คลังสินค้า-โรงงานให้เช่าบูมรับดีมานด์ย้ายฐานผลิตภาคอุตสาหกรรม

คลังสินค้า-โรงงานให้เช่าบูมรับดีมานด์ย้ายฐานผลิตภาคอุตสาหกรรม

มั่นคงเคหะการกางแผนปรับโครงสร้างธุรกิจชู “คลังสินค้า” และ “โรงงานให้เช่า” เรือธงหลักสร้างการเติบโตแบบยั่งยืนรับโอกาสภาคอุตสาหกรรมโลกขยายฐานการผลิตสู่อาเซียน

นายวรสิทธิ์ โภคาชัยพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) หรือ MK เปิดเผยว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจประกอบด้วย 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1.ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายภายใต้แบรนด์บ้าน “ชวนชื่น” 2.ธุรกิจอาคารคลังสินค้าและโรงงานให้เช่าผ่านบริษัท พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด โดยถือหุ้นในบริษัท บีเอฟทีแซด วังน้อย จำกัด (BFTZWN) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในสัดส่วน 50% และลงทุนในทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ พรอสเพค โลจิสติกส์และอินดัสเทรียล (PROSPECT REIT) สัดส่วน 8.61% 

และ 3.ธุรกิจให้บริการด้านสุขภาพและให้บริการด้านที่พักภายใต้บริษัท อาร์เอ็กซ์ เวลเนส จำกัด (RXW) มีสถานที่การให้บริการด้านสุขภาพ 2 แห่ง ได้แก่ โครงการรักษ เวลเนส บางกระเจ้า ภายใต้แบรนด์ “Rakxa” รวมเนื้อที่ประมาณ 108 ไร่ และโครงการอาร์เอ็กซ์วี เวลเนส วิลเลจ ภายใต้แบรนด์ “RXV” เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ 
 

ล่าสุด คณะกรรมการของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 ได้มีมติให้เสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2567 ในวันที่ 1 มีนาคม 2567 นี้ เวลา 14.00 น. ณ ห้องคราวน์บอลรูม ชั้น 21 โรงแรมคราวน์ พลาซ่า กรุงเทพ ลุมพินี พาร์ค เพื่อขออนุมัติปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยบริษัทฯ จะขายหุ้นสามัญของ RXW ในจำนวน 13,799,998 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท คิดเป็นสัดส่วน 100% ของหุ้นที่ได้จำหน่ายแล้วทั้งหมด ให้แก่บริษัท เอฟเอ็นเอส โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (FNS)

 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ มูลค่าประมาณ 276 ล้านบาท และจำหน่ายทรัพย์สินที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เพื่อการประกอบธุรกิจบริการด้านสุขภาพมูลค่าประมาณ 84 ล้านบาท รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 360 ล้านบาท พร้อมให้สิทธิการเช่าที่ดินและอาคารสำหรับธุรกิจการให้บริการด้านสุขภาพฯ  เป็นเวลารวม 10 ปี มูลค่าการเช่ารวมประมาณ 1,770 ล้านบาท นอกจากนี้ FNS จะต้องให้กู้ยืมเงินแก่ RXW เพื่อนำมาคืนเงินกู้และดอกเบี้ยแก่บริษัทฯ 
 

ขณะเดียวกันจะขออนุมัติซื้อหุ้นสามัญและหน่วยทรัสต์จาก FNS ประกอบด้วย 1) หุ้นสามัญของ BFTZWN จำนวนทั้งสิ้น 24,999 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 100 บาท ในราคาหุ้นละ 2,000.08 บาท รวมมูลค่าทั้งสิ้น 50 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้น 50% ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด และ 2) หน่วยทรัสต์ PROSPECT REIT จำนวนทั้งสิ้น 83,212,061 หน่วย มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หน่วยละ 9.4697 บาท ในราคาหน่วยละ 9.3885 บาท รวมมูลค่าทั้งสิ้น 781 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 22.19% ของหน่วยทรัสต์ที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด 

