มองเมืองต่างมุม : Gentrification แปลงพื้นที่เพื่อเปลี่ยนชนชั้น (ย่านผู้ดี)

มองเมืองต่างมุม : Gentrification แปลงพื้นที่เพื่อเปลี่ยนชนชั้น (ย่านผู้ดี)

Gentrification การแปลงพื้นที่เพื่อเปลี่ยนชนชั้น เป็นคำที่ถูกแปลโดยราชบัณฑิตยสภา แต่เชื่อว่าอาจไม่คุ้นหูกันมากนัก มีหลายคนพยายามแปลให้เข้าใจง่าย แต่ที่น่าจะใกล้เคียงที่สุดก็คือ “การทำให้เมืองเป็นย่านผู้ดี” ที่แปลโดยบุญเลิศ วิเศษปรีชา

KEY

POINTS

  • หมายเหตุ.... Key point จากกองบรรณาธิการ
  • Gentrification หรือ การแปลงพื้นที่เพื่อเปลี่ยนชนชั้น หรือ การทำให้เมืองเป็นย่านผู้ดี เป็นปรากฏการณ์ที่ทางอาณาบริเวณศาสตร์
  • Gentrification เกิดอยู่แทบทุกประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะมหานครใหญ่ แม้แต่ บ่อนไก่ ก็กำลังเจอกับปรากฏการณ์นี้แบบสุดโต่งด้วยโครงการขนาดใหญ่อย่างเดอะวัน ที่มาทดแทนโรงเรียนเตรียมทหารในอดีต
  • มหาวิทยาลัยเท็กซัสได้เสนอแนวทางสำหรับท้องถิ่นในกระบวนการ Gentrification อย่างยั่งยืน 4 ข้อ ไว้อย่างน่าสนใจ

เมื่อเดือนที่ผ่านมา หนึ่งในผู้เขียนได้เดินทางนำคณะผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 50 แห่งของไทย ไปเข้าร่วมรับฟังการบรรยายพิเศษของมหาวิทยาลัยฮันกุก กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

ขณะกำลังไปสนามบินเพื่อเดินทางกลับ คณะได้ผ่านย่านบุคชอนซึ่งใครที่เป็นแฟนภาพยนตร์เรื่อง กวน มึน โฮ คงพอจะคุ้น ๆ เพราะเป็นฉากในการถ่ายทำ ย่านนี้เต็มไปด้วยบ้านเก่าแก่ท่ามกลางตึกสูงระฟ้าใจกลางกรุงโซล

ที่ดินบริเวณนี้จัดว่ามีมูลค่าสูงอันดับต้นของเกาหลีใต้ก็ว่าได้ บ้านส่วนใหญ่เป็นของคนมีฐานะที่น่าจะซื้อมาจากเจ้าของเดิม ภายนอกยังคงรักษารูปแบบสถาปัตยกรรมโบราณยุคโชซอนไว้ แต่ภายในปรับปรุงใหม่โมเดิร์นหรูหรา ในขณะที่บางหลังถึงแม้ดูเผิน ๆ จากภายนอกอาจไม่ต่างกันมาก

ย่านบุคชอน กรุงโซล

ย่านบุคชอน กรุงโซล

แต่ถ้าเข้าไปดูใกล้ ๆ จะดูทรุดโทรม บ้างก็เป็นบ้านร้าง ซึ่งเจ้าของเดิมน่าจะย้ายออกไปด้วยค่าครองชีพที่สูงลิบของโซล หรือที่มีคนอยู่ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้สูงอายุ สภาพความเป็นอยู่ด้านในแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับบ้านกลุ่มแรก

สิ่งนี้ คือปรากฏการณ์ที่ทางอาณาบริเวณศาสตร์เรียกว่า การแปลงพื้นที่เพื่อเปลี่ยนชนชั้น หรือ Gentrification

 

การแปลงพื้นที่เพื่อเปลี่ยนชนชั้น เป็นคำที่ถูกแปลโดยราชบัณฑิตยสภา แต่เชื่อว่าอาจไม่คุ้นหูกันมากนัก โดยมีหลายคนพยายามแปลเป็นภาษาไทยให้เข้าใจง่าย แต่ที่น่าจะใกล้เคียงที่สุดก็คือ “การทำให้เมืองเป็นย่านผู้ดี” ที่แปลโดยบุญเลิศ วิเศษปรีชา

อย่างไรก็ตาม Gentrification มีความหมายที่กว้างกว่านั้นอยู่บ้าง จึงขอใช้การทับศัพท์ภาษาอังกฤษในการกล่าวถึงเรื่องนี้

ปรากฏการณ์ Gentrification ไม่ได้เกิดขึ้นที่โซลหรือเกาหลีใต้ที่เดียว แต่เกิดอยู่แทบทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะมหานครใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นนิวยอร์ก ที่ลำพังเพียงในย่านแมนแฮตตัน บรุกลิน และควีนส์ มีบริเวณที่เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 300 แห่ง

