เฟรเซอร์สฯรับโอกาสทุนนอกย้ายฐาน ทุ่ม2.5หมื่นล.ลงทุนโรงงาน-คลังสินค้า
กระแสการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI : Foreign Direct Investment) ในอาเซียนเพิ่มสูงหลังความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ขยายตัว ส่งผลให้ดีมานด์ภาคการผลิตในประเทศเพิ่ม เป็น “โอกาส” ของ “โรงงาน-คลังสินค้า” โดยเฉพาะซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องรถยนต์ไฟฟ้า อีเล็กทรอนิกส์
พีระพัฒน์ ศรีสุคนธ์ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2566 ธุรกิจโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าเติบโตและมีดีมานด์ต่อเนื่อง ปัจจัยหลักมาจากการขยายตัวของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ส่งผลให้กลุ่มทุนในประเทศต่างๆ ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศในอาเซียน ถือเป็นโอกาสของไทยในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า จากประเทศจีน และตามมาด้วยซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง
ปี 2566 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ มีมูลค่า 1,364 ล้านดอลลาร์ เป็นการลงทุนในอาเซียน 15.3% จากมูลค่าลงทุนทั้งหมด ถือเป็นปัจจัยบวก มีผลต่อการกระตุ้นจีดีพี
“หลังโควิด-19 หลายคนกังวลว่าเศรษฐกิจจะถดถอย เชื่อว่าเราพ้นจุดนั้นมาแล้ว แต่เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าค่ากลางของจีดีพีโลกเป็นเรื่องที่น่ากังวล”
แนวโน้มดังกล่าวบริษัทมุ่งสร้างธุรกิจให้แข็งแกร่งทั้งในไทยและระดับภูมิภาค ตอกย้ำความเป็นผู้นำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมในไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม โดยวางแผนลงทุน 25,000 ล้านบาท ขยายพื้นที่ภายใต้การบริหารจัดการเพิ่มเป็น 5 ล้านตร.ม.ภายใน 5 ปี (2568-2572) เป็นการลงทุนในไทยปีละ 3,000 ล้านบาท ต่างประเทศปีละ 2,000 ล้านบาท
ปัจจุบันอัตราการเช่าโรงงานและคลังสินค้าของเฟรเซอร์สฯ ในอินโดนีเซียสูงถึง 100% เวียดนาม 90% และไทย 86% สะท้อนให้เห็นถึงดีมานด์ของกลุ่มทุนที่เข้ามาลงทุนในอาเซียนเพิ่มขึ้น ซึ่งแต่ละประเทศมีจุดขายแตกต่างกันในการดึงนักลงทุนเข้าประเทศ
สำหรับประเทศไทย มีจุดแข็งการเป็นศูนย์กลางยานยนต์ รถยนต์ไฟฟ้า ฮาร์ดดิส อัตโนมัติ ซึ่งมีพื้นที่รองรับการพัฒนาสูงสุด 5 ล้านตร.ม. ส่วนเวียดนาม โดดเด่นในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า สมาร์ตโฟน มีพื้นที่รองรับการพัฒนาสูงสุด 2 แสน ตร.ม. และอินโดนีเซีย โดดเด่นเรื่องเหมืองแร่ เกษตรกรรม และเครื่องนุ่งห่ม มีพื้นที่รองรับการพัฒนาสูงสุด 1 แสน ตร.ม.
ทั้งนี้วางเป้าหมาย 5 ปี หรือ ภายในปี 2572 เพิ่มพื้นที่ให้เช่า 5 ล้านตร.ม. จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.5 ล้านตร.ม. รายได้จากค่าเช่า 7,500 ล้านบาทต่อปี จากปัจจุบัน 6,000 ล้านบาทต่อปี มีอัตราการเช่าเฉลี่ย 85-90% และเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินถึง 1 แสนล้านบาท จาก 80,000 ล้านบาท ในปัจจุบัน
ในครึ่งปีแรกของปีงบการเงิน 2567 (ต.ค 2566-มี.ค.2567) บริษัทส่งมอบพื้นที่ให้ลูกค้าราว 50,000 ตร.ม. เป็นอาคารคลังสินค้าแบบ Built-to-Suit และ Built-to-Function รวมถึงโครงการ AEI ที่เข้าไปยกระดับและพัฒนาอาคารเพิ่มเติมให้ลูกค้า และมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเตรียมส่งมอบในครึ่งปีหลัง (เม.ย.-ก.ย.2567) ทั้ง Last Mile Warehouse พื้นที่ 21,000 ตร.ม. ทำเลปู่เจ้าสมิงพราย จ.สมุทรปราการ รองรับ City Logistics และโรงงานพื้นที่ 65,000 ตร.ม. สำหรับลูกค้าธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ในบินห์เดือง โลจิสติกส์ พาร์ค ประเทศเวียดนาม ทั้งหมดนี้ทำให้มีพื้นที่ภายใต้การบริหารจัดการเพิ่มเป็น 3.6 ล้านตร.ม.