 2023 ในหัวข้อ "Giving Piracy Operators Credit" พบว่า 44 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้ที่เข้าถึงเนื้อหา ละเมิดลิขสิทธิ์ ทางออนไลน์ เคยประสบกับกรณีการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล รายงานฉบับเดียวกันนี้ยังพบว่า 46 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้ที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมละเมิดลิขสิทธิ์ เคยเผชิญกับมัลแวร์ ในขณะที่ผู้ใช้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจกรรมละเมิดลิขสิทธิ์เคยเผชิญกับมัลแวร์เพียง 9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ศาสตราจารย์พอล วัตเตอร์ ที่ปรึกษาและนักวิจัยชั้นนำด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์กล่าวว่า ในปี 2022 เกิดความเสียหายจากการโจมตีของมัลแวร์มากเป็นประวัติการณ์ ผู้บริโภคควรทราบว่าเว็บไซต์และแอปฯ ที่สตรีมเนื้อหา ละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นหนึ่งในต้นตอหลักของการโจมตีเหล่านี้
"แม้ว่าซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสอาจช่วยผู้บริโภคได้บ้าง แต่ก็ไม่สามารถรู้เท่าทันมัลแวร์ชนิดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมากมายในโลกออนไลน์ทุกวัน ทางแก้ที่ดีที่สุดคือการป้องกัน โดยหลีกเลี่ยงเว็บไซต์ที่เป็นโฮสต์และแพร่มัลแวร์ พรีเมียร์ลีก ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานในประเทศทั่วเอเชียและทั่วโลกเพื่อดำเนินคดีทางอาญากับผู้ให้บริการเว็บไซต์และผู้จัดหาอุปกรณ์ สตรีมมิงผิดกฎหมาย ซึ่งรวมถึงการประสานงานอย่างต่อเนื่องกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและกรมสอบสวนคดีพิเศษของประเทศไทยเพื่อดำเนินการเมื่อมีการส่งต่อคดีอาญา"
ศาสตราจารย์พอล วัตเตอร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พรีเมียร์ลีก ชื่นชมการทำงานของรัฐบาลไทยสำหรับความพยายามอย่างต่อเนื่องในการพุ่งเป้าเพื่อจัดการกับกลุ่มคนที่ ละเมิดลิขสิทธิ์ กีฬาในประเทศไทย นอกเหนือจากการขัดขวางการสตรีมที่ผิดกฎหมายของพรีเมียร์ลีกและเนื้อหาอื่นๆ แล้ว รัฐบาลไทยยังจำกัดการเข้าถึงการดำเนินกิจกรรมการพนันที่ไม่มีใบอนุญาตและไม่ได้รับการควบคุม ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงร้ายแรงต่อผู้บริโภค เพื่อผลักดันความพยายามเหล่านี้ พรีเมียร์ลีกกำลังร่วมมือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อดำเนินแผนงานบล็อกเว็บไซต์
เควิน พลัมบ์ ที่ปรึกษาทั่วไปของพรีเมียร์ลีกกล่าวว่า เรารู้ว่าแฟนฟุตบอลในประเทศไทยและทั่วเอเชียให้ความสนใจกับ ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก มากเพียงใด เราจะยังคงเดินหน้าให้ความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกิดจากการรับชมการแข่งขันพรีเมียร์ลีกผ่านช่องทางการสตรีมที่ผิดกฎหมาย ผ่านแคมเปญ Boot Out Piracy ผู้ที่รับชมการสตรีมผิดกฎหมายไม่เพียงพลาดประสบการณ์การรับชมที่ดีที่สุดเท่านั้น แต่ยังเผชิญกับ ภัยคุกคามทางไซเบอร์ อีกด้วย การเข้าถึงเนื้อหาละเมิดลิขสิทธิ์นั้นทำให้ผู้ใช้เผชิญความเสี่ยงจากอาชญากรที่อาจใช้หลากหลายวิธีการเพื่อให้เข้าถึงอุปกรณ์ของผู้ชม ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหามากมายได้ รวมถึงการฉ้อโกงและการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล
"คำแนะนำที่เราอยากบอกกับแฟนฟุตบอลชาวไทย นั่นก็คือ อย่าทำให้ตนเองตกอยู่ในความเสี่ยงด้าน ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และรับชมฟุตบอลพรีเมียร์ลีกที่มีคุณภาพที่ดีที่สุดผ่านทางพันธมิตรการถ่ายทอดสดอย่างเป็นทางการของเราเท่านั้น นอกเหนือจากการให้ความรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับอันตรายของสตรีมมิงที่ผิดกฎหมายแล้ว เรากำลังทำงานอย่างหนักกับหน่วยงานในประเทศเพื่อปิดกั้นเว็บไซต์และการสตรีมที่ ละเมิดลิขสิทธิ์ รวมถึงดำเนินคดีกับผู้จำหน่ายอุปกรณ์สตรีมมิงผิดกฎหมาย"
ในประเทศไทย พรีเมียร์ลีก ทำงานร่วมกับ ทรูวิชั่นส์ ซึ่งเป็นพันธมิตรการถ่ายทอดสดในประเทศสำหรับแคมเปญ "Boot Out Piracy"
สมพันธ์ จารุมิลินท รองประธานกรรมการบริหารบริษัททรูวิชั่นส์ กล่าวว่า เราขอขอบคุณพรีเมียร์ลีกที่มุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องเพื่อต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทย นอกเหนือจากการทำงานของทรูวิชั่นส์ ที่ร่วมกับหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายของไทยแล้ว แคมเปญต่างๆ อย่าง "Boot Out Piracy" ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการช่วยสร้างความตระหนักของผู้บริโภคเกี่ยวกับอันตรายที่เกิดจากแหล่งข้อมูลผิดกฎหมาย และทำให้ความต้องการในการบริโภคสิ่งที่ผิดกฎหมายลดลงอีกด้วย
"แฟนฟุตบอลพรีเมียร์ลีกชาวไทย เป็นหนึ่งในแฟนฟุตบอลที่หลงใหลการแข่งขันนี้มากที่สุดในโลก และในฐานะพันธมิตรการถ่ายทอดสดอย่างเป็นทางการ เป้าหมายของเราคือ การสนับสนุนให้แฟนฟุตบอลทุกคน สามารถเข้าถึงเนื้อหาระดับโลกได้ผ่านแพ็กเกจที่หลากหลาย ผู้บริโภคไม่มีเหตุผลใดที่ต้องนำตนเองไปเสี่ยงอันตรายโดยการมีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรละเมิดลิขสิทธิ์ที่ผิดกฎหมาย ในเมื่อพวกเขาสามารถรับชมการแข่งขันในคุณภาพที่ดีที่สุดในราคาที่จับต้องได้ผ่านทรูวิชั่นส์"
แคมเปญนี้จะเผยแพร่ผ่านทั้งช่องทางการถ่ายทอดสด สื่อสังคมออนไลน์ เว็บไซต์ และ YouTube ในประเทศไทย ตลอดจนสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฮ่องกง และเวียดนาม