บทวิเคราะห์จากผลการวิจัย แบรนด์อสังหาฯมูลค่ามากที่สุดปี 2024
สวัสดีผู้ที่ติดตามและสนใจการพัฒนาแบรนด์ วันนี้ผมจะมาสรุปเนื้อหาการประกาศผลการวิจัยและมอบรางวัลจากงาน BIBF Bangkok International Festival 2024 งานเทศกาลนวัตกรรมและความรู้การสร้างแบรนด์ประจำปี
โดยจะวิเคราะห์ผลการวิจัยการประกาศรางวัลสำหรับกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงสุด 10 อันดับแรกรางวัลในหมวดที่ 1 (Top 10 The Most Brand Future Valuation 2024 for Property Sector)
แบรนด์ที่ได้รับรางวัลแบรนด์ที่มีมูลค่ามากที่สุด ได้แก่
1.AP มูลค่า 11,276.17 ล้านบาท
2.SC Asset มูลค่า 10,060.47 ล้านบาท
3.Sansiri มูลค่า 8,716.52 ล้านบาท
4.Land & House มูลค่า 8,503.99 ล้านบาท
5.Supalai มูลค่า 8,019.38 ล้านบาท
6.Pruksa มูลค่า 5,622.82 ล้านบาท
7.Q House มูลค่า 3,490.92 ล้านบาท
8.LPN มูลค่า 2,481.00 ล้านบาท
9.Property Pefect มูลค่า 1,562.53 ล้านบาท
10. Ananda มูลค่า 512.85 ล้านบาท
รางวัลในหมวดที่ 2 Thailand Brand Superfans 2024 for Property Sector แบรนด์ที่มีคะแนนอัตราความเป็นสาวกแบรนด์ 5 อันดับแรก ได้แก่
1.Land and House คะแนนSPI 35.55%
2.AP คะแนน SPI 35.44%
3.SC Asset คะแนน SPI 32.54%
4.Ananda คะแนน SPI 32.16%
5. Supalai คะแนน SPI 30.85%
ข้อมูลนี้เป็นการวิจัยจากทางบารามีซี่ร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ด้วยเครื่องมือโมเดลการประเมินมูลค่าแบรนด์ที่เรียกว่า BFV Model (Brand Future Valuation Model) รางวัลที่มอบเป็นรางวัลสำหรับคนทำงานด้านแบรนด์ที่ต้องการให้เป็นกำลังใจและเดินหน้าในการสร้างแบรนด์ให้เติบโตยิ่งๆ ขึ้น
บทวิเคราะห์จากในมุมมองผมและทีมงานที่ได้เห็นข้อมูลการวิจัยที่ออกมาพบประเด็นสำคัญอยู่ 3 ประเด็น
1.GDP Impact ผลกระทบจาก GDP ของประเทศที่ตกต่ำ มูลค่าแบรนด์ลดลงทั้งตลาด ซึ่งมีผลต่ออัตราการเติบโตของประเทศ เพราะในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มีอัตราการเติบโตสอดคล้องกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
2.Brand Segmentation Strategy ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่สูง การไม่ปรับดอกเบี้ยเพราะต้องการคุมวินัยทางการเงินของประเทศที่มากเกินไป ทำให้ไม่มีปัจจัยบวกส่งผลให้กำลังซื้อในตลาดกลางและล่างมีอัตราการซื้อที่ลดลง
แม้จะมีความต้องการก็ตามแต่สำหรับแบรนด์ที่มีสินค้าในตลาดบนส่งผลกระทบน้อยกว่า ซึ่งมีผลทำให้แบรนด์ที่โฟกัสบ้านเดี่ยวในตลาดบน และ กลุ่มเป้าหมายเป็นพนักงานที่มีฐานเงินเดือนที่สูง ยังสามารถเติบโตไปได้อยู่และมีการเติบโตแบบสวนกระแส
ตัวอย่างเช่น แบรนด์ AP, SC Asset ที่เติบโตได้ดีในปีนี้ กลยุทธ์ด้าน Segmentation จะมีความสำคัญมากขึ้นที่แบรนด์สามารถตอบสนองความต้องการที่เฉพาะมากยิ่งขึ้นของแต่ละกลุ่มเป้าหมายแบบเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น เพราะจะทำให้อัตราความเป็นสาวกแบรนด์ปรับตัวสูงมากยิ่งขึ้น
3.Focus Key brand touchpoint การสร้างแบรนด์ที่โฟกัสกับพื้นฐานของสินค้า ที่มีการออกแบบที่ดีและสร้างคุณภาพที่ดี
ยังคงมีความสำคัญอยู่มาก ถือเป็น Key touchpoints ที่สำคัญแม้วิธีการสร้างแบรดน์และการตลาดอาจไม่หวือหวาตามกระแส แต่ก็ยังครอบครองความเป็นสาวกแบรนด์ที่แข็งแรง ตัวอย่างเช่น Land and House ที่ในปีนี้มีคะแนนด้านอัตราความเป็นสาวกแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ส่งผลต่อมูลค่าแบรนด์และความแข็งแรงของแบรนด์ที่ยังคงมีความแข็งแรงที่ยอดเยี่ยม
4.Brand Consistency การบริหารแบรนด์ที่มีความต่อเนื่องและการควบคุมแบรนด์ได้อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องนั้น มีผลต่อมูลค่าแบรนด์และความแข็งแกร่งของแบรนด์อย่างมาก จากงานวิจัยที่ออกมานั้นการบริหารแบรนด์ต้องมีการควบคุมให้สม่ำเสมอต่อเนื่อง อาทิ ความคงที่ตอกย้ำคุณภาพของโครงการอย่างต่อเนื่อง,
การออกแบบโครงการที่สามารถสร้างความประทับใจจากการออกแบบตัวบ้านและการออกแบบส่วนกลางยังคงมีความสำคัญมาก, การควบคุมแบรนด์ผ่านการออกแบบ Corporate brand identity ที่พิถีพิถัน ทั้งการออกแบบโลโก้ การควบคุมสีหลักของแบรนด์บนสื่อต่างๆ การใช้ฟอนต์ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ซึ่งจะส่งผลต่อการจดจำ ความผูกพันแบรนด์กับกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี
จากบทวิเคราะห์นี้สามารถนำไปเป็นข้อพิจารณาในทิศทางกลยุทธ์ปีนี้และปีต่อไป เพื่อสร้างแบรนด์ของท่านในอุตสาหกรรมนี้ได้อย่างแข็งแรงต่อไป.