DITP ย้ำความสัมพันธ์การค้าจิวเวลรี่ไทย-ฮ่องกงเหนียวแน่น

DITP ย้ำความสัมพันธ์การค้าจิวเวลรี่ไทย-ฮ่องกงเหนียวแน่น

งาน Bangkok Gems & Jewelry Fair ครั้งที่ 66 จะจัดขึ้นในวันที่ 23-27 กุมภาพันธ์ 2564

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง เผยฮ่องกงเป็นคู่ค้าที่สำคัญกับประเทศไทยมาโดยตลอด จากยอดส่งออกในปีที่ผ่านมา ฮ่องกง เป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 ของไทย โดย DITP สคต. ฮ่องกง มีแผนงานสนับสนุนภาคธุรกิจของประเทศไทยผ่านช่องทาง online และ offline ชูจุดเด่น อุตสาหกรรมจิวเวลรี่ไทย ด้านคุณภาพวัตถุดิบ ทักษะการผลิต และความประณีตของช่างฝีมือไทยที่เป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก จึงเป็นที่มาแนวคิดหลักการจัดงาน BGJF ภายใต้ธีม Thailand's Magic Hands: The Spirit of Jewelry Making ที่เชิดชูความประณีตของช่างฝีมือไทย รวมถึงความพร้อมของอุตสาหกรรมจิวเวลรี่ไทยในระดับโลก ซึ่งแจะจัดขึ้นในวันที่ 23-27 กุมภาพันธ์ 2564

 

นางชณันภัสร์ พิศาลอภิพงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง (สคต.ฮ่องกง) ในฐานะตัวแทนของภาครัฐที่มีหน้าที่ดูแลภาพรวมการค้าระหว่าง 2 ประเทศ ให้ข้อมูลว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะเป็นผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับหลายประเภท แต่มีสินค้าบางชนิดที่ประเทศไทยต้องนำเข้าเช่นกัน โดยเฉพาะทอง ต้องนำเข้าจากอินเดีย ฮ่องกง อิสราเอล ส่วนเพชรต้องนำเข้าจากสวิสเซอร์แลนด์ ฮ่องกงและออสเตรเลีย แต่ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องปรับแหล่งนำเข้ามาเป็นประเทศในแถบเอเชียด้วยกัน คือ ฮ่องกง สิงคโปร์ และกัมพูชา ในส่วนของการส่งออก สินค้าหลักคือทอง เงิน และพลอยสี โดยตลาดส่งออกหลักของไทยคือ ยุโรป สหรัฐ และฮ่องกง จากตัวเลขจะเห็นว่า ไม่ว่าสถานการณ์ใด ฮ่องกงยังเป็นคู่ค้าที่สำคัญกับประเทศไทยมาโดยตลอด โดยในปีที่ผ่านมา ฮ่องกงถือเป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 ของประเทศไทย มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 11.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ

 

ส่วนภาพรวมสถานการณ์การค้าอัญมณีและเครื่องประดับของฮ่องกงในช่วงต้นปี (ม.ค.-พ.ค. 2563) มีตัวเลขลดลงทั้งการนำเข้าและส่งออก โดยมีผลกระทบมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างชัดเจน กล่าวคือ การนำเข้าลดลง -11.44% และการส่งออกลดลง -5.74%

 

ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ภาครัฐยังคงมีมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องทั้งรูปแบบ online และ offline ไม่ว่าจะเป็น โครงการ thaitrade.com หรือการเตรียมความพร้อมจัดงาน Bangkok Gems & Jewelry Fair (BGJF) รวมถึงการให้ทุนสนับสนุนผู้ประกอบการได้เข้าร่วมงานแฟร์ระดับโลกต่าง ๆ ผ่านโครงการ SME Pro-active เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการมีโอกาสเปิดตลาดต่างประเทศอีกทางหนึ่ง

 

นอกจากนี้ DITP ได้ทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT องค์กรด้านการตรวจสอบและรับรองคุณภาพอัญมณีและเครื่องประดับ โดย GIT มีโครงการ Buy With Confidence ที่ช่วยตรวจสอบคุณภาพอัญมณีและเครื่องประดับตามหลักมาตรฐานสากล โดยสินค้าที่ผ่านเกณฑ์จะได้รับใบประกาศเพื่อยืนยันมาตรฐานคุณภาพระดับโลก และโดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ช่องทางการค้าออนไลน์ถือเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นการที่ผู้ประกอบการชาวไทยนำสินค้ามาตรวจสอบกับ GIT และได้รับการันตีมาตรฐานสากล จะยิ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้ซื้อต่างชาติสนใจสินค้า และทำให้การค้าออนไลน์น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ GIT ได้จัดงาน International Chanthaburi Gems and Jewelry Festival (Chan Fest) เพื่อผลักดันให้จังหวัดจันทบุรีก้าวสู่การเป็น "นครอัญมณีของโลก" ในฐานะศูนย์กลางการผลิตและการค้าพลอยสีสำคัญแห่งหนึ่งของโลก

 