ทั้งนี้ ภายหลังการปรับโครงสร้างธุรกิจ จะส่งผลให้บริษัทฯ มีสัดส่วนถือหุ้น BFTZWN ผ่านบริษัท พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด จากเดิม 50% เพิ่มเป็น 100% และมีอำนาจตัดสินใจและสิทธิในการบริหารอย่างเบ็ดเสร็จ รวมถึงเพิ่มสัดส่วนการถือหน่วยทรัสต์ PROSPECT REIT จาก 8.61% เพิ่มอีก 22.19% รวมเป็น 30.80% ของหน่วยทรัสต์ที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด ตลอดจนเพิ่มอำนาจในการตัดสินใจทำให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากสัดส่วนการถือหน่วยทรัสต์ที่เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มสภาพคล่องด้านเงินลงทุนให้กับบริษัทฯ เนื่องจากหน่วยทรัสต์ PROSPECT REIT มีสภาพคล่องในการซื้อขายที่ดี 

การปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทในอนาคต ที่มุ่งเน้นให้มีการเติบโตจากธุรกิจอาคารคลังสินค้าและอาคารโรงงานให้เช่าที่มีความเชี่ยวชาญเป็นธุรกิจหลัก เพราะ BFTZWN และ PROSPECT REIT เป็นบริษัทและกองทรัสต์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอาคารคลังสินค้าและโรงงานให้เช่า ที่มีอัตราการเติบโตที่ดี และจะส่งผลต่อการเติบโตของผลการดำเนินงานที่มั่นคงในอนาคต  

ขณะที่ธุรกิจให้บริการด้านสุขภาพอยู่ในช่วงเริ่มเปิดดำเนินการได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา การขายหุ้นจะทำให้บริษัทฯ ลดภาระการจัดหาเงินทุนเพื่อการดำเนินงานและขยายการลงทุน อย่างไรก็ดี เพื่อทำให้ฐานธุรกิจและรายได้ของบริษัทฯ มีความมั่นคงและเติบโตในระยะยาว การปรับโครงสร้างธุรกิจในครั้งนี้เปิดโอกาสให้บริษัทขยายธุรกิจอาคารคลังสินค้าและอาคารโรงงานให้เช่าอย่างต่อเนื่อง และอาจกระทบกับภาระหนี้เพิ่มเติมซึ่งบริษัทฯ จะจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อแก้ไขข้อกำหนดสิทธิ ในส่วนของอัตราส่วนทางการเงินที่ต้องดำรงไว้ (Debt/Equity Ratio)

ธุรกิจคลังสินค้าและโรงงานให้เช่ามีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่กำลังทยอยฟื้นตัวหนุนการเติบโตของภาคการค้าระหว่างประเทศ ทั้งยังได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวช่วยกระตุ้นความต้องการบริโภคสินค้า ส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของภาคการผลิต

ขณะที่การลงทุนในประเทศยังได้แรงหนุนจากการพัฒนาโครงการในนิคมอุตสาหกรรมโดยเฉพาะแนวระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และความพร้อมของห่วงโซ่อุปทานในภาคการผลิตสำคัญของไทย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ และสิ่งทอ

 รวมถึงความต้องการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลก อาทิ การขยายฐานการผลิตรถยนต์ EV ของประเทศจีนมาไทย และการขยายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีมายังประเทศไทย เป็นต้น

ล้วนเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจคลังสินค้าให้เช่าและอาคารโรงงานให้เช่าเพื่อรองรับอุปสงค์ที่มีทิศทางเติบโตต่อเนื่องในระยะข้างหน้า โดยธุรกิจคลังสินค้าและอาคารโรงงานให้เช่าเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ทางบริษัทฯ มองว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันสูง ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทต่างชาติใช้ไทยเป็นฐานการผลิตจนเป็นที่ยอมรับและมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง