ลูกบ้านแอชตันอโศกอึ้ง! ศรีสุวรรณจี้ กทม.สั่งห้ามใช้อาคาร-ตึกแถวไม่ขาย
ลูกบ้านแอชตันอโศกอึ้ง! ข่าวร้าย ศรีสุวรรณจี้ กทม. ต้องออกคำสั่งห้ามใช้อาคารแอชตันตามที่กฎหมายกำหนด แถมเจ้าของตึกแถวหลังคอนโด แอชตัน อโศก ยันไม่ขาย
แหล่งข่าวจากกรรมการนิติบุคคล ตัวแทนเจ้าของร่วม (ลูกบ้าน) โครงการแอชตัน อโศก กล่าวว่า กรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา จี้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องออกคำสั่งห้ามใช้อาคารแอชตัน อโศก ตามที่กฎหมายกำหนด โหดเกินไปลูกบ้านจุกมาก หลังจากที่ เจ้าของตึกแถวหลังคอนโด แอชตัน อโศก ออกมาบอกว่าไม่ขายก็แย่แล้ว
สิ่งที่ลูกบ้านอยากได้ยินตอนนี้คือว่า ใครจะเป็นคนที่กล้าบอกว่าจะรับผิดชอบให้ เพราะว่าประโยคที่ทำให้ลูกบ้านรู้สึกเจ็บมากที่สุดคือ คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง แอชตัน อโศก ทั้งที่ หน่วยงานรัฐเป็นผู้กระทำความผิด ฟ้องร้องโดยประชาชน แล้วศาลตัดสิน แต่พอตัดสินออกมาแล้ว ลูกบ้านที่เป็นประชาชนถูกลงโทษไม่ใช่ กทม. รฟม. อนันดา
"ตอนนี้ผ่อนแบงก์อยู่ ทุกคนกลัวมากว่าจะผ่อนลมอยู่หรือป่าว คนที่ปล่อยเช่าห้องใครจะกล้ามาเช่า คนที่ขายห้องยิ่งไม่ต้องพูดเลย ใครที่ลำบากเรื่องการเงินตอนนี้จะเอาห้องไปค้ำประกันลำบากแน่นอน คือตอนนี้พวกเราลำบากมาก เดือดร้อนมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย ที่อยู่ๆ จะให้รื้อบ้าน 600 หลัง ขนาดชุมชนเล็กๆ เขายังไม่ยอมกันเลย และยังไม่มีหน่วยงานรัฐมาให้แสงสว่างเราเลย เรียกได้ว่ามืดแปดด้านได้แต่คาดเดา รับรู้ข้อมูลตามข่าว"
โดยวานนี้ มีข่าวเจ้าของตึกใน ซอยสุขุมวิท 19 แยก 2 ประกาศไม่ขายตึกด้านหน้าคอนโด แอชตัน อโศกเพื่อทำเป็นทางออก ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีที่ไม่ต้องทุบแอชตัน อโศก และล่าสุดนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้โพสต์เผยกรณีศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนใบแจ้งหรือใบอนุญาตก่อสร้างอาคารโครงการแอชตัน อโศก ซอยสุขุมวิท 21 ทุกใบเนื่องจากไม่เป็นไปตามกฎกระทรวงของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายว่า หลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วเป็นหน้าที่ของ กทม.ที่จะต้องปฏิบัติและออกคำสั่งบังคับให้เป็นไปคำพิพากษาของศาล ตามกฎหมายโดยเคร่งครัดโดยเร็ว
ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวตาม พรบ.ควบคุมอาคาร 2522 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่นไว้ชัดเจนอยู่แล้ว เมื่อรับทราบคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดซึ่งรับรู้กันโดยทั่วไปแล้วว่าการแจ้งการก่อสร้างอาคารดังกล่าวไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 39 ทวิ และตามมาตรา 39 ตรี กทม.ต้องมีหนังสือแจ้งข้อทักท้วงไปยังผู้แจ้งหรือผู้ขออนุญาตให้รีบแก้ไขให้เป็นไปตามกฎหมายภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน และหลังจากนั้น กทม.ต้องมีคำสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือบุคคลใดเข้าไปใช้อาคารดังกล่าวและจัดให้มีเครื่องหมายแสดงการห้ามใช้อาคารไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคารหรือบริเวณดังกล่าว ตามมาตรา 40 โดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม กฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่า หากมีความเป็นไปได้ว่าข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น สามารถที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางเข้า-ออกอาคารให้เป็นไปตามกฎหมายหรือให้ถูกต้องได้ เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของอาคารยื่นคำขออนุญาตหรือดำเนินการแจ้งตามมาตรา 39 ทวิ หรือดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่า 30 วันในกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่มีเหตุผลเพียงพอ เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะขยายเวลาดังกล่าวออกไปอีกก็ได้ แต่ก็ต้องมีระยะเวลาที่ชัดเจนไม่ยาวนานจนเกินไป ซึ่งก็น่าจะไม่เกิน 45 วัน
ทั้งนี้ หากบริษัทเจ้าของโครงการดังกล่าว ไม่สามารถจัดซื้อจัดหาที่ดินเป็นทางเข้า-ออกอาคารกว้าง 12 เมตรขึ้นไปตามที่กฎหมายกำหนดได้ กทม.ต้องดำเนินการตามมาตรา 42 โดยเคร่งครัด คือ ต้องออกคำสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้ควบคุมงานหรือผู้ดำเนินการรื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมด หรือบางส่วนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่า 30 วันโดยให้ดำเนินการรื้อถอนตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8 (11) หรือข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ออกตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10
ดังนั้น เมื่อ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 มีกรอบการทำงานให้ กทม.ต้องปฏิบัติไว้ชัดเจนแล้ว กทม.จะทำตัวเป็นพ่อพระใจดี ปล่อยให้อาคารดังกล่าวใช้ประโยชน์ต่อไปโดยไม่มีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน โดยไม่ออกคำสั่งใด ๆ ตามขั้นตอน วิธีการตามที่กฎหมายกำหนดไม่ได้ อย่าลืมว่า กทม.ไม่ใช่หน่วยงานรัฐอิสระ หากแต่ยังมีองค์กรหรือหน่วยงานตรวจสอบ กทม.อยู่ คือ ป.ป.ช.และหรือศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด