เจาะประเด็นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของนิติบุคคลอาคารชุดแอชตัน อโศก
เจาะประเด็นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ ของนิติบุคคลอาคารชุดแอชตัน อโศก ได้ทำการยื่นคำร้องขอต่อศาลปกครองกลางวันนี้
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ อส.188/2566 ที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนเป็นผู้ฟ้องคดี โดยพิพากษาให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารฯ ตามมาตรา 39 ทวิ และใบรับแจ้งการก่อสร้างอาคารฯ ตามมาตรา 39 ตรี (“ใบอนุญาต”) ที่ออกให้แก่โครงการอาคารชุดแอชตัน อโศก ทุกฉบับ โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือฉบับดังกล่าว เนื่องจากการที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (“รฟม.”) นำที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนมาให้ใช้เป็นทางเข้าออกสู่ถนนอโศกมนตรีของโครงการดังกล่าวเป็นการใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน 84 วันที่ผ่านมา
แม้เจ้าของร่วมจะขวนขวายขอความช่วยเหลือไปยังส่วนราชการและผู้เกี่ยวข้องหลายแห่ง แต่ยังไม่มีความชัดเจนที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรม ในขณะที่ระยะเวลาในการใช้สิทธิขอให้พิจารณาคดีใหม่กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 25 ตุลาคม 2566 นี้ ปรากฏว่า ในวันนี้ นิติบุคคลอาคารชุดแอชตัน อโศก โดยนายพิสุทธิ์ รักวงษ์ และนางสาวเยาวลักษณ์ สุลีสถิระ จากสำนักงานกฎหมายบริษัท พิสุทธิ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส จำกัด ได้ทำการยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ในคดีดังกล่าวต่อศาลปกครองกลาง
ซึ่งแหล่งข่าวแจ้งว่า นิติบุคคลในฐานะตัวแทนของเจ้าของร่วมมีความจำเป็นต้องปกป้องรักษาสิทธิของตนเองด้วยการยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่เนื่องจากเจ้าของร่วมและนิติบุคคลอาคารชุดเป็นบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียหรือถูกกระทบจากผลแห่งคดีแต่มิได้เข้าไปในกระบวนพิจารณาคดีดังกล่าวจึงเป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
เจาะประเด็นในคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่จะมีน้ำหนักพอที่ศาลจะรับพิจารณาคดีใหม่หรือไม่ ไปติดตามกัน
ตามคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของนิติบุคคลอาคารชุดแอชตัน อโศกเชื่อว่ามีเหตุที่จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ เนื่องจากมีพยานหลักฐานใหม่และมีข้อเท็จจริงใหม่ในสาระสำคัญซึ่งอาจจะมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาโดยสรุปได้ ดังนี้
ประเด็นตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เหตุผลในการขอพิจารณาคดีใหม่
วัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน
ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนจาก พ.ร.ฎ. 2 ฉบับ ได้แก่
• พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2538 ระบุวัตถุประสงค์ในการเวนคืนว่า “เพื่อสร้างทางพิเศษตามโครงการรถไฟฟ้ามหานครระยะแรก” และ
พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน (ฉบับที่2) พ.ศ. 2539 (เป็นฉบับที่ออกมาเพื่อแก้ไข ฉบับปี พ.ศ. 2538 ในส่วนเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่เวนคืนไม่ได้ระบุเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ในการเวนคืน • มี พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนที่ดินที่เกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่บริเวณโครงการแอชตัน อโศก ทั้งสิ้น 9 ฉบับ ซึ่งแต่ละฉบับได้ระบุถึงวัตถุประสงค์ของการเวนคืนไว้
• เจ้าของร่วมเห็นว่าการพิจารณาวัตถุประสงค์ของการกำหนดเขตที่ดินที่เวนคืนสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจึงต้องพิจารณาวัตถุประสงค์ตามที่ระบุในพระราชกฤษฎีกาทุกฉบับซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินประกอบกัน
• พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็น พ.ร.ฎ. ฉบับล่าสุดเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดินสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ระบุวัตถุประสงค์ว่า “เพื่อสร้างหรือจัดให้มีการขนส่งโดยรถไฟฟ้าและที่จอดรถสำหรับผู้โดยสาร ตลอดจนธุรกิจเกี่ยวกับกิจการรถไฟฟ้า และธุรกิจอื่นเพื่อประโยชน์แก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และประชาชนในการใช้บริการกิจการรถไฟฟ้า”
• การที่ รฟม.อนุญาตให้ใช้ที่ดินเป็นทางเข้า-ออกโครงการโดยได้รับการตอบแทนเป็นอาคารจอดรถพร้อมพื้นที่ใช้สอยเป็นการ “จัดให้มีสถานที่จอดรถ” ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของ “กิจการรถไฟฟ้า” ทั้งยังเป็นการสร้างรายได้เพิ่มเติมจากการเก็บค่าบริการจอดรถให้กับ รฟม. โดยที่ รฟม. ไม่ได้สูญเสียประโยชน์ตาม
วัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน
อำนาจ รฟม.
