เปิด7ข้อเสนอนายกสมาคมคอนโดเกณฑ์พิจารณาEIAให้มีมาตรฐานลดดุลพินิจ

เปิด7ข้อเสนอนายกสมาคมคอนโดเกณฑ์พิจารณาEIAให้มีมาตรฐานลดดุลพินิจ

เปิด7ข้อเสนอนายกสมาคมคอนโดถึงเกณฑ์พิจารณาEIAให้มีมาตรฐานลดดุลพินิจ หวังลดความเสี่ยงและต้นทุนที่เกิดจาก รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA รวมทั้งปรากฏการณ์นักร้อง(เรียน)ศาลปกครองที่อาจเกิดขึ้น

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนจาก3 สมาคมอสังหาฯ สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย มองปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ใช้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.)ในการพิจารณาเป็น"จุดอ่อน" ในการใช้"ดุลพินิจ" จึงมีข้อเสนอแนวทางการปฏิบัติในการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)ให้มี Code of Conductด้านโครงสร้างและมาตรฐาน มีเกณฑ์มาตรฐานที่ชัดเจนแน่นอนเพื่อลดการใช้ดุลพินิจเหลือ15%

 " ไม่ควรเปลี่ยนข้อพิจารณาเป็นครั้งคราวตาม ความเห็นแต่ละชุดของคชก. และมีหลักเกณฑ์ชัดเจนสำหรับการมีความเห็นเพิ่มเติมในระหว่างการประชุมแต่ละครั้ง เพื่อความชัดเจนในการปฏิบัติตามภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในมิติใหม่ที่เข้ามาตลอดเวลา"

ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีระบบฐานข้อมูล (Knowledge Base) ที่มีความพร้อมพอที่พัฒนาไปสู่ หลักปฏิบัติงาน Code of Conduct เพื่อให้มีเกณฑ์มาตรฐานที่ชัดเจนและมีการทบทวนทุกๆ2ปีเพื่อให้เหมาะกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป หรือหากมีข้อกฏหมาย ประเด็นทางสังคมเร่งด่วนสามารถปรับเปลี่ยนได้

โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนส่วนแรกเป็นอาคารที่มีขนาดมากกว่า 10,000 ตร.ม. จะเป็น FULL Code of Conduct และส่วนที่สองเป็นอาคารที่มีพื้นที่น้อยกว่า10,000 ตร.ม. เป็น MINI Code of Conduct เพื่อลดภาระงานของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.)
                 

 ขณะเดียวกันต้องกำหนดกรอบระยะเวลากระบวนการแต่ละขั้นตอนของการพิจารณา รวมถึงขั้นตอนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างชัดเจน ว่ามีขั้นตอนปลีกย่อยใดบ้าง แต่ละขั้นตอนใช้เวลาพิจารณาหรือดำเนินการเท่าใด ต้องเว้นระยะห่างกี่วัน เจ้าของที่ดินสามารถดำเนินการใดได้หรือไม่ได้ในช่วงเวลาใด

นอกจากนี้ควรมีการแบ่งหมวดหมู่ (EIA  Category) เพื่อความชัดเจนในการพิจารณา เช่น 1. สภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ
2. ธรณีวิทยา ทรัพยากรดิน และ ทรัพยากรน้ำ 3. ทรัพยากรชีวภาพ บนบก และ ในน้ำ 4. การใช้น้ำ การจัดการน้ำเสีย และ การป้องกันน้ำท่วม5. การจัดการขยะมูลฝอย 6. การใช้พลังงานและไฟฟ้า 7. เสียง ความสั่นสะเทือน และคุณภาพอากาศ8. การจราจร9. การใช้ประโยชน์ที่ดิน10. การป้องกันอัคคีภัย และ ภัยธรรมชาติ11. สังคม และ เศรษฐกิจ12. การมีส่วนร่วมของประชาชน13. สุนทรียภาพ ทัศนียภาพ 14. ผลกระทบการบดบังแดดและทิศทางลม

 ในกรณีที่กฎระเบียบมีข้อขัดแย้งกัน ควรกำหนดเกณฑ์การพิจารณาว่า หลักเกณฑ์ตามข้อใดเหนือว่าหลักเกณฑ์ใด เช่น ที่จอดรถกระเช้าดับเพลิง ขนาด 8x16 เมตร ไม่มีข้อกำหนดในกฎหมายควบคุมอาคาร แต่หลักเกณฑ์พิจารณา EIA บังคับให้ต้องจัดเตรียม ซึ่งไม่มีหลักเกณฑ์การจัดพื้นที่ที่ชัดเจน

หรือ ในระหว่างการจัดทำ EIA มีการขออนุญาตก่อสร้างสำนักงานขายจากหน่วยงานอนุญาต สามารถก่อสร้างได้ ตาม พรบ.ควบคุมอาคารแล้ว แต่ตามข้อการพิจารณา EIA ไม่สามารถก่อสร้างสำนักงานขายในช่วงการจัดทำ EIA ได้  หรือที่จอดรถ EV ตามกฎหมายควบคุมอาคาร ให้สามารถนับรวมกับที่จอดรถที่ต้องการตามกฎหมายได้ แต่หลักเกณฑ์พิจารณา EIA ไม่ให้นับรวม เป็นต้น 

นายประเสริฐ  ระบุว่า ข้อเสนอแนวทางการปฏิบัติในการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) หลักจะมีด้วยกันทั้งสิ้น7 ข้อ ได้แก่ 

1. การประเมินผลกระทบในแต่ละหัวข้อควรมีมาตรการระบุที่ชัดเจนเป็นมาตรฐานแน่นอน 

2. กรรมการผู้พิจารณารายงานที่ได้รับการแต่งตั้งตามความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ควรพิจารณาเฉพาะด้านที่เชี่ยวชาญของตนเอง 
เพื่อประสิทธิผลสูงสุดในประเด็นของด้านนั้นๆ

3. การปรับปรุงแบบสอบถามทางด้านสังคมให้กระชับแต่ครอบคลุม เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องผู้อาจได้รับผลกระทบสามารถแสดงความคิดเห็น
ผ่านแบบสอบถามได้โดยสะดวกอย่างมีประสิทธิภาพเป็นวงกว้าง

4. การลดจำนวนเอกสารนำส่งฉบับจริง โดยเพิ่มการนำส่งไฟล์อิเล็กทรอนิคส์ เพื่อสะดวกกับคชก.ในการจัดเก็บ และร่วมกันอนุรักษ์
สิ่งแวดล้อม

5. การมีระเบียบการชัดเจนกรณีเจ้าของที่ดินข้างเคียงไม่ให้ความร่วมมือเพื่อรักษาสิทธิประชาชนทุกคนโดยเสมอภาคในการใช้ประโยชน์ที่ดินของตนเองตามกฎหมาย ไม่เกิดการรอนสิทธิของประชาชน

6. การพิจารณาให้กำหนดมาตรการที่สามารถปฏิบัติได้จริงและมีประสิทธิภาพเป็นปัจจุบันเพื่อสอดคล้องกับสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน

7. เกณฑ์การพิจารณาพื้นที่สีเขียวภายในอาคารนอกเหนือจากพื้นที่ภายนอก เพื่อสอดคล้องกับการดำรงชีวิตจริงใ นปัจจุบันของประชาชนผู้อาศัยภายในอาคาร