มองเมืองต่างมุม : Gentrification แปลงพื้นที่เพื่อเปลี่ยนชนชั้น (ย่านผู้ดี)

ย่านโรงไฟฟ้าแบตเทิลซี ในลอนดอน ในอดีตเทียบกับปัจจุบัน

 

ข้ามฝั่งมาที่ยุโรป ลอนดอนก็เกิด Gentrification ตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 1950 และเกิดอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตลอดริมแม่น้ำเทมส์ฝั่งใต้ ไม่ว่าจะเป็นย่านแบตเทิลซี

เมื่อเร็วๆนี้ สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร ประจำประเทศไทยได้โพสต์ในเพจถึงโรงการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวอย่างภาคภูมิใจ แบตเทิลซีนั้น แต่เดิมเป็นชื่อของโรงไฟฟ้าถ่านหินแบตเทิลซีในช่วง ค.ศ. 1930-1975 ซึ่งเป็นยุคของการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเป็นหลัก

แต่ด้วยมลพิษที่ออกมาจากกระบวนการผลิต ประชากรที่อาศัยในบริเวณนั้นจะเป็นกลุ่มคนงานของโรงไฟฟ้าและผู้มีรายได้ต่ำ จัดเป็นย่านเสื่อมโทรมของลอนดอนก็ว่าได้ จนกระทั่งเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าถูกแทนที่ด้วยวิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า โรงไฟฟ้าดังกล่าวจึงปิดตัวลง

ประกอบกับการขยายตัวของมหานครลอนดอน ทำให้ย่านแบตเทิลซีถูกยกระดับขึ้นเรื่อย ๆ จากการย้ายเข้ามาของคนมีรายได้ปานกลางค่อนสูง ทำให้ร้านรวงต่าง ๆ จากเดิมเป็นร้านของชำ หรือร้านอาหารเล็ก ๆ ถูกแทนที่ด้วยร้านสะดวกซื้อรายใหญ่หรือภัตตาคารหรู เพื่อรองรับความต้องการของผู้อาศัย

Gentrification ของย่านแบตเทิลซี มาสู่จุดสูงสุดเมื่อสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ณ กรุงลอนดอน ย้ายที่ทำการจากใจกลางเมือง มาตั้งอยู่ห่างจากย่านดังกล่าวเพียง 500 เมตร

บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่จึงไม่รอช้าที่จะทำสัญญาเช่าพื้นที่โรงไฟฟ้าระยะยาวและสร้างเมกะโปรเจกที่ประกอบด้วยคอนโดมีเนียมระดับโรงแรม 5 ดาว ร้านอาหารระดับมิชลิน รวมทั้งอาคารสำนักงานให้เช่า อันเป็นที่ตั้งของบริษัทชั้นนำหลายแห่ง อย่าง Apple

จนกลบภาพย่านเสื่อมโทรมไปอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นย่านหรูอันดับต้น ๆ ของลอนดอน ราคาห้องพัก 2 ห้องนอนที่เมื่อสิบกว่าปีก่อนใช้เงินไม่ถึง 100,000 ปอนด์ (ไม่เกิน 5 ล้านบาท) ก็สามารถหาซื้อได้ แต่ปัจจุบัน มีงบ 1 ล้านปอนด์ (ราว 45 ล้านบาท) ยังหาซื้อได้ยาก

ปรากฏการณ์เดียวกันนี้กำลังเกิดขึ้นในย่านวูลลิชราวกับเดจาวู เพราะอดีตป้อมปืนใหญ่ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเทมส์ ห่างออกไปจากใจกลางลอนดอนหลายสิบกิโลแห่งนี้ เคยเป็นย่านเสื่อมโทรมที่เต็มไปด้วยอาชญากรรมและยาเสพติด กำลังจะเปลี่ยนไปเป็นย่านไฮโซด้วยโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่เริ่มขึ้นจากผลพวงของรถไฟฟ้าสายใหม่

สำหรับประเทศไทยเองก็หนีไม่พ้นการเกิดขึ้นของ Gentrification ตั้งแต่ในอดีตย่านบางลำพูและถนนข้าวสาร เรื่อยมาในย่านพระราม 9 จนปัจจุบันตัวอย่างที่เห็นได้ชัดแม้แต่ในย่านที่ผ่านปรากฏการณ์ดังกล่าวมาแล้วอย่างบ่อนไก่ ก็กำลังเจอกับ Gentrification แบบสุดโต่งด้วยโครงการขนาดใหญ่อย่างเดอะวัน ที่มาทดแทนโรงเรียนเตรียมทหารในอดีต

จากตัวอย่างที่กล่าวมา ทำให้เห็นว่า Gentrification ทำให้วิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเป็นย่านเดิมถูกทำลายหรือลบเลือน ขณะที่ผู้อยู่อาศัยเดิมที่มีรายได้ต่ำ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากค่าที่อยู่อาศัยและค่าครองชีพที่สูงขึ้น

