ลุ้นผังเมืองใหม่!กทม.ประกาศใช้ พ.ย.68 รับพลวัตเมืองเปลี่ยนเพิ่มศักยภาพ

ลุ้นผังเมืองใหม่!กทม.ประกาศใช้ พ.ย.68  รับพลวัตเมืองเปลี่ยนเพิ่มศักยภาพ

ลุ้นผังเมืองใหม่ กทม.ประกาศใช้ พ.ย.68 รับพลวัตเมืองเปลี่ยน-เสริมศักยภาพพัฒนาพื้นที่ หลังผ่านผ่านทั้งการรับฟังความเห็นประชาชน หน่วยงานหรือองค์การที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน

KEY

POINTS

  • ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปี พ.ศ.2556 ปัจจุบันยังคงมีผลบังคับใช้อยู่
  • แม้ว่าโดยทั่วไปแล้ว “ผังเมือง” จะมีอายุการใช้งาน 5 ปี แต่สามารถต่ออายุการใช้งานได้
  • เท่ากับว่าผังเมืองกรุงเทพมหานครที่มีผลบังคับใช้อยู่ปัจจุบันนั้น ได้ใช้กันมายาวนานกว่า 10 ปีแล้ว เพราะผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ยังไม่มีการประกาศใช้ 
  • ปัจจุบันมีการแก้ไข เปลี่ยนแปลง และได้รับการสรุปออกมาเป็นร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) และใช้ฉบับนี้ในการพิจารณาแนวทางการเปลี่ยนแปลงในอนาคต 

สุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด กล่าวว่า ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) นี้ ดำเนินการร่วมกันทั้งสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาตลอดตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ซึ่งขั้นตอนในการดำเนินการได้ผ่านทั้งการรับฟังความเห็นประชาชน หน่วยงานหรือองค์การที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ผังเมืองที่มีความทันสมัย และรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร รวมไปถึงมีความต่อเนื่อง และเชื่อมโยงกับจังหวัดปริมณฑลโดยรอบ รวมไปถึงรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตด้วย

“ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟฟ้า ถนน สะพาน รวมไปถึงโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการซึ่งมีผลต่อการพัฒนาและศักยภาพของพื้นที่หรือทำเล ดังนั้น ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครที่จะประกาศใหม่จึงควรออกมาเพื่อส่งเสริมศักยภาพของทำเลหรือพื้นที่ต่างๆ ไม่ใช่ออกมาเพื่อเพิ่มข้อจำกัดในการพัฒนาในอนาคต”
 

รับฟังความเห็น 7 ครั้ง

ทั้งนี้ ช่วงระหว่างวันที่ 23 ธ.ค.2566 ถึงวันที่ 6 ม.ค.2567 มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชนโดยการจัดประชุมจะกระจายออกไปทั่วกรุงเทพมหานคร โดยจะเป็นการนำเอาพื้นที่ของแต่ละส่วนไปพูดคุยและรับฟังความคิดเห็นถึงพื้นที่นั้นๆ กับคนในพื้นที่โดยตรงรวม 6 ครั้ง โดยครั้งที่ 7 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายจัดที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง ซึ่งเป็นการพูดคุยทั้ง 50 เขตของกรุงเทพมหานคร

จากนั้นจะเปิดให้ประชาชน ผู้มีส่วนได้เสียสามารถยื่นหนังสือแสดงความคิดเห็นเพื่อให้มีผลเกี่ยวกับสิทธิในการยื่นคำร้องขอให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ตามมาตรา 30 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2562 โดยการเปิดรับฟังความคิดเห็นอยู่ในช่วงวันที่ 23 ธ.ค.2566 ถึงวันที่ 27 ก.พ.2567 จากนั้น วันที่ 28 ก.พ.2567 กรุงเทพมหานคร ออกประกาศขยายระยะเวลาออกไปจากกำหนดเดิมถึงวันที่ 30 ส.ค.2567 หรือขยายระยะเวลาออกมาจากกำหนดเดิมถึง 6 เดือน เพื่อให้การรับฟังความคิดเห็นครอบคลุม และเข้าถึงคนในกรุงเทพมหานครมากขึ้น
 

“ปัจจุบันเพิ่งผ่านช่วงรับฟังความคิดเห็นหรือรับข้อร้องเรียนจากผู้มีส่วนได้เสียในร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ซึ่งไม่มีการเปิดเผยออกมาว่ามีจำนวนมากน้อยแค่ไหน และเรื่องที่ร้องเรียนมีผลต่อร่างผังเมืองรวมแค่ไหน ดังนั้น อาจต้องรอดูว่ากรุงเทพมหานคร และสำนักการวางผังและพัฒนาเมืองจะมีการตอบรับหรือมีการเปลี่ยนแปลงต่อร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ที่เผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้หรือไม่”

รอพิจารณา แก้ไข เปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ จากกำหนดการณ์เดิมของกรุงเทพมหานครที่ประกาศออกมาตั้งแต่ต้นปี 2567 ตั้งแต่เดือน ต.ค.2567 เป็นต้นไป จะเป็นช่วงการรวบรวมคำร้องและจัดทำความเห็นประกอบคำร้องเพื่อให้คณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวม คณะกรรมการผังเมืองจังหวัด กรมโยธาธิการและผังเมืองพิจารณาเรื่องข้อเรียกร้องต่างๆ ซึ่งขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการชุดต่างๆ นั้นไม่สามารถกำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนได้

จากนั้น ปลายไตรมาสแรก ปี 2568 คณะกรรมการผังเมืองจังหวัดจะพิจารณาและแจ้งกลับไปยังผู้ที่ยื่นคำร้องทราบถึงการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงใดๆ (ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง) หลังจากนั้น จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการแก้ไขร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการผังเมืองจังหวัด 

จากนั้นจะเป็นช่วงของการออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครให้ใช้บังคับผังเมืองรวมซึ่งตามกำหนดเดิมอยู่ในช่วงเดือน พ.ค.-ต.ค.2568 และ เดือน พ.ย.2568 จึงจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ต่อไป

สำหรับ ไทม์ไลน์ของผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ยังเหลือขั้นตอนในการพิจารณา แก้ไข เปลี่ยนแปลงอีกพอสมควร และตามกำหนดการณ์เดิม ก็ต้องรอถึงเดือน พ.ย.2568 จึงจะประกาศบังคับใช้ แต่เมื่อมีการขยายระยะเวลาในการยื่นคำร้องของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ออกไปจากกำหนดการณ์เดิมถึง 6 เดือน 

ดังนั้น กำหนดการณ์เดิมที่จะประกาศบังคับใช้ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครในเดือน พ.ย.2568 ก็อาจจะเลื่อนออกไปอีกก็เป็นไปได้ ซึ่งความชัดเจนก็ต้องรอประกาศจากทางกรุงเทพมหานครว่าจะมีการบังคับใช้เมื่อไหร่