จับตา ‘Perfect Storm' อสังหาฯ ระลอกใหม่สั่นคลอนความเชื่อมั่น หวั่นฉุดตลาดซบ
จับตา‘Perfect Storm' อสังหาฯ ระลอกใหม่ สั่นคลอนความเชื่อมั่น หลังเผชิญสึนามิในไตรมาสแรก ตัวเลขติดลบยกแผง! จนถึงไตรมาส 2 ยอดขาย ยอดโอน การเปิดตัวใหม่ยังคง “ลดลง” ต่อเนื่อง แถมยังมี “พายุไต้ฝุ่น” จากปัจจัยทางการเมืองเข้ามาซ้ำเติม หวั่นฉุดตลาดซบ!
KEY
POINTS
- ภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยกำลังเผชิญ “Perfect Storm" ลูกใหม่! ในช่วงครึ่งหลังปี 2567 จากการเมืองร้อน
- เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนผู้นำใหม่ “แพทองธาร ชินวัตร” นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 รับไม้ต่อจาก “เศรษฐา ทวีสิน”
- แม้จะเป็นขั้วเดิมแต่สถานการณ์ยังไม่นิ่ง ส่งผลต่อความมั่นใจของภาคเอกชนรวมถึงประชาชน
- ขณะที่ เครื่องยนต์เศรษฐกิจอย่าง “อสังหาริมทรัพย์” ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นเพราะ “ติดกับดัก” หนี้ครัวเรือนสูง มีผลต่อกำลังซื้อ รวมทั้งตัวเลขการถูกปฏิเสธสินเชื่อสูงถึง 70%
- ทำให้ไตรมาสแรก ปี 2567 ตัวเลขติดลบยกแผง! ทั้งตัวเลขเปิดตัวใหม่ ยอดขาย การโอน
ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยเสมือนเผชิญกับมหาพายุ หรือ “Perfect Storm” อีกระลอกหลัง “สึนามิ”
โดยไตรมาสแรกที่ผ่านมา ยอดขายบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทเทียบ YoY ติดลบ 49% ราคา 3-5 ล้านบาท ติดลบ 47% ราคา 5-7 ล้านบาท ติดลบ 14% ราคา 7-10 ล้านบาท ติดลบ 19% ราคา 10-20 ล้านบาท ติดลบ 2% ราคา 20-50 ล้านบาท ติดลบ 1% ราคา 50 ล้านบาท ขึ้นไป เติบโต 29% จนถึงไตรมาส 2 ยอดขาย ยอดโอน การเปิดตัวใหม่ยังคง “ลดลง” ต่อเนื่อง แถมยังมี “พายุไต้ฝุ่น” จากปัจจัยทางการเมืองเข้ามาอีก
ดังนั้น แนวทางของภาคเอกชนในการรับมือกับสถานการณ์เวลานี้ อันดับแรก คือ “Wait & See” รอดูความชัดเจน! ถือเป็นกลยุทธ์ที่มักนำมาใช้ในช่วงที่ตลาดขาดความเชื่อมั่น ไม่มีทิศทางที่ชัดเจนใน 1-2 เดือนนี้ ให้ทุกอย่างนิ่งก่อนที่จะเดินหน้าลงทุน อันดับสอง รักษา “สภาพคล่องทางการเงิน” (Liquidity) ด้วยการแปลงสินทรัพย์กลับเป็น “เงินสด” ทำให้มีสภาพคล่องสูง หรือ แบ็คล็อก (Backlog) เพื่อผ่านมรสุมครั้งนี้ไปให้ได้โดยไม่ต้องไปเสี่ยง ยกตัวอย่าง อนันดาฯ ปิดดีลขายหุ้นบริษัทย่อยเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ 5 แห่ง ให้มิตซุย ฟุโดซัง มูลค่า 2,540 ล้านบาท เพื่อเงินทุนหมุนเวียน และลงทุน
“ช่วงนี้ต้องดูทิศทางลมของ Perfect Storm ลูกนี้ก่อนว่าจะกวาดอะไรไปแค่ไหน ในไตรมาส 3 ยังคงยากลำบาก เพราะความเชื่อมั่นหาย แต่เราก็ยังมีความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีความพร้อมก้าวต่อไปข้างหน้า เพราะ 60-70% ของประเทศยังถูกขับเคลื่อนด้วยภาคราชการแม้จะช้าหน่อย”