รฟม. ไม่มีอำนาจนำที่ดินที่ได้จากการเวนคืนมาอนุญาตให้ใช้เป็นทางเข้าออกโครงการ หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา รฟม. ได้แก้ไขปรับปรุงทางเข้า-ออก โครงการแอชตัน อโศก โดยใช้ประโยชน์ให้เป็นทางเข้า-ออก ที่จอดรถของ รฟม. เพื่อเปิดให้บริการแก่ประชาชน อันเป็นการใช้ที่ดินตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนแล้ว รฟม.จึงน่าจะอนุญาตให้ใช้ที่ดินดังกล่าว เป็นทางผ่านเข้า-ออกโครงการแอชตัน อโศก เพิ่มเติมจากการใช้ที่ดินตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนได้
จากการที่เจ้าของร่วมใช้ทางเข้า-ออก โครงการเป็นประจำทุกวัน เจ้าของร่วมเชื่อว่า รฟม. ได้ใช้บริเวณพื้นที่ใต้ดินของทางเข้า-ออกดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสุขุมวิทที่ประกอบไปด้วยอาคารสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินและระบบรางรถไฟฟ้าใต้ดินอันเป็นกิจการรถไฟฟ้าซึ่งตรงตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนแล้ว ดังนั้น การอนุญาตให้ที่ดินดังกล่าว เป็นทางผ่านเข้า-ออกโครงการแอชตัน อโศกร่วมกับการใช้เป็นทางเข้า-ออก ที่จอดรถของ รฟม. จึงไม่ได้กระทบต่อวัตถุประสงค์การเวนคืน และไม่ได้เป็นการใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์แก่โครงการแอชตัน อโศก เท่านั้น
(ในประเด็นนี้นิติบุคคลจะขอให้ศาลออกตรวจสถานที่พิพาทและมีคำสั่งให้ รฟม.จัดส่งแผนผังและระบบงานใต้ดินเพื่อประกอบการแสวงหาข้อเท็จจริงของศาลด้วย ซึ่งหาก รฟม.ได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ใต้ดินทางเข้า-ออก ดังกล่าวจะทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไปได้)
แม้ศาลปกครองจะเห็นว่าการใช้ที่ดินเป็นทางเข้า-ออก โครงการยังคงไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน แต่เมื่อหลักการที่รัฐต้องใช้ที่ดินตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนมุ่งหมายที่จะคุ้มครองเจ้าของที่ดินเดิมหรือทายาท (กำหนดให้มีสิทธิขอคืนที่ดินที่ไม่ได้ใช้ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนได้) แต่ปรากฏว่าพ้นกำหนดเวลาที่เจ้าของที่ดินเดิมหรือทายาทจะขอคืนที่ดินแล้ว ที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์เด็ดขาดของ รฟม. ดังนั้น รฟม.จึงอนุญาตให้ใช้ที่ดินดังกล่าวเป็นทางเข้า-ออกโครงการได้
จากการตรวจสอบและค้นหาพยานหลักฐานเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้ที่ดิน รฟม.เป็นทางเข้า-ออกสำหรับอาคารชุดแห่งอื่นพบว่า
• รฟม.ได้กำหนดข้อสงวนสิทธิ์ในการใช้ที่ดินของ รฟม.เป็นทางผ่านสำหรับการอนุญาตให้ใช้ที่ดินของ รฟม. เป็นทางเข้า-ออกโครงการอาคารชุดทุกแห่งที่ได้รับอนุญาต
• รฟม.มีแนวทางปฏิบัติต่อโครงการอาคารชุดแห่งอื่นเช่นเดียวกับโครงการแอชตัน อโศก กล่าวคือ รฟม.จะมีหนังสือยืนยันว่าอนุญาตให้อาคารชุดใช้ที่ดินของ รฟม.เป็นทางเข้า-ออก สู่ถนนสาธารณะได้ตลอดเวลาที่อาคารตั้งอยู่
• หากศาลปกครองมีคำสั่งให้เรียกพยานเอกสารเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้ที่ดิน รฟม.เป็นทางเข้า-ออกของโครงการอาคารชุดตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้ามหานครเพื่อเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อไปก็จะพบว่า รฟม.มีแนวทางปฏิบัติในการอนุญาตให้ใช้ทางเข้า-ออก โครงการอื่นเช่นเดียวกับแอชตัน อโศก มิได้มีการอนุญาตเป็นพิเศษหรือเฉพาะเจาะจงสำหรับโครงการนี้เท่านั้น
• แนวทางปฏิบัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า รฟม. มีเจตนาที่แท้จริงในการอนุญาตให้ใช้ที่ดินทางเข้า-ออก มีความมั่นคงเพียงพอตราบเท่าที่อาคารชุดนั้นตั้งอยู่ทุกโครงการ
• มิเช่นนั้นแล้วอาคารชุดที่ได้รับอนุญาตจาก รฟม.ทุกโครงการย่อมไม่มีทางเข้า-ออก ที่มั่นคงเพียงพอที่สำหรับรถดับเพลิงด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ส่งผลกระทบต่อไปในวงกว้างต่อโครงการที่ใช้ทางเข้า-ออก ของ รฟม.และประชาชนผู้ซื้อห้องชุดตามแนวรถไฟฟ้าใต้ดิน
• หากการอนุญาตหรือการกำหนดข้อสงวนสิทธิของ รฟม.ไม่ถูกต้อง แต่เมื่อเป็นกรณีที่ รฟม. สามารถแก้ไขได้ และหากไม่แก้ไข จะส่งผลกระทบต่อโครงการที่ได้รับอนุญาตแล้วขยายออกไปเป็นวงกว้าง แม้ศาลจะฟังว่ามีความบกพร่องในส่วนนี้ แต่เมื่อคำนึงถึงผลกระทบและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแล้ว น่าจะมีการแก้ไขเรื่องดังกล่าวให้ถูกต้องมากกว่าที่จะเพิกถอนใบอนุญาตตามกฎหมายควบคุมอาคาร
หลักความได้สัดส่วน
• เมื่อปัจจุบัน รฟม.ได้ปรับปรุงพื้นที่ทางเข้า-ออก ที่จอดรถสำหรับประชาชนผู้ใช้บริการสถานีรถไฟฟ้าสุขุมวิทแล้ว ประกอบกับ ณ ปัจจุบันเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนหรือทายาทซึ่งเป็นบุคคลที่รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองเมื่อหน่วยงานของรัฐใช้ที่ดินผิดไปจากวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน สิ้นสิทธิในการขอคืนที่ดิน เนื่องจากล่วงพ้นกำหนดเวลาแล้ว ดังนั้น แม้หากจะมีการใช้ที่ดินไม่ตรงตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนก็ไม่ถึงขนาดที่จะต้องเพิกถอนใบอนุญาตที่ออกให้แก่โครงการแอชตัน อโศก
• เจ้าของร่วมและนิติบุคคลจึงขอให้ศาลปกครองใช้อำนาจในการคุ้มครองเจ้าของร่วมซึ่งเป็นประชาชนที่เข้ามาซื้อห้องชุดโดยสุจริต โดยไม่จำต้องถึงขนาดพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาต ดังที่ศาลปกครองสูงสุดได้เคยวางบรรทัดฐานในคดีแปรรูป ปตท. และคดีอื่นๆ ที่มีการกระทำหรือออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ศาลปกครองมิได้เพิกถอนการกระทำหรือการออกคำสั่งนั้น โดยพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของฝ่ายปกครอง หลักความได้สัดส่วนซึ่งเป็นหลักกฎหมายที่ให้ฝ่ายปกครองใช้อำนาจอย่างสมเหตุผลเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างประโยชน์สาธารณะกับประโยชน์ของเอกชน และพิจารณาถึงความเสียหายด้านงบประมาณที่ต้องใช้ในการรื้อถอนสิ่งที่ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงจะทำให้เกิดความเสียหายเกินสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐนั้นได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องแล้ว
• การที่ รฟม. อนุญาตให้ใช้ที่ดินเป็นทางเข้า-ออกโครงการแอชตัน อโศก เป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อแก่เจ้าของโครงการและเจ้าของร่วม ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและเจ้าของร่วม ตลอดจนระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
การเพิกถอนใบอนุญาตที่ออกให้แก่โครงการแอชตัน อโศก ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ รังแต่จะก่อให้เกิดความเสียหาย
ดังนี้
• ผลกระทบต่อกรรมสิทธิ์และการอยู่อาศัยของเจ้าของร่วมจำนวน 668 ห้องชุด ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาทางเงินของเจ้าของร่วม เจ้าของโครงการ และผู้เกี่ยวข้องกับโครงการอาคารชุดแอชตัน อโศก ทุกฝ่าย
• ผลกระทบต่อสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อแก่เจ้าของโครงการและเจ้าของร่วม ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
• ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
• ผลกระทบต่อระบบงานของศาล เนื่องจากจะเกิดข้อพิพาทฟ้องร้องเกี่ยวกับโครงการนี้ต่อศาลยุติธรรมและศาลปกครองเป็นจำนวนมาก เช่น เจ้าของร่วมฟ้องร้องหน่วยงานรัฐให้รับผิดเพื่อการละเมิดเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับโครงการแอชตัน อโศก หรือเจ้าของร่วมฟ้องเจ้าของโครงการให้รับผิดตามสัญญาซื้อขาย หรือกรณีสถาบันการเงินผู้ให้สินเชื่อฟ้องเจ้าของร่วมให้รับผิดตามสัญญากู้ยืมเงิน
• หากต้องรื้อถอนอาคารชุด จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบโครงการ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัยในชุมชนโดยรอบ
• การให้รื้อถอนอาคารชุดแอชตัน อโศก ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ใด รังแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะทั้งในแง่งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างและรื้อถอน ซึ่งไม่คุ้มค่ากับประโยชน์ที่จะได้รับจากการรื้อถอนอาคารชุดดังกล่าว