ยอดโอนคอนโดต่างชาติQ1/67มูลค่า1.8หมื่นล้านจีนรั้งแชมป์ชลบุรียืนหนึ่ง
ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯเผยยอดโอนคอนโดต่างชาติQ1/67มูลค่า1.8หมื่นล้านสูงสุดในรอบ6ปีจีนรั้งแชมป์ มีสัดส่วน43.8%ตามเมียนมารัสเซียจังหวัดชลบุรียืนหนึ่งหน่วยโอนสูงสุด ตามด้วยกทม.แต่มูลค่าโอนสูงกว่าชลบุรี
วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยถึงสถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ชาวต่างชาติทั่วประเทศในไตรมาส 1 ปี 2567 พบว่า มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ชาวต่างชาติ 3,938 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 และมีมูลค่ารวมของการโอนกรรมสิทธิ์ 18,013 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 โดยเป็นพื้นที่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ชาวต่างชาติทั่วประเทศจำนวน 173,007 ตารางเมตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ในไตรมาสนี้ สัดส่วนหน่วยและมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ชาวต่างชาติต่อการโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศขยับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 16.7 จาก 15.9 และ ร้อยละ 28.6 จาก 24.3 ตามลำดับ ในด้านของพื้นที่ห้องชุดที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ให้ชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 21.1 จาก 19.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นไตรมาสที่มีสัดส่วนที่สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2561
จังหวัดที่มีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติมากสุด 5 อันดับ ประกอบด้วย อันดับ 1 คือ ชลบุรี จำนวน 1,521 หน่วย โดยมีสัดส่วนร้อยละ 38.6 มูลค่า 4,165 ล้านบาท ขณะที่อันดับ 2 คือ กรุงเทพมหานคร 1,498 หน่วย โดยมีสัดส่วนร้อยละ 38.0 มูลค่า 10,699 ล้านบาท
ซึ่งทั้ง 2 จังหวัดมีสัดส่วนจำนวนหน่วยและมูลค่ารวมกันสูงถึงร้อยละ 76.6 และ 82.5 ตามลำดับทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า แม้ชลบุรีได้มีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์เป็นอันดับ 1 ตั้งแต่ปี 2566 แทนที่กรุงเทพมหานครเคยเป็นอันดับ 1 ในปีก่อนหน้าถึงปี 2565 แต่กรุงเทพมหานครก็ยังคงเป็นจังหวัดที่มีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติสูงที่สุดมาโดยตลอด
ขณะที่เชียงใหม่มีจำนวนเพียง 249 หน่วย มูลค่า 574 ล้านบาท จังหวัดภูเก็ต มีจำนวน 242 หน่วย มูลค่า 1,353 ล้านบาท และจังหวัดสมุทรปราการ มีจำนวน 140 หน่วย มูลค่า 392 ล้านบาท ข้อมูลที่กล่าวมานี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจของชาวต่างชาติในการซื้อห้องชุดในเมืองหลักและเมืองท่องเที่ยวในประเทศไทยมากที่สุด
สัญชาติของกลุ่มผู้ที่รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดสูงสุด 3 สัญชาติในไตรมาส 1 ปี 2567 ประกอบด้วย อันดับ 1 คือ ชาวจีน ที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ 1,596 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43.8 มูลค่า 7,570 ล้านบาท อันดับ 2 คือ ชาวพม่า จำนวน 392 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.0 มูลค่า 2,207 ล้านบาท และ อันดับ 3 คือ ชาวรัสเซีย จำนวน 295 หน่วย และมีสัดส่วนร้อยละ 7.5 มูลค่า 924 ล้านบาท
ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า ชาวเมียนมาเป็นสัญชาติที่มีจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากถึงร้อยละ 415.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยขยับลำดับขึ้นอย่างรวดเร็ว จากลำดับที่ 25 ในปี 2564 เป็นลำดับที่ 6 ในปี 2565 และ เป็นลำดับที่ 4 ในปี 2566 โดยล่าสุดขึ้นมาเป็นลำดับ 2 ในไตรมาส 1 ปี 2567