7เซียนอสังหาฯแนะคาถารับมือความท้าทายปี2567พลิกเกมตั้งรับสยบมังกรไฟ
7 เซียนวงการอสังหาฯเผยคาถารับมือความท้าทายฉ่ำปี2567 แนะเข้าสู่โหมดตั้งรับระมัดระวังการลงทุน ไม่บูมบ่าม ละเอียดรอบคอบ ตุนเงินสด รักษาสภาพคล่อง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก
จากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะสงครามรัสเซีย-ยูเครน หรืออิสราเอล-ฮามาส ซึ่งเป็น"ปัจจัยลบ"ที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกในภาพรวมส่งผลมายังประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินเฟ้อ การขึ้นดอกเบี้ยในประเทศ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ไม่ดี กำลังซื้อหดตัว รวมถึงมาตรการเข้มงวดของสถาบันการเงินจึงกลายเป็นความท้าทายในปี2567 ที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ไทยต้องเผชิญ!
ประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) มองว่า แม้หลายคนมองว่า ปี2567 "วิกฤติ" แต่ในมุมมองของผมคิดว่า น่าจะดีขึ้นเพราะดอกเบี้ยถึงจุดพีคแล้วปี2567ดอกเบี้ยน่าจะลดลง และมีการคาดการณ์ว่า น้ำมันจะลดลง ทำให้ต้นทุนน้ำมัน พลังงาน ขนส่งลดลง ช่วยทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น เงินเฟ้อไม่สูงดอกเบี้ยลดลง คาดว่า การส่งออกน่าจะดีขึ้น เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ประกอบกับงบประมาณรัฐเริ่มออกมีการใช้จ่ายจากภาครัฐออกมากระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวทำให้เกิดโมเมตัมที่ดีขึ้นจากการเพิ่มเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น
คาดว่าในปี2567 จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากกว่าปีนี้ รวมทั้งการลงทุนมากขึ้น เพราะดอกเบี้ยลดลง หลังจากที่รัฐบาลออกไปเชิญชวนบริษัทต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย น่าจะเป็น"ปัจจัยบวก"ที่ทำให้เศรษฐกิจประเทศฟื้นตัวส่วนปัจจัยลบความกังวลเรื่องหุ้นกู้ อาจจมีผลสำหรับบางบริษัทแต่ส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบ
"แต่ปี2567 ทุกคนต้องระมัดระวังในการลงทุนต้องไม่บูมบ่าม อย่าตัดสินใจรวดเร็วเกินไปต้องคิดให้รอบคอบ ต้องวางแผนละเอียดใกล้ชิด ต้องระมัดระวังแม้ว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นก็ตาม "
ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจมหาภาคทุกภูมิภาค ทั่วโลกเผชิญกับภูมิรัฐศาสตร์ เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหาภาคทั้งการผลิตและบริโภคทั่วโลกแม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ได้รับผลกระทบ
"ปี2567 อยู่ในโหมด"เฝ้าระวัง"เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนที่เกิดขึ้นให้ทันเวลา ไม่ประเมินสถานการณ์ต่ำหรือว่าดีจนเกินไป โดยวางแผนเป็นซินาริโอไว้ล่วงหน้าเพื่อเป็นแนวทางในการจัดการปัญหาและสถานการณ์ต่างๆได้ทันเวลา ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการบริหาร"
พีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี2567 ผู้ประกอบการอสังหาฯควรศึกษาตลาดดูดีมานด์ซัพพลายในพื้นที่ก่อนพัฒนาโครงการให้ดีก่อนทำโปรเจคโลน เพราะสถานบันการเงินมีเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อน่าที่เข้มงวดมากขึ้น
ทั้งนี้เนื่องจากหนี้ครัวเรือนสูง กำลังซื้อถูกกดด้วยภาระหนี้ ดอกเบี้ยสูง เป็นภาระกับภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ นอกจากนี้ยังงมีเรื่องที่ต้องจับตามองอย่างเช่น สงคราม รัสเซีย-ยูเครน หรืออิสราเอล-ฮามาส ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายส่วนปัจจัยบวกในมุมมองของผม ภาคเอกชนไทยมีความแข็งแรงขึ้นหลังประสบปัญหาเศรษฐกิจมาหลายปี มีภูมิคุ้มกันสูง รวมทั้งผู้บริโภคเก่งขึ้น
อุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลาดอสังหาฯในปี2567 ยังคงเผชิญความท้าทายค่อนข้างสูง จากปัจจัยกำลังซื้อ อัตราดอกเบี้ยที่สูง ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ ขณะที่รายได้หด ทำให้การดำเนินธุรกิจยากขึ้นกว่าในปี2566 เพราะกำลังซื้อโดยรวมปี2567มีโอกาสชะลอตัวมากกว่าปี2566 ส่งผลให้การเปิดตัวโครงการในปี2567 ลดลงกว่าปีที่ผ่านมาเนื่องจากกำลังซื้อถูกดูดซับในช่วง2-3ปีที่ผ่านมา วัสดุก่อสร้างและต้นทุนทางการเงิน สูงขึ้น ขณะที่การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ มีต้นทุนเพิ่มขึ้น ส่วนในภาคธุรกิจเศรษฐกิจมีความอ่อนไหวหลายปัจจัยอยู่ทั้งค่าไฟ ค่าน้ำมัน สงคราม การค้าชะลอตัวช้าลง เศรษฐกิจต่างประเทศ อเมริกา ยุโรป จีนได้รับผลกระทบชัดเจน
"จากเดิมคิดว่า คนจีนเดินทางออกมาเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นไม่ได้เป็นอย่างที่คิด จึงมองว่า ปี2567 ไม่ใช่ปีที่ง่าย แต่ไม่ใช่ปีที่ไม่มีความหวัง แม้ว่าอัตราการเติบโตอาจจะไม่เท่าปี2566 "
อุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า ปี2567 มีปัจจัยความไม่แน่นอนสูง ดังนั้นแนวทางการดำเนินธุรกิจต้องก้าวเดินอย่างระมัดระวัง มอนิเตอร์รายไตรมาส การลงทุนต่างๆต้องมีข้อมูลถูกต้องแม่นยำ ทั้งเรื่องดีมานด์ โลเคชั่นก่อนที่จะเปิดตัวโครงการในราคาที่เหมาะสม เพราะกำลังซื้อคนลดลง แต่หากตัวเลขจีดีพีของประเทศกลับมาโตจะส่งผลให้ธุรกิจอสังหาฯเติบโตมากขึ้น
เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี2567ผู้ประกอบการอสังหาฯยังคงต้องเผชิญความท้าทายจากปัจจัยลบที่รุมเร้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ควบคุมไม่ได้ ฉะนั้นผู้ประกอบการต้องระวังเรื่องของกระแสเงินสดให้ดี เนื่องจากการขอสินเชื่อในรูปแบบ Project Lone จะยากขึ้นเพราะธนาคารกังวลหนี้เสียขณะที่ตลาดหุ้นกู้ขาดความเชื่อมั่นจากนักลงทุน
สอดคล้องกับวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2567 ถือเป็นปีปราบเซียนภาพรวมเข้าสู่โหมด Wait & See ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังกระแสเงินสดเพื่อลดความเสี่ยง รับมือสงครามที่มีผลต่อต้นทุน รวมทั้งวิกฤติหุ้นกู้ โดยการสต็อกที่ดินลดลง พัฒนาโครงการตอบโจทย์ลูกค้าแม่นยำ