คัมภีร์ฝ่าวิกฤติ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ปรับตัว-โฟกัส-ทำงาน24/7
วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 นับเป็นบทเรียนสำคัญของธุรกิจในการ “เร่งปรับตัว” ล่าสุดมหันตภัยโควิดเขย่าโลกเป็นอีกบันทึกประวัติศาสตร์ของการพลิกตำราฝ่าวิกฤติ ที่ “เศรษฐา ทวีสิน” ซีอีโอใหญ่แห่งแสนสิริ ย้ำถึงแนวทางเคลื่อนธุรกิจหัวใจสำคัญต้อง “โฟกัส” แบบ 24 ชั่วโมง 7 วัน
ในเวทีเสวนา “ถอดบทเรียน ฝ่าวิกฤติ” หลักสูตร Wealth of Wisdom : WOW#1 จัดโดย "หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ” นั้น “เศรษฐา ทวีสิน” ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) ฉายภาพว่า...กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้อย่างหลายๆ คนทำงานหนักทุกวัน! ซึ่งอาจดูสวนทางกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่ลงทุนทำธุรกิจหลายอย่าง ขายรถยนต์ เล่นหุ้น ลงทุนทำโน่นทำนี่ เยอะแยะ “ไม่โฟกัส” ในธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง
"การที่คุณไม่โฟกัสแล้วจะไปแข่งในตลาดที่มีผู้เล่นอย่างผม อย่างคุณอนันต์ (แลนด์แอนด์เฮ้าส์) คุณประทีป (ศุภาลัย) ซึ่งทำงาน 24 ชั่วโมงต่อวัน 7 วันต่อสัปดาห์ หรือ 24/7 ยาก! อย่างผมถ้าไม่ไปต่างประเทศ หรือไปต่างจังหวัดเพื่อพักผ่อน เสาร์-อาทิตย์จะเดินทางไปตรวจไซด์งาน อสังหาริมทรัพย์ เป็นธุรกิจที่ต้องลงรายละเอียด ถ้าคุณใช้เวลาทำงานแค่ครึ่งเดียวแล้วมาแข่งกับแสนสิริที่ผมทำงานทุกวัน ยังไงก็สู้ผมไม่ได้”
ยิ่งปัจจุบันเศรษฐกิจไทยอยู่ปากเหวพอสมควร แม้ว่าบริษัทขนาดใหญ่ยังกำไรดีก็ตาม แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีลักษณะเป็น K Shape คนรวยก็รวยขึ้น คนจนก็จนลง ตลาดยังมีปัจจัยลบราคาน้ำมัน เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย สงคราม
อย่างไรก็ตาม หากเทียบวิกฤติต้มยำกุ้งปัญหาเกิดขึ้นกับภาคธนาคาร ธุรกิจขาดสภาพคล่อง สถาบันการเงินปิดตัว แต่สถานการณ์ปัจจุบันเชื่อว่าสถาบันการเงินแข็งแกร่งมาก! ไม่ว่าจะเป็นธนาคารหรือผู้ให้บริการสินเชื่อ Non-Bank จึงเชื่อว่าไม่น่าเกิดวิกฤติเหมือนปี 2540 เพราะหนี้สินต่อทุนต่ำมาก
ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนธุรกิจที่ผ่านวิกฤติมาไม่น้อย เมื่อเผชิญ “เหตุการณ์ไม่ดี” สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ “ปรับตัว” ให้สอดรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
"แม้จะมีปัจจัยลบรุมเร้า ถ้าบริษัทขนาดใหญ่บริการจัดการได้ดีสามารถฝ่าพายุไปได้เหมือนกับเรือขนาดใหญ่ และต้องยอมรับว่า บริษัทที่อยู่มานานค่อนข้างได้เปรียบ ยิ่งถ้าทำสินค้าที่ดีมีคุณภาพ มีบริการที่ดีเป็นปัจจัยเสริมให้เวลาที่เจอวิกฤติลูกค้าก็เลือกบริษัทแบบนี้”
