9 เดือนต่างชาติโอนคอนโดฯ 3.6 หมื่นล้าน จีนรั้งแชมป์
ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ เผยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติสะสม 9 เดือนปี 2565 พบยอดโอนคอนโดมิเนียมทะลุ 3.6 หมื่นล้าน จีนรั้งแชมป์ "แรงซื้อ" จากสหรัฐ และฝรั่งเศส
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยภาพรวมสถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติทั่วประเทศ ในไตรมาส 3 ปี 2565 โดยพบว่า หน่วยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติทั่วประเทศมีจำนวน 2,860 หน่วย เพิ่ม 62.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในเชิงจำนวนหน่วยสูงสุดในรอบ 5 ไตรมาส นับจากไตรมาส 3 ปี 2564 และยังมีจำนวนหน่วยที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยรายไตรมาสในช่วง 3 ปี ที่เกิดโควิด-19 (ตั้งแต่ปี 2563 – 2564 )36.7% ที่มีจำนวน 2,092 หน่วย/ไตรมาส
ส่วนมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติทั่วประเทศมีจำนวน 14,668 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในเชิงจำนวนมูลค่าสูงสุดในรอบ 7 ไตรมาส นับจากไตรมาส 1 ปี 2564 และยังเพิ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ยมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ ในช่วง 2 ปี ที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีมูลค่าเพียงไตรมาสละ 9,979 ล้านบาท/ไตรมาส
หากพิจารณาในภาวะการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติสะสมในช่วง 9 เดือน ปี 2565 พบว่ามีจำนวน 7,290 หน่วย เพิ่มขึ้น 19.0% มูลค่า 36,986 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.3% โดยมีพื้นที่โอนกรรมสิทธิ์ 337,914 ตร.ม.เพิ่มขึ้น 28.3% ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติในปี 2565 ที่ผ่านมา 3 ไตรมาสแล้วนั้น
น่าจะแสดงให้เห็นได้ว่า ตลาดห้องชุดคนต่างชาติในภาพรวมน่าจะมีการฟื้นตัวขึ้นแล้ว และการซื้อห้องชุดของคนต่างชาติในช่วงก่อนหน้าได้มีการรับโอนกรรมสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมี "แรงซื้อใหม่" จากชาวต่างชาติที่ "ไม่ใช่" ผู้ซื้อชาวจีนเข้ามาทดแทนแรงซื้อห้องชุดของชาวจีนที่หายไปจากข้อจำกัดการเดินทางออกนอกประเทศในช่วงที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน
สัญชาติคนต่างชาติที่รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม - กันยายน) จะพบว่า ชาวจีน เป็นสัญชาติที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมากที่สุดทั่วประเทศมีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ชาวจีนไปแล้วทั้งหมด 3,562 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 48.9% ของหน่วยทั้งหมด
โดยมี 4 สัญชาติที่มีสัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์อันดับรองลงมา ได้แก่ รัสเซีย จำนวน 420 หน่วย คิดเป็น 5.8% ถัดมาคือ สหรัฐอเมริกา จำนวน 375 หน่วย คิดเป็น 5.1% สหราชอาณาจักร จำนวน 267 หน่วย คิดเป็น 3.7% อับดับ 5 คือ เยอรมัน จำนวน 231 หน่วย คิดเป็น 3.2% ตามลำดับ
ในส่วนของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั่วประเทศให้คนต่างชาติทั่วประเทศช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม – กันยายน) จะพบว่ามีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ชาวจีน เป็นมูลค่าสูงสุด จำนวน 17,943 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 48.5% ของมูลค่าทั้งหมด
ส่วน 4 สัญชาติที่มีสัดส่วนมูลค่าการโอนรองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา จำนวน 1,611 ล้านบาท คิดเป็น 4.4% ถัดมา คือ ฝรั่งเศส จำนวน 1,431 ล้านบาท คิดเป็น 3.9% รัสเซีย จำนวน 1,361 ล้านบาท คิดเป็น 3.7% และพม่า จำนวน 1,342 ล้านบาท คิดเป็น 3.6% ตามลำดับ
จากข้อมูลที่พบในช่วง 9 เดือนแรก มีข้อสังเกตว่า ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดชาวจีนมีจำนวน 3,562 คน คิดเป็น 48.9% และมีมูลค่า 17,943 ล้านบาท คิดเป็น 48.5% ของชาวต่างชาติที่โอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด
ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า สัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของผู้ซื้อชาวจีนได้ปรับลดลงเหลือประมาณ 50% จากที่ในปีช่วงก่อนหน้าอยู่ที่ประมาณ 55% - 60% ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบาย Zero-COVID ในประเทศจีน ทำให้การเดินทางของชาวจีนมีข้อจำกัดในช่วงที่ผ่านมา
แต่ได้พบว่า กลุ่มผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในกลุ่มประเทศรัสเซีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา เริ่มมีสัดส่วนที่ปรับเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน และเป็นที่น่าสนใจอย่างมากอีกเช่นกันที่เราได้เห็นตัวเลขของหลายประเทศในกลุ่ม ASEAN ที่แม้ว่าจะมีจำนวนหน่วย และมูลค่าการซื้อไม่มากนัก
แต่กลับมีสัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดปรับเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนหน่วย และมูลค่าอย่างมีนัยสำคัญ ดังเช่น ชาวเมียนมาร์ กัมพูชา ลาว และเวียดนาม รวมถึงชาวมาเลเซียที่มีการเข้ามาซื้อห้องชุดไทยอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
ปรากฏการณ์เช่นนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นอานิสงส์ที่ได้รับจาการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและประเทศต่างๆ มากขึ้น ดังนั้นจึงอาจคาดการณ์ได้หากประเทศจีนเปิดประเทศในปีหน้า น่าจะช่วยให้ตลาดอาคารชุดไทยสำหรับคนต่างชาติของไทยสามารถเติบโตได้อีกครั้งหนึ่ง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์