รวมไปถึงสวัสดิภาพจากความปลอดภัยที่เจ้าหน้าที่มุ่งคุ้มครองผู้อยู่อาศัยใหม่ที่เป็นชนชั้นสูงและเลือกปฏิบัติต่อผู้อยู่อาศัยเดิม ส่งผลให้เกิดการเบียดขับผู้อยู่อาศัยเดิมออกไปยังพื้นที่ห่างไกลความเจริญ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มองเมืองต่างมุม : Gentrification แปลงพื้นที่เพื่อเปลี่ยนชนชั้น (ย่านผู้ดี)

การประท้วงการ Gentrification ในสกอตแลนด์

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องที่ส่งแต่ผลลบอย่างเดียว Gentrification ได้ทำให้บริเวณนั้นเกิดการพัฒนา เกิดสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เมืองหรือย่านนั้นเกิดการยกระดับในมิติต่าง ๆ เช่น การศึกษา ความสะอาด ความปลอดภัย ฯลฯ

ขณะที่ครอบครัวเกิดใหม่มีตัวเลือกในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังทำให้ท้องถิ่นสามารถสร้างรายได้จากการเก็บภาษีที่สูงขึ้นตามมูลค่าทรัพย์สิน การท่องเที่ยว และธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ สอดคล้องกับผลการวิจัยหลายชึ้น

เช่น รายงานของธนาคารกลางแห่งฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา ศึกษาพบว่า Gentrification แทบไม่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจย้ายออกจากพื้นที่ของผู้อยู่อาศัยเดิม และจากการสุ่มกลุ่มตัวอย่างประชากรราว 170,000 คน พบว่าส่วนใหญ่ที่ย้ายออกไปก็มีคุณภาพชีวิตไม่แตกต่างจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเท็กซัส ได้เสนอ แนวทางสำหรับท้องถิ่นในกระบวนการ Gentrification อย่างยั่งยืน 4 ข้อ ไว้อย่างน่าสนใจว่า

1) จะต้องทำผังเมืองให้เห็นว่า พื้นที่ใดของตนเองที่ถูก Gentrification ไปแล้ว หรือมีแนวโน้มที่จะถูก Gentrification ในอนาคตบ้าง รวมถึงระบุให้ได้ว่าประชากรกลุ่มใดในย่านเหล่านั้นที่มีแนวโน้มจะถูกเบียดขับออกไปหลังการ Gentrification

2) หากจะดำเนินโครงการพัฒนาเศรษฐกิจหรือโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ จะต้องศึกษาควบคู่ไปด้วยว่า โครงการเหล่านั้นจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของประชากรหรือไม่ อย่างไร เพื่อเตรียมแผนการเยียวยาและบรรเทาความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น

มองเมืองต่างมุม : Gentrification แปลงพื้นที่เพื่อเปลี่ยนชนชั้น (ย่านผู้ดี)

3) ต้องคำนึงถึงการวางแผนประกันอนาคตของผู้มีรายได้ต่ำหรือกลุ่มเปราะบางว่าจะสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากย่านที่ถูก Gentrification ได้ รวมถึงประกันด้วยว่า Gentrification จะไม่ทำลายอัตลักษณ์และสิ่งแวดล้อมด้วยหลักแนวทาง Heritage หรือ Green Gentrification และจะยังคงรักษาสำนึกความเป็น ‘บ้าน’ ให้แก่ทั้งผู้อยู่อาศัยเดิม และที่จะเข้ามาใหม่ในอนาคต และ

4) จะต้องดำเนินนโยบายคุ้มครองสิทธิของผู้อยู่อาศัยเดิม ให้สามารถกลับมาอาศัยในย่านที่ตนเคยอยู่เดิมด้วย

บทสรุป ก็คือ ไม่ว่าใครจะเชื่อว่า Gentrification จะมีผลดีมากกว่าผลเสีย หรือ ผลเสียมากกว่าผลดี แต่ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นปรากฎการณ์ที่ต้องเกิดขึ้น อันเป็นผลพวงจากการขยายตัวของเมือง

ดังนั้น แผนพัฒนาเมืองต่าง ๆ ทั้งของรัฐบาลและของท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น แผนพัฒนาท่าเรือคลองเตย ที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงไว้เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ให้เป็นพื้นที่สาธารณะและพื้นที่เชิงพาณิชย์

ซึ่งแน่นอนจะเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ทั้งในแง่การพัฒนาเมืองและการพัฒนาการท่องเที่ยว แต่ก็ต้องใส่ใจอย่างใกล้ชิดและศึกษาให้ถ้วนถี่ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ที่ถึงแม้จะไม่สามารถขจัดผลกระทบไปได้ทั้งหมด แต่ต้องยึดแนวทางของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) วาระ 2030 ที่ไทยร่วมกับนานาชาติได้ลงนามร่วมกันว่า จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง.