ดอกเบี้ยขึ้นไม่มีผลคนชะลอซื้อบ้าน เหตุหวั่นราคาขยับขึ้นตามต้นทุน
หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ประชุมครั้งแรกของปี 2566 ได้มีมติเอกฉันท์ ขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยของกนง.มาอยู่ที่ 1.50% จากระดับ 1.25% นั้น ค่ายอสังหาฯ เชื่อไม่มีผลคนชะลอซื้อบ้านเหตุหวั่นราคาขยับขึ้นตามต้นทุน
จากมุมมองของผู้ประกอบการอสังหาฯ รายใหญ่ ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ดอกเบี้ยขาขึ้นมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจแต่ไม่รุนแรงมาก โดยรวมถ้าเศรษฐกิจโต จีดีพีโต3-4% ขายได้มากขึ้น เพราะถ้ามองในมุมกลับกับถ้าดอกเบี้ยขาลงไม่ได้ช่วยอะไรเท่าไรนักแต่หากเปรียบกับจีดีพี จะเห็นผลชัดเจน ดังนั้นจะเห็นได้ชัดว่าปี2565ที่ผ่านมา อสังหาฯฟื้นตัวแบบ K-Shape ซึ่งศุภาลัยเป็นหนึ่งในนั้นที่เติบโตบนKขาขั้น
"ขณะที่ในปีนี้ไม่ได้ดีมากนักถ้าเทียบกับปีก่อน ส่วนที่ดีขึ้นดีขึ้นเฉพาะรายเท่านั้นที่มีกำลังทรัพย์ในการเปิดตัวโครงการต่อเนื่อง เปลี่ยนมาทำแนวราบ ทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นว่าจะสามารถส่งมอบโครงการได้ตามกำหนดส่วนในปีนี้การมีมาตรการแอลทีวี อาจจะมีผลให้ยอดการปฏิเสธสินเชื่อขยับตัวขึ้นบ้าง ส่วนของดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น นั้น คงไม่ส่งผลอะไรมาก คนที่มีกำลังซื้อยังคงซื้อบ้านเหมือนเดิม"
ทั้งนี้ เนื่องจากกำลังซื้อส่วนหนึ่งเริ่มกลับมาและแนวโน้มต้นทุนก่อสร้างเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยปรับสูงขึ้น สอดคล้องกับดัชนีราคาที่ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ระบุว่า โครงการใหม่ที่มีการเปิดขายเริ่มมีสัญญาณขยับของราคา ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2565 เพราะส่วนใหญ่มีต้นทุนค่าก่อสร้างสูงขึ้น ตามราคาวัสดุก่อสร้างที่ยังคงเพิ่มขึ้นเกือบทุกหมวด
จึงทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับราคาสูง โดยเฉพาะ โครงการบ้านจัดสรร เพราะในแง่ของดัชนีราคานั้นเพิ่มขึ้น2.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 2.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ดัชนีทรงตัวติดต่อกันมา 3 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2565 เช่นเดียวกับราคาคอนโดมีทิศทางที่ปรับตัวสูงขึ้นในปีนี้
"ธงชัย บุศราพันธ์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจัยที่ท้าทายในปีนี้ทั่วโลกเมื่อโควิดกำลังคลี่คลายกลายเป็นโรคปกติและปัจจัยภาวะเงินเฟ้อที่กดดันทำให้ธนาคารกลางทุกที่ทั่วโลกต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะมีผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนของบริษัทหรือต้นทุนของลูกค้าเพิ่ม ขึ้นและกำลังซื้อจะหดลง
แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยอยู่ในประเทศที่น่าจะเป็นประเทศอันดับต้นๆของโลกที่ได้รับผลกระทบเรื่องนี้น้อยที่สุด ! ขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกา หรืออังกฤษมีฟองสบู่ขนาดใหญ่ อัตราดอกเบี้ยขึ้นไปถึง 7-8%แล้ว ขณะที่ประเทศไทยขยับกันอยู่นิดเดียว โดยในปีที่ผ่านมาขยับอยู่ที่ 1.75% มีการคาดกาณ์ว่า น่าจะเพิ่มขึ้นอีกไม่มาก โดยอาจขึ้นมาเต็มที่2% แล้วหยุดแค่ตรงนั้น
"หากเป็นเช่นนั้นจริง หมายความว่า ผลกระทบต่อลูกค้าและตัวบริษัทเองถือว่า น้อยมากกว่าที่คาดการณ์ ฉะนั้นทุกอย่างที่ เผชิญอยูในปีนี้ไม่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ ถึงแม้จะยังไม่ดีเท่าเดิมแต่ไม่ได้เลวร้ายไปกว่าที่ผ่านมา ในแง่ของต้นทุนทางการเงิน ค่อนข้างที่เห็นภาพแล้วว่า ไม่ได้รุนแรงมาก ส่วนต้นทุนค่าก่อสร้าง ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น ทำให้สามารถควบคุมงบการก่อสร้างได้ "
ขณะที่ล่าสุดรัฐบาลจีนได้การประกาศปลดล็อคและเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นอีกปัจจัยบวกใหม่ที่จะทำให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยฟื้นขึ้นมาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยจากการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยของนักท่องเที่ยวชาวจีน โดยภาคอสังหาฯ จะได้อานิสงส์จากบรรยากาศทางเศรษฐกิจ และเพิ่มขึ้นของรายได้ประชากรในประเทศที่กลับมา