คนเกิดก่อนปี 2535 ต้องเร่งตรวจภูมิฯต่อไวรัสตับอักเสบ ลดเสี่ยงมะเร็งตับ
คนไทยเกิดก่อนปี 2535 เร่งตรวจภูมิฯไวรัสตับอักเสบ คาดราว 3 ล้านติดบี - ซี นำสู่ตับแข็ง - มะเร็งตับ สธ.ร่วม มท.ให้ความรู้ เพิ่มการเข้าถึงตรวจคัดกรอง ยา การรักษา มุ่งเป้ากำจัดโรคได้สำเร็จภายในปี 2573
เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ ระหว่าง นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กับ นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนายธนิศร์ วงศ์ปิยะสถิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมเป็นสักขีพยาน
นายอนุทิน กล่าวว่า สธ.ได้ให้ความสำคัญในการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบให้หมดไปจากประเทศไทย โดยตั้งเป้าดำเนินการให้สำเร็จภายในปี 2573 ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรคที่มีคุณภาพและเท่าเทียม โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการจัดบริการสาธารณะให้กับประชาชนในพื้นที่ ตามนโยบายการกระจายอำนาจทางด้านสุขภาพ ทั้งนี้ ตามการลงนามบันทึกข้อตกลงฯ กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทยจะประสานความร่วมมือทั้งด้านนโยบาย และการปฏิบัติงานในการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบร่วมกันอย่างเป็นระบบ มีการระดมทรัพยากรบุคลากร และงบประมาณท้องถิ่นที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด พร้อมส่งเสริม และสนับสนุนให้มีการสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านสุขภาพ วิธีการป้องกัน การดูแลรักษา และควบคุมโรคไวรัสตับอักเสบของประชาชน รวมทั้งเพิ่มการเข้าถึงการตรวจคัดกรอง ยา และการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี เรื้อรัง 2.2 ล้านคน มีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี 8 แสนคน ซึ่งผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี หรือ ซี เรื้อรัง ส่วนใหญ่จะเกิดภาวะตับอักเสบ ตับแข็ง มะเร็งตับตามมา และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิต กรมควบคุมโรค จะสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ และพัฒนาความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค รวมถึงให้การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอย่างเหมาะสม ลดโอกาสเกิดโรคตับแข็ง และมะเร็งตับ เพื่อลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเข้าสู่การรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งที่ผ่านมามีการทำโครงการนำร่อง 44 พื้นที่ 20 จังหวัดได้ผลดี การลงนามครั้งนี้ก็จะขยายการดำเนินการไปทั่วประเทศเพื่อบรรจุเป้าหมายลดการป่วยจากไวรัสตับอักเสบบีต่ำกว่า 95% จากตับอักเสบซี น้อยกว่า 80% และลดโรคที่เกี่ยวข้องกับไวรัสทั้ง 2 ตัว น้อยกว่า 65%
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย(มท.) พร้อมให้การสนับสนุนในทุกมิติ อาทิ การตรวจคัดกรองเพื่อหาเชื้อ การส่งต่อผู้ป่วยเข้าระบบการรักษา ร่วมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในด้านสาธารณสุข เพื่อร่วมกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบในท้องถิ่น และนำไปสู่การกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบให้หมดไปจากประเทศไทยในปี 2573 ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในที่สุดนายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงมหาดไทย กำลังเร่งดำเนินการแก้ปัญหาความยากจนของคนไทย ซึ่งจากการประชุมหารือกันพบว่าการที่ประชาชนมีเชื้อไวรัสตับอักเสบนั้นจะทำให้เป็นโรคตับแข็ง และพัฒนาเป็นโรคมะเร็งตับ ซึ่งการมีปัญหาสุขภาพเช่นนี้ โดยเฉพาะกับคนที่เป็นเสาหลักของครอบครัว ทำมาหากินไม่ได้ ก็จะมีปัญหาความยากจนตามมา ดังนั้น การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาความยากจนของประชาชนได้
พญ.ชีวนันท์ เลิศพิริยสุวัฒน์ ผู้อำนวยการกองโรคเอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คร. กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการลดผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี คือ ต้องคัดกรองและรักษาให้เร็ว โดยการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเป็นกลุ่มคนที่เกิดก่อนปี พ.ศ.2535 เนื่องจากคนเกิดหลัง พ.ศ.2535 จะได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีในชุดสิทธิประโยชน์ของเด็กอยู่แล้ว ดังนั้น ในกลุ่มที่เกิดก่อนปี 2535 จึงควรไปตรวจภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ และสามารถฉีดวัคซีนป้องกันได้ ทั้งนี้ โรคดังกล่าวยังสามารถติดได้จากการมีเพศสัมพันธ์ อย่างสามี ภรรยา หากคนใดคนหนึ่งมีเชื้อจะถ่ายทอดต่อกัน และยังถ่ายทอดไปลูกได้ แต่ปัจจุบันมีวัคซีนให้เด็กแล้ว ยังไม่มียารักษา แต่มียาช่วยไม่ให้ตับถูกทำลาย ซึ่งทางที่ดีที่สุดต้องคัดกรองให้เร็ว และหากกลุ่มไหนฉีดวัคซีนได้ต้องรีบฉีดวัคซีนป้องกัน
ส่วนไวรัสตับตับอักเสบ ซี มียารักษาหายขาดได้ กิน 12 สัปดาห์ ซึ่งต้องตรวจคัดกรองให้เร็วเช่นกัน ซึ่งอาการของไวรัสตับอักเสบบี และซี จะเหมือนกัน คือ อาการเฉียบพลัน อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด และหากกรณีตับถูกทำลายมากๆ จะมีภาวะตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องมาน ท้องโต
พญ.ชีวนันท์ กล่าวอีกว่า กลุ่มผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ บี ในไทยเฉลี่ยพบ 4-5% โดย 90% หายขาดได้ แต่มี 10% เป็นเรื้อรัง และในระยะยาว 20-30 ปี พบ 10% อาจลุกลามตับแข็ง หรือมะเร็งตับ ซึ่งสวนทางกับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ ซี ในไทยพบเฉลี่ย 0.9% โดยไวรัสตับอักเสบ ซี 90% ไม่หายขาด และ 10% หายได้ อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มไวรัสตับอักเสบ ซี มักพบมากในบางพื้นที่ อย่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบมาก และยังพบในกลุ่มสักยันต์สมัยก่อน หมอตำแย เพราะติดต่อผ่านเลือด การมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะชายรักชาย ดังนั้น ขอเน้นย้ำผู้มีพฤติกรรมเสี่ยง หรือคนเกิดก่อนปี 2535 ขอให้ไปตรวจภูมิคุ้มกัน ซึ่งสามารถไปตรวจได้ในรพ.ทุกแห่ง แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์