ทางด้าน โอฬาร จันทร์ภู่ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวว่า ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านในครึ่งปีแรก 2567 “ชะลอตัว” มียอดเซ็นสัญญาสั่งสร้างบ้าน ลดลง 15% ในทุกระดับราคาบ้าน มูลค่ารวมอยู่ที่ 4,505 ล้านบาท เทียบครึ่งแรกปี 2566 ที่มียอดเซ็นสัญญาสั่งสร้างบ้าน มูลค่ารวม 5,300 ล้านบาท
“สะท้อนถึงสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย ถือเป็นความท้าทายในการทำธุรกิจท่ามกลางภาวะผันผวน หนี้ครัวเรือนสูงถึง 91% ของจีดีพี ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ช่วง 7 เดือนแรกที่ผ่านมาลดลง จีดีพีไทยไตรมาส 2 ขยายตัวเพียง 2.3% เท่านั้น ซึ่งโตน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน”
จากตัวเลขหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง นำไปสู่ภาวะ “ชะลอการตัดสินใจสร้างบ้าน” ออกไปแบบไม่มีกำหนด!
อย่างไรก็ตาม จากสถิติข้อมูลที่ผ่านมาของตลาดรับสร้างบ้าน พบว่าในครึ่งหลังของทุกปีจะเป็นช่วงไฮซีซันของตลาดรับสร้างบ้าน จึงเป็นโอกาสที่ดีในการเร่งทำการตลาดและกระตุ้นการตัดสินใจผู้บริโภคให้ “สั่งสร้างบ้าน” เร็วขึ้น เพราะนอกจากได้รับทั้งส่วนลดที่บริษัทรับสร้างบ้านนำเสนอราคาพิเศษแล้ว ยังได้รับสินเชื่อสร้างบ้านอัตราดอกเบี้ยลดเพิ่ม รวมทั้งข้อเสนอพิเศษในงานรับสร้างบ้านและวัสดุ Expo 2024 ระหว่างวันที่ 18-22 ก.ย.67ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี
สำหรับแนวโน้มตลาดรับสร้างบ้านในครึ่งปีหลัง 2567 เชื่อมั่นว่าปัจจัยบวกจากโปรโมชันของผู้ประกอบการ มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ สร้างบ้านลดหย่อนภาษี “ล้านละหมื่น” ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้าน มูลค่า 1 ล้านบาท หักลดหย่อน 10,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท โดยเซ็นสัญญาและเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ 9 เม.ย.2567 ถึง 31 ธ.ค.2568 จะกระตุ้นผู้บริโภคและผู้ที่กำลังวางแผนสร้างบ้านตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
สมาคมฯ ตั้งเป้ายอดเซ็นสัญญาจองสร้างบ้าน 5 วันของการจัดงานมูลค่า 4,500 ล้านบาท มีผู้เข้าชมงาน 15,000 คน ส่งผลให้ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านสิ้นปี 2567 มีมูลค่ารวม 12,000 ล้านบาท เป็นสัดส่วนตลาดกรุงเทพฯ และปริมณฑล 65% ต่างจังหวัด 35%
“เราคงรอดูว่า นโยบายของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่ที่จะออกมานั้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุม จะเป็นอย่างไร ในส่วนภาคเอกชนต้องปรับตัวและวางแผนให้สอดรับสถานการณ์นั้นๆ ล่าสุดได้คุยกับสมาชิกในสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านร่วมกันจัดกิจกรรมใหญ่เดือนก.ย. เพื่อกระตุ้นยอดขายของสมาชิกทั่วประเทศให้สามารถฝ่าความท้าทายนี้ไปได้”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์