ในส่วนของ DITP สคต. ฮ่องกง มีแผนงานสนับสนุนภาคธุรกิจของประเทศไทยผ่านช่องทาง online และ offline เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอข้อมูลสร้างการรับรู้ถึงสินค้าและบริการในกลุ่มอุตสาหกรรมจิวเวลรี่ของไทยทั้งเรื่องวัตถุดิบ การผลิต คุณภาพช่างฝีมือต่าง ๆ  โดยเฉพาะการกล่าวถึงงาน BGJF ที่เป็นแหล่งรวมผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้ซื้อจากนานาชาติครบวงจร นอกจากนี้ DITP สำนักงานฮ่องกงได้สร้างความร่วมมือกับภาครัฐและองค์กรการค้าอัญมณีและเครื่องประดับในฮ่องกง เช่น Hong Kong Trade Development Council, The Chinese Manufacturer Association of Hong Kong, International Jewelry Designer Association และอีกมากมาย

 

หากพูดถึงจุดแข็งและข้อได้เปรียบของประเทศไทยด้านอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับและการทำธุรกิจจิวเวลรี่ สิ่งแรกคือคุณภาพของวัตถุดิบ ทักษะการผลิต รวมถึงความประณีตของช่างฝีมือไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ ถัดมาคือเรื่องที่ตั้งด้านยุทธศาสตร์ของประเทศที่ดี ประเทศไทยตั้งอยู่ใจกลางกลุ่มประเทศอาเซียน จึงถือเป็นประตูการค้าหลักที่สามารถขยายธุรกิจสู่ประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนได้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งคล้ายกับที่ฮ่องกงเป็นประตูการค้าสู่ประเทศจีนเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยและฮ่องกงมีข้อตกลง Asean – Hong Kong FTA ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 ซึ่งสนับสนุนการเปิดเสรีการค้า โดยฮ่องกงได้รับประโยชน์จากอัตราภาษีนำเข้าสินค้าที่ต่ำลงของอาเซียน ในขณะเดียวกันอาเซียนได้รับประโยชน์จากการที่ฮ่องกงยินยอมลดภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการจากอาเซียนในอัตรา 0%

 

ยิ่งไปกว่านั้นในเรื่องความน่าเชื่อถือและความพร้อมด้านการทำธุรกิจ ประเทศไทยติดอันดับที่ 21 จากรายงาน Ease of Doing Business ในปี 2019 และติดอันดับ 1 จากการจัดอันดับประเทศที่เหมาะในการเริ่มต้นธุรกิจมากที่สุดในโลกประจำปี 2020 (Best Countries to Start a Business) โดยรักษาอันดับ 1 มาได้ 2 ปีซ้อน

 

ในส่วนของความเป็นเลิศด้านการผลิตของอุตสาหกรรมจิวเวลรี่ไทย  ฝีมือและทักษะการผลิตของช่างไทยรวมถึงความคิดสร้างสรรค์ในงานดีไซน์ชิ้นงานจิวเวลรี่ก็เป็นที่ยอมรับในระดับโลกมาเนิ่นนาน จึงเป็นที่มาของแนวคิดหลักในการจัดงาน BGJF ภายใต้ธีม Thailand's Magic Hands: The Spirit of Jewelry Making ที่ต้องการเชิดชูความประณีตของช่างฝีมือไทย รวมถึงความพร้อมของอุตสาหกรรมจิวเวลรี่ไทยในระดับโลก งาน Bangkok Gems & Jewelry Fair ครั้งที่ 66 จะจัดขึ้นในวันที่ 23-27 กุมภาพันธ์ 2564 และในช่วงปลายปีนี้ DITP ยังได้เตรียมจัดงาน BGJF Special Edition – On Ground to Online Exhibition ในวันที่ 2-4 พฤศจิกายน 2563 เพื่อเปิดโอกาสการค้าอัญมณีและเครื่องประดับแบบ New Normal อีกด้วย

 

ในส่วนของ องค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง โดยมี Mr. Ng King Hon Kevin เป็นตัวแทนร่วมแชร์ประสบการณ์และความประทับใจจากการเยี่ยมชมงาน BGJF ที่ผ่านมาว่า เห็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจขึ้นในแต่ละครั้งที่ได้ไปชมงาน ทั้งเรื่องการจัดสรรพื้นที่ภายในงาน สิ่งอำนวยความสะดวก บรรยากาศทางธุรกิจ และโดยเฉพาะตัวสินค้าที่พบในงานที่เห็นถึงวิธีคิดการออกแบบและการใช้วัสดุอย่างสร้างสรรค์ทั้งจากผู้ผลิตและแบรนด์ที่มาร่วมในงานทั้งไทยและต่างประเทศ เช่น เทคนิคการหล่อ การเลือกใช้สี และการเลือกวัสดุผสมผสาน พร้อมแนะนำว่าการทำตลาดเครื่องเงินช่วงนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดี เพราะขณะนี้ราคาทองถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มผันผวน ดังนั้น ทิศทางการซื้อขายอัญมณีและเครื่องประดับของฮ่องกงมีแนวโน้มปรับจากทองมาสู่เงินอย่างเห็นได้ชัดจากรายงานการสั่งซื้อสินค้าในช่วงการแพร่ระบาดที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้ Mr. Ng King Hon Kevin เสริมว่า ด้วยความที่ประเทศไทยมีความพร้อมในด้านการทำธุรกิจจิวเวลรี่ทั้งเรื่องวัตถุดิบ แนวคิดการออกแบบ ฝีมือการผลิต รวมทั้งบรรยากาศและสิ่งอำนวยความสะดวกทางธุรกิจด้านต่าง ๆ ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่นักธุรกิจจิวเวลรี่ในฮ่องกงจะตัดสินใจย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทย

 

ทางฝั่ง Mr. Kenny Au รองประธาน International Jewellery Designer Association (IJDA) ให้ความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบของอุตสาหกรรมที่เกิดจากช่วง Lockdown ว่ามีการเปลี่ยนแปลงชัดเจนมาก โดยคนส่วนใหญ่หันมาซื้อของทาง online มากขึ้น และโดยเฉพาะเรื่องราคา มีผลต่อการตัดสินใจมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้น การออกแบบจิวเวลรี่จึงจำเป็นต้องมีดีไซน์ที่สวยสะดุดตา เห็นภาพชิ้นงานชัดเจน และทำให้คนรู้สึกเข้าถึงได้จากการมองเห็นผ่านจอเครื่องมือสื่อสารและเครื่องมือต่าง ๆ ซึ่งการค้าออนไลน์ต้องตอบสนองให้เกิดการซื้อขายที่ง่ายต่อผู้ซื้อ อีกทั้งได้กล่าวถึงความในใจในการย้ายฐานการผลิตของฮ่องกง เนื่องจากประเทศไทยมีความพร้อมด้านที่ตั้งและองค์ประกอบส่งเสริมธุรกิจจิวเวลรี่ อาทิ มีนิคมอุตสาหกรรม Gemopolis เป็นต้น

 

ในมุมของตลาดฮ่องกงให้ความสำคัญมากขึ้นกับจิวเวลรี่ประเภทเครื่องเงินและพลอยเนื้ออ่อน (Semi-precious Stones) โดยเฉพาะวัสดุประเภทโลหะมีค่า (Precious Metal) วัสดุพิเศษ (Unusual Materials) และวัสดุประเภทเครื่องเคลือบ (Enamel Jewelry) เพราะดูเป็นสินค้าแฟชั่นในราคาที่จับต้องได้

 

ในแง่จุดเด่นของอัญมณีและเครื่องประดับพลอยสีของไทยที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก นายภูเก็ต คุณประภากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจมส์บุรี จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการพลอยสีชั้นนำของไทย กล่าวว่า 95% ของพลอยสีในตลาดโลก ต้องผ่านการคัดสรรและตกแต่งจากเมืองไทย ด้วยความที่ประเทศไทยทำการค้าพลอยสีมาตั้งแต่ในอดีตหลายทศวรรษ ดังนั้น ประสบการณ์ของช่างฝีมือที่ตกทอดรุ่นสู่รุ่นถือเป็นมรดกล้ำค่าของช่างไทย ยิ่งไปกว่านั้น การที่ภาครัฐให้การให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้มาอย่างต่อเนื่องยิ่งช่วยให้เกิดการค้าที่ดีต่อประเทศไทย

 

สำหรับคำถามที่ว่าการระบาดของ COVID-19 มีผลกระทบและแนวโน้มต่อตลาดพลอยสีอย่างไรบ้าง นายภูเก็ต กล่าวว่า เทคโนโลยีจะมีบทบาทสำคัญต่อการค้าขายต่อจากนี้แน่นอน ผู้ประกอบการควรเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้มากที่สุด เพราะ ณ ตอนนี้การจะเข้าร่วมงานแฟร์ตามที่ต่าง ๆ เป็นไปได้ยาก ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีจะช่วยให้การค้าดำเนินต่อไปได้ โดยยกตัวอย่างจากประสบการณ์ที่เห็นผู้ค้าชาวจีนสามารถทำการซื้อขายเครื่องประดับให้กับลูกค้าโดยการโพสต์ภาพผ่าน Wechat เพียงเท่านั้น

 

 มุมมองต่อเนื่องของการใช้ Digital Tools มาช่วยในการทำการค้าจาก Mr. Henry Ho ประธาน Bangkok Diamonds & Precious Stones Exchange (BDPSE) มีความเห็นว่า เครื่องมือดิจิทัลคือสิ่งจำเป็นในยุคนี้อย่างยิ่ง โดยเฉพาะการใช้ social media เพราะไม่เพียงแต่ช่วยเปิดโอกาสทางธุรกิจ เช่น การเปิดหน้าร้านแบบ online แต่ยังเป็นช่องทางบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าแบบ CRM (Customer Relationship Management) ได้อย่างดีอีกด้วย