ศาลปกครองสูงสุดไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ "แอชตัน อโศก"
ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลาง ไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ ของนิติบุคคลอาคารชุด "แอชตัน อโศก" ไว้พิจารณา
คดีสืบเนื่องจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ ที่ อส. ๖๗/๒๕๖๔ หมายเลขแดงที่ อส. ๑๘๘/๒๕๖๖ ระหว่าง สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวกรวม ๑๖ คน ผู้ฟ้องคดี กับ ผู้อำนวยการเขตวัฒนา กับพวกรวม ๕ คน ผู้ถูกฟ้องคดี บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด หรือ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด ผู้ร้องสอด
โดยพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ที่พิพากษาเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา ๓๙ ทวิ ตามแบบ กทม.๖ เลขที่ ๑๘/๒๕๕๘ ลงวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
ใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา ๓๙ ทวิ ตามแบบ กทม.๖ เลขที่ ๖๙/๒๕๕๘ ลงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๘
ใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา ๓๙ ตรี ตามแบบ ยผ.๔ เลขที่ ๔๘/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๙ ฉบับแก้ไข
และใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา ๓๙ ตรี ตามแบบ ยผ.๔ เลขที่ ๑๒๙/๒๕๖๐ ลงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ที่ออกให้แก่ผู้ร้องสอด โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือฉบับดังกล่าว ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ต่อมา ผู้ร้องในฐานะนิติบุคคลอาคารชุดแอชตัน อโศก ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่อ้าง การที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารฯ ตามมาตรา ๓๙ ทวิ และใบรับแจ้งการก่อสร้างอาคารตามมาตรา ๓๙ ตรี ที่ออกให้แก่ผู้ร้องสอดทุกฉบับ
โดยมีผลย้อนหลังจนถึงวันที่ออกหนังสือดังกล่าว ย่อมมีผลกระทบต่อการจดทะเบียนอาคารชุดแอชตัน อโศก หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด และการจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมเกี่ยวกับห้องชุด ทำให้ผู้ร้อง และเจ้าของร่วมไม่สามารถเข้าไปดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลางและทรัพย์สินส่วนบุคคลได้
และในกรณีที่ผู้ร้องสอดไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้โครงการอาคารชุดแอชตัน อโศก มีทางเข้า – ออก ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓) โดยผู้อำนวยการสำนักการโยธา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒) จะต้องมีคำสั่งให้ผู้ร้อง และเจ้าของร่วมระงับการใช้อาคารชุด แอชตัน อโศก
เนื่องจาก การก่อสร้างและเปิดใช้อาคารดังกล่าวไม่เป็นไปตามกฎหมายควบคุมอาคาร ผู้ร้องจึงเป็นบุคคลภายนอก ผู้มีส่วนได้เสียหรืออาจถูกกระทบจากผลคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้
นอกจากนี้ ผู้ร้องและเจ้าของร่วมเชื่อโดยสุจริตว่า การก่อสร้างอาคารดังกล่าวเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และการอนุญาตให้ผู้ร้องสอดใช้ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๓๑๘๙ เลขที่ดิน ๒๑๖๑ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เป็นทางผ่านเข้า – ออกโครงการ แอชตัน อโศก สู่ถนนอโศกมนตรี ไม่ได้เป็นเหตุทำให้การใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนต้องเสียไป และไม่ได้กระทบต่อการให้บริการรถไฟฟ้าและพื้นที่จอดรถบริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสุขุมวิท
และการเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารตามมาตรา ๓๙ ทวิ และใบรับแจ้งการก่อสร้างอาคารตามมาตรา ๓๙ ตรี ที่ออกให้แก่ผู้ร้องสอด หรือรื้อถอนอาคารชุดจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้ร้อง และเจ้าของร่วมในอาคารชุด แอชตัน อโศก อย่างร้ายแรงจนยากแก่การเยียวยา และความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากผลแห่งคำพิพากษาดังกล่าวจะขยายวงกว้างออกไปมากกว่าเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ผู้ฟ้องคดีจะได้รับ
กรณีจึงมีเหตุที่ผู้ร้องจะขอให้พิจารณาคดีใหม่ ตามมาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง (๒) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒
ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของผู้ร้องไว้พิจารณา เนื่องจากผู้ร้องไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียหรืออาจถูกกระทบจากผลแห่งคดีที่จะมีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ได้ตามมาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด
ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งที่ ๓๕๑/๒๕๖๗ วินิจฉัยว่า การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างฯ และใบรับแจ้งการก่อสร้างฯ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออกให้แก่ผู้ร้องสอด ย่อมมีผลในทางกฎหมายเพียงว่า ผู้ร้องสอดก่อสร้างและดัดแปลงอาคารชุด โครงการ แอชตัน อโศก โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นต้องไปพิจารณาดำเนินการตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ ต่อไป
แต่ไม่ได้มีผลเป็นการเพิกถอนการจดทะเบียนอาคารชุด หนังสือกรรมสิทธิ์ในห้องชุด และการจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดของโครงการแอชตัน อโศก แต่อย่างใด
และหากข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาในภายหลังว่า เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ใช้อำนาจดำเนินการตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ กับอาคารโครงการแอชตัน อโศก ก็ไม่เป็นการตัดสิทธิที่ผู้ร้อง และเจ้าของร่วมจะใช้สิทธิทางศาลต่อไป
กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่า คำพิพากษาของศาลปกครองในคดีนี้มีผลกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของผู้ร้องและเจ้าของร่วมอาคารชุด โครงการแอชตัน อโศก ดังนั้น ผู้ร้องจึงไม่ใช่บุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียหรืออาจถูกกระทบจากผลแห่งคดีนี้ในอันที่จะมีสิทธิยื่นคำขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองนั้นใหม่ได้ ตามมาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒
และเมื่อวินิจฉัยแล้วว่าผู้ร้องไม่ใช่บุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียหรืออาจถูกกระทบจากผลแห่งคดีนี้แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า มีเหตุที่ศาลปกครองจะพิจารณาคดีนี้ใหม่ได้ตามมาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง (๑) ถึง (๔) ตามอุทธรณ์ของผู้ร้องหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป คำร้องอุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลางที่ไม่รับคำขอของผู้ร้องไว้พิจารณา
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์