ขณะที่ปัญหาใหญ่ในตลาดนั้น “ผู้ประกอบการรายย่อย” ยังคงไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่สามารถออกหุ้นกู้ได้ ต้องกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยที่แพง ดังนั้น ดอกเบี้ยขาขึ้น และมาตรการแอลทีวี (LTV) ถูกนำกลับมาใช้จะลำบาก โดยเฉพาะดีเวลลอปเปอร์ที่โฟกัสโครงการราคาถูก ระดับราคา 1-3 ล้านบาท จะเหนื่อย เพราะสัดส่วนการถูกปฏิเสธสินเชื่อสูงถึง 30-40% แม้ว่าจะขายดีแต่ลูกค้ากู้ไม่ผ่านเยอะ เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้ต้องอาศัยเงินกู้จากธนาคารในการซื้อที่อยู่อาศัย
บริหารความคาดหวังของคู่ค้า
เศรษฐา กล่าวต่อว่า การบริหารความคาดหวังเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะการทำธุรกิจนอกเหนือจากลูกค้าแล้วก็คือธนาคาร สถาบันการเงินไม่ใครอยากเห็นผลประกอบการของแสนสิริไม่ดี สมมติ ช่วงโควิดผมรู้แล้วว่า ไตรมาสถัดไปผลประกอบการจะไม่ดี แทนที่จะหลบ เพื่อบ่ายเบี่ยงความจริง ผมจะเดินไปบอกนายแบงก์ว่า กำไรไตรมาสนี้ผมไม่ดีนะ ผมเร่งระบายของ ลดราคา cash flow ผมดีมาก แต่กำไรติดดิน หรือแทบไม่มีกำไรหลังจากนั้นพอเราสร้างกระแสเงินสดดีแล้ว เราจะมีเงินไปซื้อโครงการใหม่ๆ เข้ามาในราคาที่ถูกลงทำให้กำไรเริ่มกลับขึ้นมาได้
"เป็นวิธีบริหารความคาดหวัง สถาบันการเงินเขารับฟังความจริงที่อยากจะได้ยิน ซึ่งไม่จำเป็นเรื่องที่ดีเสมอไป เขาแฮปปี้ ซึ่งปีนี้แสนสิริกำไรเราสูงสุดเป็นประวัติการณ์”
เร่งแก้ปัญหา‘ปากท้อง-เหลื่อมล้ำ’
จากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน “เศรษฐา” มองว่า ประเทศไทยยังมาไม่ถูกทางทั้งการบริหารเรื่องปากท้อง เศรษฐกิจ ภูมิศาสตร์การเมือง ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เสมอภาค ไม่เท่าเทียมต่างๆ แทบทุกมิติ ถดถอยไปพอสมควร โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำ เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องแก้ไข
“ปัญหาเหลื่อมล้ำซึ่งฝั่งรากลึกในสังคมไทย หากต้องการทำให้ถูกทางทุกคนต้องช่วยกัน” อย่างความเหลื่อมล้ำสูงทางสังคม จะให้รัฐบาลช่วยด้วยการกู้เงินมาแก้ปัญหาอย่างเดียว ต้องใช้หนี้ 7 ชั่วโคตร แต่ถ้าจะให้เก็บภาษีเยอะขึ้น จะมีคนเริ่มไม่เห็นด้วย และถ้าจะเก็บต้องเก็บจากคนรวย สมมติว่า ถ้าใครขึ้นมาเป็นนายกฯ แล้วบอกว่าจะขึ้นภาษีมรดก เก็บภาษีการขายหุ้น (Transaction Tax) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยคนที่อ่อนแอกว่า คนจะรู้สึกว่าเลือกคนผิดแล้ว หรืออย่างภาษีกำไรขายหุ้น (capital gains taxes ) ผมคิดว่า ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ด้วยหลายเหตุผล
“ทุกคนพูดถึงความเหลื่อมล้ำแล้วคุณพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหานี้ไหม” เศรษฐา ตั้งคำถาม
‘สิ่งที่ถูกต้อง’แต่อาจไม่ถูกใจ
เศรษฐา กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ฝังรากลึกในสังคมไทยเป็นเรื่องยาก! ถ้าอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องบังคับมิเช่นนั้นจะไม่เกิด ยกตัวอย่างเรื่องภาษีมรดก “ถ้าตามโพลซีอีโอ 58% หนุนผมนั่งนายกฯ ถ้าผมโชคร้ายได้เป็นจริงๆ ซึ่งผมไม่เคยคิดจะเป็นนะ ผมจะขึ้นภาษีมรดกก่อนเลย ในต่างประเทศจ่ายกัน 40% ญี่ปุ่นจ่าย50%”
การที่จะทำให้ประเทศไทยดีขึ้นไม่ใช่แค่ “นโยบายเดียว” ทำให้ทุกอย่างดีขึ้นได้ สำคัญคือเรื่องปากท้อง กระแสเงินสด เพราะปัจจุบันคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน เดือดร้อน แค่บริษัทเปลี่ยนมาจ่ายเงินเดือนละ 2 ครั้งก็ช่วยได้ ในต่างประเทศจ่ายเป็นรายสัปดาห์ด้วยซ้ำ ซึ่งเทคโนโลยีสมัยใหม่การที่คุณจ่ายเงินเดือนถี่ขึ้นจะช่วยคนได้ระดับหนึ่ง โดยไม่ต้องใช้งบประมาณหรือขึ้นภาษีใคร มีหลายอย่างที่ทำได้ไม่จำเป็นต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่ง
“ถ้าออกมาตรการ หรือนโยบายมาแล้ว มีปัญหาขัดแย้งทางสังคมก็ว่ากันไป ถ้าเลือกผมมาแล้วเป็นซูเปอร์อภิมหาแลนด์สไลด์อย่างเรื่องภาษีที่ดิน ถ้าจะเก็บ คนที่มีที่ดินอยู่พระราม 9 ปลูกกล้วย ปลูกมะนาว ต้องเก็บให้เด็ดขาด คนที่อยู่ต่างจังหวัดมีที่ดิน 5 ตร.ว. อยู่กันสองตายายไม่ได้ค้าขาย จ่ายอยู่ปีละ 200 บาท คุณไปขึ้นภาษีปีละ 201 บาทผมว่ามันไม่แฟร์ อย่า 2 มาตรฐาน ขอให้มีมาตรฐานเดียวทุกเรื่อง บางทีเราต้องทำสิ่งที่ถูกต้องแต่อาจไม่ถูกใจ”
ขายที่ดินต่างชาติคนไทยรับไม่ได้
เรื่องที่ถูกต้องแต่ไม่ถูกใจแล้วผมไม่กล้าทำ นั่นคือ การขายที่ดิน 1 ไร่ให้ต่างชาติ! เขาไม่ได้ซื้อไปครอบครองแต่เป็นการถือครอง ซึ่งหมายความว่า สามารถเวนคืนเมื่อไรก็ได้ ขณะที่กระแสต้านระบุว่า คนไทยยังไม่มีที่อยู่เลยจะไปให้ต่างชาติ ถามกลับว่า คนไทย 80% ที่ไม่มีเงินมาซื้อที่ดิน เขามี 40 ล้านบาทหรือไม่
"เราสามารถจำกัดเวลา โลเคชั่น ให้ต่างชาติเข้ามา ซึ่งสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง ตามหลักเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ตามกระแสสังคมไม่มีทางรับได้ ขายที่ดินต่างชาติกลายเป็นขายชาติ! ที่ผ่านมาผมโดนทัวร์ลงใหญ่ ซึ่งเป็นข้อยกเว้นหนึ่งที่ผมยอมแพ้ หากผมโชคร้ายและต้องเป็นนายกฯ จริง ผมก็ไม่กล้าออกกฎหมายนี้ เพราะมันล่มได้เลย เหมือนที่เพิ่งล่มมาแล้ว เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องความรู้สึก (sentiment) แม้จะเป็นเรื่องที่ควรทำ แต่ทำไม่ได้แน่นอน เพราะถูกปลูกฝังมาว่าเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ ทั้งที่ประเทศที่เจริญแล้วเขาทำกันหมด”
เศรษฐา กล่าวต่อว่า หากผมเป็นท่านสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ผมจะใช้ลิสโฮลด์ 70 ปี แทนที่จะเปิดให้ต่างชาติซื้อที่ดินและบ้าน เพราะมันไม่ใช่ Endgame ของผม
ยังไม่ตัดสินใจลงเวทีการเมือง
ย้ำเคลื่อนเศรษฐกิจต้องมีทีมเวิร์กที่ดี
เศรษฐา ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย และการจับตาสู่เวทีการเมืองเต็มตัวนั้น เขาย้ำว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจ! ถ้าผมยังตอบคำถามไม่ได้ว่า “จะเอาอยู่ไหม” ผมไม่มาแน่นอน ในเรื่องธุรกิจผมทำได้อยู่แล้ว แต่ถ้าต้องเปลี่ยนหมวกเป็น “นักการเมือง” จะสามารถบริหารจัดการอย่างที่ต้องการได้หรือไม่ และจะต้องดูแล “เสาหลัก” ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ นักธุรกิจ ทหาร สถาบัน เอ็นจีโอ สื่อฯลฯ ที่สนับสนุน เพราะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ได้ขับเคลื่อนแต่คนข้างบนคนเดียว ต้องมีทีมเวิร์กที่ดี หากทำไม่ได้อย่าทำดีกว่า
“เวลาที่มี Toxic speak ในทวิตเตอร์ ผมมองเป็นความบันเทิงก่อนนอน ผมจะบอกให้ไปดูบ้านแสนสิริ ผมมีดีลพิเศษให้ มี 2 วิธีในการรับมือ คือ ไม่ตลกโปกฮา ก็เงียบซะ ผมไม่รู้สึกถูกบั่นทอนอะไรเลย เพราะผมมีวิจารณญาณพอว่าใครที่เห็นต่างจากเราได้ผมยอมรับ พร้อมตอบ ถือเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดกันแบบสร้างสรรค์”
สิ่งที่ผมอยากเห็นคือการชื่นชมนายกฯ คนก่อนที่อยู่ต่างพรรคกันไม่ใช่ด่ากันแบบตะพึดตะพือ ถ้าผมได้เข้ามาเป็นแคนดิเดตจริง ผม กล้าที่จะบอกว่า นโยบายท่านนายกฯ หรือรองสุพัฒนพงษ์ ที่ทำไว้ดีแล้ว เหมาะสม ควรทำต่อ แต่ผมไม่มั่นใจว่า ส.ส. จะหมั่นไส้ผมหรือเปล่า เพราะมีนโยบายบางอย่างควรทำต่อ เช่น COP26 ซึ่งเริ่มต้นดีแล้วเราเพียงแค่ซอยมายสโตร์ถี่ขึ้นเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน แต่ไม่แน่ใจว่าในเชิงการเมืองยอมรับกันได้หรือไม่ แต่เราทำด้วยความจริงใจ ส่วนอะไรที่ทำไม่ดีไม่ต้องพูดหรอก เชื่อว่าประชาชนไม่อยากได้ยินแล้ว แต่เขาอยากเห็นว่าคุณจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงและทำให้ดีขึ้นอย่างไรมากว่า จะได้ลดความขัดแย้งไปโดยปริยาย
“ผมสนับสนุนการแสดงความคิดเห็นโดยไม่ก้าวร้าว แม้ว่าจะเห็นต่าง แนวโน้มจำนวนประชากรไทยลดลง และคนรุ่นใหม่เริ่มหมดหวังกับประเทศ หมดหวังกับสังคมที่เหลื่อมล้ำ เราควรเปิดพื้นที่ให้คนที่มีความรู้ ได้แสดงออก และได้รับการชื่นชม เพื่อดึงให้เขาอยู่ในประเทศแทนย้ายออกไปอยู่ต่างประเทศ เพราะเขาเหล่านี้เป็นอนาคตของชาติ”
ในสังคมมีคนหลายเจเนอเรชัน อาจคิดแตกต่าง แต่กฎการอยู่ร่วมกันต้องเอากฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ถ้าไม่ชอบก็หาทางเปลี่ยนแปลงโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง กระบวนการประชาธิปไตยที่ถูกต้อง อย่าไปเร่งหรือฉีดยากระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงเร็ว
“ปีนี้ผมอายุ 60 ปีแล้วอยู่อีกไม่กี่ปี ผมอยากอยู่ในสังคมที่มีความสุข เด็กรุ่นใหม่อายุ 20 กว่า 30 ปี จะทำอะไรขอให้อยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย แสดงความคิดเห็นไป เวลาอยู่ข้างคุณอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นใจเย็นๆ อยู่ร่วมกันไปอย่างมีความสุขดีกว่า”