หลังสงกรานต์ 2 กลุ่มต้องบล็อกไม่ให้ติดโควิด19 ขณะที่คนไทย50%มีภูมิคุ้มกัน
คนไทย50%มีภูมิคุ้มกันโควิด19 ราว จากเป้า 70-80% หลังสงกรานต์ต้องบล็อก 2 กลุ่ม สูงวัย-มีโรคประจำตัวไม่ให้ติดเชื้อ ลดป่วยหนัก-เสียชีวิต กำชับ 3 เรื่อง หวั่นกลุ่ม "ไม่ตรวจ-ไม่บอก-ไม่กัก" ทำยอดพุ่งระดับคาดการณ์สูงสุดสีแดง
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า การสุ่มตรวจดูว่าใครติดเชื้อมากน้อยแค่ไหนในประเทศไทย ปกติจะตรวจจากภูมิคุ้มกัน แต่มีการฉีดวัคซีนด้วย การตรวจภุมิคุ้มกันจึงไม่สามารถบอกได้ แต่มีเทคนิคในการตรวจสอบ ซึ่งมีการดำเนินการอยู่ แต่ข้อมูลยังไม่ออกมาว่าติดไปกี่เปอร์เซ็นต์ เบื้องต้นน่าจะติดเชื้อในประเทศไทยแล้ว 10% จากประชากร 60-70 ล้านคน หากรวมคนฉีดวัคซีนไปด้วย นับในกลุ่มฉีดเข็ม 3 เป็นหลัก คนไทยอาจจะมีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อและฉีดวัคซีนแล้วราว 50% จากเป้าที่ต้องการ 80% จึงต้องเร่งบูสต์เข็มกระตุ้น โดยเฉพาะการเจาะกลุ่มสูงวัยที่เสี่ยงอาการรุนแรงและเสียชีวิต หน่วยงานต่างๆ ต้องช่วยกัน
นพ.จักรรัฐ กล่าวด้วยว่า ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาเป็นกลุ่มวัยทำงานที่ออกไปมีกิจกรรมรวมตัว แต่โอกาสติดเชื้ออาการรุนแรงหรือ ป่วยหนักไม่มาก เพราะฉีดวัคซีนแล้ว หลายคนบูสต์เข็ม 3-4 ไปแล้ว ที่กังวลคือการไปแพร่ต่อกลุ่มสูงวัย ถ้าป้องกันหรือบล็อกตรงนี้ได้ ก็จะไม่แพร่ต่อ ลดการป่วยหนักและเสียชีวิต ซึ่งตัวเลขป่วยหนักและเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นตอนนี้เป็นผลพวงจากการติดเชื้อจำนวนมากก่อนสงกรานต์ ทำให้แพร่ไปสู่กลุ่มเสี่ยง ทำให้ติดเชื้ออาการรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และบล็อกไม่ทันเพราะกลุ่มเสี่ยงก็ฉีดวัคซีนน้อย
การบล็อกป้องกันไม่ให้วัยทำงานแพร่ไปสู่กลุ่มเสี่ยง คือ 1.สวมหน้ากากอนามัยในที่ทำงานเพื่อบล็อกตัวเอง ตรวจ ATK ก่อนเข้าทำงานช่วยบล็อกกันเอง เมื่อพบผู้สูงวัยต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงอยู่บ้านด้วยกัน 5 วันแรกต้องใส่หน้ากากคุยกัน แยกรับประทานอาหาร นอนคนละห้อง 2.ผู้สูงวัยไปฉีดวัคซีนป้องกัน และ 3.ผู้สูงอายุที่เจอกันเอง ต้องป้องกันตนเองใส่หน้ากากตลอดเวลา เลี่ยงการรับประทานอาหารด้วยกัน เพราะสูงวัยบ้านนี้อาจติดจากลูกหลานแล้วมาติดกับอีกบ้านที่ไม่ได้ติดจากลูกหลาน
"ต้องขอให้ผู้สูงวัยใส่หน้ากากด้วย เพราะส่วนใหญ่อยู่บ้านจะไม่อยากใส่หน้ากาก จึงอาจต้องรณรงค์ผู้สูงวัยใส่หน้ากากขณะเจอหรือใกล้ชิดคนอื่นด้วย แม้จะเป็นการอยู่ในบ้าน ซึ่งตอนนี้จำเป็นมากในช่วง 2 สัปดาห์หลังสงกรานต์นี้ เจอใครขอให้ใส่หน้ากากก่อน และไม่ทานอาหารร่วมกัน" นพ.จักรรัฐกล่าว
นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า การติดเชื้อระลอกโอมิครอนเคยสูงสุดช่วงก่อนสงกรานต์จากการตรวจ RT-PCR ประมาณเกือบ 3 หมื่นรายต่อวัน และลดลงมาเรื่อยๆ ช่วงสงกรานต์ประมาณเกือบ 2 หมื่นราย ส่วนเมื่อวันที่ 18 เม.ย.รายงาน 1.6 หมื่นราย ส่วนการตรวจด้วย ATK ก็แนวโน้มลดลงเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การจะบอกว่าการติดเชื้อช่วงสงกรานต์เพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น ต้องรออย่างน้อย 1 สัปดาห์ที่คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิต และเริ่มตรวจมากขึ้นเพราะไปมีความเสี่ยงและมีความกังวล
สำหรับผู้เสียชีวิตขณะนี้สังเกตว่า ผู้ป่วยโรคไตเสียชีวิตมาก ซึ่งมีข้อสมมติฐานหนึ่งคือ ผู้ที่จะไปล้างไตต้องฉีดวัคซีนก่อน หากไม่ฉีดก็ต้องตรวจ ATK ว่าไม่ติดเชื้อ ซึ่งกระบวนการอาจยุ่งยาก ทำให้การไปรับบริการล้างไตน้อยลง แล้วทำให้อาการตนเองหนักขึ้นได้ อีกเรื่องคือผู้ป่วยไตแม้จะฉีดวัคซีนแล้ว แต่อาจสร้างภูมิคุ้มกันได้น้อย เพราะจากการตรวจสอบกลุ่มผู้เสียชีวิตทั้งที่เป็นโรคไตและไม่เป็นโรคไต พบว่าการฉีดวัคซีนพอๆ กัน คือ ฉีดกว่า 30% และไม่ฉีดกว่า 60 % จึงอาจต้องหาแอนติบอดีมาฉีดแทนหากติดเชื้อหรือก่อนติดเชื้อ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงการป่วยหนัก
"ผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตระลอกนี้แตกต่างจากระลอกที่แล้ว คือเดลตามาถึงปอดอักเสบค่อนข้างหนัก แต่ระลอกนี้ส่วนใหญ่ป่วยจากโรคประจำตัวก่อน และพบการติดเชื้อเริ่มมีปอดอักเสบและเสียชีวิตดลยค่อนข้างเร็ว เพราะไปรักษาโรคอื่น พอรู้ติดเชื้อโรคเก่ายังไม่ทันจะดี ติดเชื้อซ้ำเข้าไปก็อาจทำให้เสียชีวิต เจอเหตุการณ์อย่างนี้มากขึ้น" นพ.จักรรัฐกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้เริ่มมีคนไม่ตรวจหาเชื้อ ตรวจพบเชื้อแล้วไม่บอก และไม่กักตัวยังมีการเดินทางไปทั่ว หรือไม่ตรวจ ไม่บอก ไม่กักจะส่งผล
อย่างไร นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า พฤติกรรมเหล่านี้จะทำให้ยอดติดเชื้อสูงขึ้น จนอาจขยับไปสู่เส้นคาดการณ์สูงสุดที่เป็นระดับเส้นสีแดงก็เป็นไปได้ เพราะไม่ตรวจก็จะไม่ทราบ อย่างไรก็ตาม การไม่ตรวจไม่บอกไม่กัก เราอาจไปห้ามเขาไม่ได้ แต่สิ่งที่ต้องให้ความรู้อย่างมาก คือ ทุกคนต้องระวังและต้องคิดถึงคนอื่นด้วย หากมีความเสี่ยงต้องอย่าไปแพร่ให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ คือ ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
"มีรายงานเข้ามาจำนวนมาก บางคนตรวจไม่รอฟังผลทั้ง ATK หรือ RT-PCR ออกมาใช้ชีวิตก่อน มาร่วมกิจกรรมก่อน ขอไปเที่ยวก่อน พอผลออกแล้วไปกักตัวก็แพร่ไปแล้ว ซึ่งจะไม่เห็นลักษณะคลัสเตอร์ เพราะไปเที่ยวและกลับบ้านไปแล้ว การสอบสวนคลัสเตอร์ขนาดใหญ่อาจเป็นเรื่องยากในระยะนี้ที่มีการแพร่กระจายเป็นวงกว้างไปแล้ว จะเจอก็ตอนไป รพ.ไปรับการรักษา แต่ตอนนี้ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ที่รับรักษาจะเป็นกลุ่ม 608 จังหวัดไหนที่ติดเชื้อ 608 เพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยเฝ้าระวังต่อว่า เขาไม่ได้บล็อกหรือไม่ ก็ต้องวางมาตรการบล็อกส่วนนี้ให้มากขึ้น ไม่ให้วัยทำงานไปแพร่สูงวัย" นพ.จักรรัฐกล่าว