เศรษฐกิจอมโรคด้วยเงินกู้ จะไปต่อไหวไหม | โสภณ พรโชคชัย

เศรษฐกิจอมโรคด้วยเงินกู้ จะไปต่อไหวไหม | โสภณ พรโชคชัย

มีบางคนบอกว่าขนาดเศรษฐกิจไทยในยุคนี้ใหญ่กว่ายุคทักษิณถึง 4 เท่า แสดงว่าประเทศไทยเจริญขึ้นมาก แต่ทำไมคนจนจึงเพิ่มขึ้นมหาศาล แล้วประเทศอื่นในอาเซียนเป็นอย่างไร ท่านทราบหรือไม่ ภายในปี 2584 เวียดนามจะแซงไทยแล้ว

ถ้าพิจารณาจากขนาดเศรษฐกิจไทยในปี 2545 (สมัยทักษิณ) รายได้ประชาชาติ (GDP) ของไทยอยู่ที่ 134.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่มาในปี 2564 (สมัยประยุทธ์) กลับเพิ่มเป็น 505.9 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือเติบโตขึ้นเกือบ 4 เท่า (3.8 เท่า)

ทั้งนี้ตามตัวเลขรายได้ตลาด (ยังไม่หักเงินเฟ้อ) ของธนาคารโลก นี่แสดงว่าไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจใช่หรือไม่ แต่หลายคนก็สงสัยว่า ถ้าประสบความสำเร็จจริง ทำไมประเทศไทยจึงมีคนจนที่จดทะเบียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 “ “‘คลัง’ เปิดตัวเลขลงทะเบียน ‘บัตรสวัสดิการฯ’ รอบใหม่ 22 ล้านคน”  หรือราวหนึ่งในสามของประชากรไทยเข้าไปแล้ว

อันที่จริงตัวเลขรายได้ประชาชาติข้างต้นอาจมีรายละเอียดที่ต้องเข้าใจเพิ่มเติม นั่นก็คือ รายได้ประชาชาติในปี 2557 (ถึงปีรัฐประหาร) สูงถึง 407.3 พันล้านเหรียญสหรัฐเข้าไปแล้ว

แสดงว่าในช่วงปี 2545-2557 ประเทศไทยรวยขึ้นถึง 3 เท่า แต่ในช่วงปี 2557-2564 (ยุคประยุทธ์) รายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นอีกเพียง 20% หรือเท่ากับช่วง 7 ปีนี้

เศรษฐกิจอมโรคด้วยเงินกู้ จะไปต่อไหวไหม | โสภณ พรโชคชัย

อัตราการเติบโตของ GDP เพิ่มขึ้นเพียง 3.1% ต่อปีเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า (ปี 2545-2554) ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 9.7% (ตัวเลขเหล่านี้อาจดูสูงเพราะไม่ได้ทอนเงินเฟ้อ)

เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ในอาเซียนที่มี 10 ประเทศ จะเห็นได้ว่าในช่วงล่าสุด (ปี 2557-2564) อัตราการเติบโตที่ 3.1% ของไทยเป็นแค่อันดับที่ 7 หรือค่อนข้างจะ “รองบ่อน” โดยมีกัมพูชา เวียดนาม และลาวนำโด่งสุด

กรณีนี้บางท่านอาจแย้งว่าก็ประเทศเหล่านี้ล้าหลังกว่าไทย จึงอาจจะ “ก้าวกระโดด” กว่าไทยได้ อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ใกล้เคียงกับไทย เช่น อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ก็ยังนำหน้าไทย

และประเทศที่เจริญกว่าไทยคือสิงคโปร์ ก็มีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยที่สูงกว่าไทยเช่นกัน มีเพียงมาเลเซีย เมียนมา (ที่ถูกรัฐประหาร) และบรูไนที่เศรษฐกิจไม่ค่อยกระเตื้องเท่านั้น

สิ่งที่น่าสนใจอีกประกาศหนึ่งก็คือ ขนาดเศรษฐกิจของไทยนั้นใหญ่เป็นอับดับสองของอาเซียน 10 ประเทศ เพียงแต่เติบโตช้า

ทั้งนี้ อินโดนีเซียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าไทยคือเป็น 234% ของไทย สิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศเกาะเล็กๆ กลับมีขนาดเศรษฐกิจถึง 78% ของไทย เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์

เศรษฐกิจอมโรคด้วยเงินกู้ จะไปต่อไหวไหม | โสภณ พรโชคชัย

ส่วนมาเลเซียที่มีขนาดราวสองในสามของไทย ก็มีขนาดเศรษฐกิจถึง 74% ของไทย ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเล็กมากๆ ก็มีเพียงเมียนมา กัมพูชา ลาวและบรูไน

 เมื่อเจาะลึกลงมาดูถึงรายได้ประชาชาติต่อหัว จะเห็นได้ว่าสิงคโปร์มาเป็นอันดับที่ 1 คือโดยเฉลี่ยประชากรสิงคโปร์มีรายได้ 67,857 เหรียญสหรัฐต่อปี หรือเทียบเท่า 936% ของไทย แสดงว่าชาวสิงคโปร์รวยเท่ากับ 9 เท่าของไทย

ความรวยของสิงคโปร์ในรูปการนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ จากเมื่อ 30 ปีก่อน อาจอยู่ที่ 4 เท่า แต่ขณะนี้พุ่งทะยานสูงมาก

บรูไนก็รวยเท่ากับ 4 เท่าของไทย (442%) ทั้งนี้เพราะประเทศนี้มีประชากรเพียง 4 แสนเศษเท่านั้น ในขณะที่อินโดนีเซีย เวียดนามและฟิลิปปินส์ มีรายได้พอๆ กับแค่ครึ่งหนึ่งของไทยเท่านั้น ในขณะที่ประชาชนชาวลาว กัมพูชาและเมียนมาจนมาก

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า ประเทศที่นักลงทุนไทยน่าลงทุนมากๆ ในขณะนี้ก็คือ อินโดนีเซีย เวียดนามและฟิลิปปินส์ รวมทั้งประเทศที่ยังห่างชั้นไทยอยู่มากก็คือกัมพูชา

ยกเว้นลาวที่มีประชากรผู้บริโภคน้อย และเมียนมาที่มีแต่ผู้ที่คิดจะถอนการลงทุนเพราะรัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2564 นักลงทุนหลายประเทศต่างหยุดหรือขายกิจการในเมียนมาในขณะนี้

เศรษฐกิจอมโรคด้วยเงินกู้ จะไปต่อไหวไหม | โสภณ พรโชคชัย

ผู้เขียนซึ่งเป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินก็มีโอกาสไปประเมินค่าโรงงานต่างๆ ในเมียนมา เพราะนักลงทุนต่างชาติตัดสินใจถอนตัว

สิ่งที่น่าห่วงอย่างหนึ่งก็คือ จะมีประเทศไทยที่จะแซงไทยในอนาคตหรือไม่ ที่ผ่านมา ไทยก็ถูกแซงไปมากแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ และมาเลเซีย

แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ ณ พ.ศ.2584 หรือ 18 ปีนับจากปี 2566 นี้ เวียดนามจะแซงไทยแล้ว

ทั้งนี้ ณ ปี 2564 ไทยมีรายได้ประชาชาติต่อหัวอยู่ที่ 7,249 เหรียญสหรัฐ ในขณะที่เวียดนามมีรายได้อยู่ที่ 3,761 เหรียญสหรัฐ หรือเพียง 52% ของไทยเท่านั้น แต่ถ้าเวียดนามยังเติบโต 6.6% ต่อปีในขณะที่ไทยเติบโตที่ 3.1% ต่อปี

ภายในปี 2584 รายได้ประชาชาติต่อหัวของเวียดนามจะขึ้นแซงไทย ถ้าเวียดนามแซงไทยได้ อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ก็จะ “หายใจรดต้นคอ” ของไทยต่อไป

แม้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตไม่มาก แต่ตลาดที่อยู่อาศัยหลังยุคโควิด-19 ก็ฟื้นแล้ว โดยไม่ได้พึ่งการขายบ้านหรือขายที่ดินให้ต่างชาติ

เศรษฐกิจอมโรคด้วยเงินกู้ จะไปต่อไหวไหม | โสภณ พรโชคชัย

จากข้อมูลของ ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย พบว่าในปี 2565 จำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลแตะระดับเดียวกับปี 2562 (ก่อนโควิด-19) ที่ 115,000 หน่วยต่อปี

ทั้งนี้ในปี 2563 การเปิดตัวโครงการใหม่ลดลงเหลือ 73,000 หน่วยและในปี 2564 เหลือ 60,000 หน่วยเท่านั้น แสดงว่าตลาดที่อยู่อาศัยกลับสู่ภาวะปกติโดยที่ไม่ได้อาศัยกำลังซื้อของต่างชาติเป็นหลักเลย และเชื่อว่าในปี 2566 นี้ การเติบโตของตลาดจะเพิ่มขึ้นอีก 8-12%

สิ่งสำคัญที่ไทยพึงดำเนินการก็คือการเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อหนีคู่แข่งด่วน!

คอลัมน์ อสังหาริมทรัพย์ต่างแดน

ดร.โสภณ พรโชคชัย

ประธานกรรมการศูนย์ข้อมูล วิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ 

บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส 

www.area.co.th

Email: [email protected]